ชื่อกระทู้: แผ่นดินที่หายไป (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #33  
เก่า 23-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


แผ่นดินที่หายไป ........................... โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย



ในสมัยสุโขทัยมีตำนานเรื่องพระร่วง หรือเรื่องราวของขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นนิทานปรัมปรา หรือ Mythology ที่คนอายุ 60 ปีขึ้นไป อาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าปากเปล่าให้ฟัง ต่อมาคนรุ่นอายุ 30-40 ปีก็เริ่มได้เรียนจากบทเรียนหรือจากการอ่านพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่องตำนานพระร่วง แต่คนรุ่นปัจจุบันดูเหมือนจะโชคร้ายไปหน่อยที่นิทานปรัมปราไม่ได้รับความสำคัญให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์เสียแล้ว

ความสำคัญจากตำนานพระร่วงที่น่าจะหยิบยกมาเป็นข้อคิดให้กับวิธีการแก้ปัญหาการเสียดินแดน ณ บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย มาจากความสำคัญตอนหนึ่งของเรื่องราวในตำนานที่เล่ากันว่าพระร่วงเป็นคนฉลาด มีวาจาสิทธิ์ และรู้จักแก้ปัญหาที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กับคนจำนวนมาก

ในยุคนั้นไทยต้องส่งส่วยให้ขอมในสมัยก่อน เป็นส่วยที่แปลกมากคือ “ส่วยน้ำ” ที่ต้องขนจากลพบุรีไปเมืองขอม ด้วยการบรรทุกใส่โอ่งขนเดินเท้าไป เมื่อต้องใส่โอ่งระยะทางไกล กว่าจะไปถึงก็ลำบาก หนักก็หนัก เจอปัญหาโอ่งแตกก็ต้องเสียเวลามาเอาน้ำใหม่

จากปัญหาที่คนในชุมชนต้องเจอ ทำให้นายร่วงผู้ฉลาด คิดประดิษฐ์ไม้ไผ่สาน รูปทรงเหมือนตะกร้าใบใหญ่เท่าโอ่งแล้วเอาชันมายาไม่ให้น้ำรั่ว แต่สมัยโบราณอาจจะไม่รู้จัก ก็เล่าไปว่าเป็นวาจาสิทธิ์ของ พระร่วงที่บอกไม่ให้น้ำรั่ว ไม้ไผ่สานเลยบรรทุกน้ำได้ ก็บรรทุกไปส่งขอมที่นครธม คราวนี้การบรรทุกน้ำก็สะดวกขึ้นเพราะเบากว่าโอ่ง ขอมเห็นก็ทึ่งว่าคิดได้อย่างไร และคิดไปถึงว่าผู้นำไทยอาจจะฉลาดเกินไป ถ้าขืนปล่อยไว้อาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง ควรจะรีบกำจัดเสีย

พระร่วงรู้ข่าวก็หนีภัยไปบวช ขอมก็ส่งพระยาเดโชมาตาม แต่ก็โดนวาจาสิทธิ์ ของพระร่วงที่ออกอุบายให้นั่งรอว่าจะไปตามพระร่วงมาให้ตอนเจอหน้ากันโดยที่ พระยาเดโชไม่รู้ว่าคือพระร่วง จนเกิดเป็นตำนานขอมดำดินกลายเป็นหินอยู่ที่สุโขทัย

การหยิบยกตำนานพระร่วงมาบอกเล่าครั้งนี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือกรณีพิพาทชายแดน แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การแก้ปัญหาที่ดีจากตัวอย่างของภาชนะบรรจุน้ำ ซึ่งไม่ต่างจากเทคนิควิธีการแก้ปัญหาการเสียแผ่นดินจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง

สิ่งที่ชาวบ้านคิดและทำแล้วในหลายพื้นที่ อาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่ระดับนโยบายที่ยกขึ้นเป็นความสำคัญระดับประเทศ แต่พวกเขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการปฏิบัติจริง จนบางเรื่องพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น นำไปสู่การสร้างและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่จะให้ประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ ไม่ต่าง จากกรณีของพระร่วงที่เริ่มต้นจากนำความสามารถที่มีมาใช้แก้ปัญหาเล็กๆ จนพัฒนาไปสู่การกอบกู้อิสรภาพจากขอม และก่อตั้งเป็นอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาได้ในที่สุด

การเสียดินแดนของไทยในทุกวันนี้นั้น ไม่ได้มีเพียงพื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา 4.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น และข้อแตกต่างอีกประเด็นก็คือพื้นที่พิพาทตลอด ชายแดนไทยกัมพูชาความยาว 798 กิโลเมตร แม้จะยังตกลงกันไม่ได้ แต่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ยังคงอยู่ไม่สูญหายไปไหน

แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยความยาว 2,815 กิโลเมตร มีเนื้อที่ถึง 20.54 ล้านไร่ กินพื้นที่ 807 ตำบล 136 อำเภอ 24 จังหวัด มีประชากรอาศัยมากกว่า 13 ล้านคน และพวกเขามีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ต้องพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งและทะเลโดยตรง

พื้นที่ตรงนี้กำลังวิกฤติ ทุกปีประเทศไทยต้องเสียพื้นดินไปเพราะการกัดเซาะชายฝั่ง ทะเลตลอดแนวนี้ โดยมีอัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะชายฝั่งประมาณ 5-6 เมตรต่อปี บางพื้นที่ถูกกัดเซาะไม่ถึงเมตร แต่บางพื้นที่ถูกกัดเซาะเกินค่าเฉลี่ยและมีอัตราการกัดเซาะสูงกว่า 10 เมตรต่อปีก็มี

แต่ถ้าอ้างอิงตัวเลขจากโครงการการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำไว้ในการประชุมโครงการด้านวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อปี 2551 บางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะสูงจนน่ากลัวถึง 25 เมตรต่อปีก็ยังมี ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่มีแนวโน้มความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบัน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจึงถูกบรรจุให้เป็นปัญหาภัยพิบัติระดับชาติ

ตัวอย่างอัตราการกัดเซาะที่ผ่านมา จากพื้นที่ชายฝั่งบริเวณคลองด่าน สมุทรปราการ ที่โด่งดังจากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ถูกกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่าปีละ 10 เมตร เช่นเดียวกับที่บ้านขุนสมุทรจีน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดเดียวกัน ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ เขตบางขุนเทียนทะเลกรุงเทพฯ ก็มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10 เมตรต่อปีเช่นกัน ขณะที่บ้านโคกขาม สมุทรสาคร บางพื้นที่มีการกัดเซาะ บางพื้นที่มีดินงอก แต่อัตราการ งอกของแผ่นดินก็ต่ำลงทุกปีจนตัวเลขแทบจะเป็นศูนย์ ซึ่งชุมชนเหล่านี้เริ่มหาวิธีป้องกันการกัดเซาะ และสร้างแนวป้องกันด้วยตัวเองแล้ว (อ่าน “เสียดินแดน” และ “แนวป้องกัน” กรณีศึกษา: “โคกขาม” “บางขุนเทียน” และ “ขุนสมุทรจีน”)

แต่ที่สรุปปัญหาได้ตรงกันสำหรับภาพรวมของชายฝั่งทะเลก็คือเรากำลังเสียดินแดนทุกนาที และหากไม่มีมาตรการหยุดยั้งหรือหันมาใส่ใจ อัตราการสูญเสียก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สรุปข้อมูลไว้ว่า ในช่วง 100 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2449-2549 พื้นที่ชายฝั่งทะเลสูญหายไปทั้งสิ้น 16,760 ไร่ และในพื้นที่ 5 จังหวัดที่อยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก.ไก่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เป็นจุดที่อยู่ใกล้เขตเมืองและเป็นจุดวิกฤติในด้านนี้

กรมทรัพยากรฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า หากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ อีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องสูญเสียพื้นที่ ชายฝั่งอีกอย่างน้อย 5,290 ไร่ ซึ่งเป็น ตัวเลขที่สูงถึง 1 ใน 3 ของสถิติ 100 ปีที่ผ่านมาทีเดียว

ในฝั่งประชาชนที่อยู่ตามชายฝั่งจึงรอความช่วยเหลือไม่ไหว อะไรที่คิดว่าจะป้องกันแผ่นดินตัวเองได้ ชาวบ้านก็ลงมือทำไปก่อนตามกำลังความคิดและความสามารถที่มี ขณะที่หน่วยงานรัฐแม้จะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาการกัดเซาะคือภัยพิบัติระดับชาติ แต่ในเมื่อยังไม่มีเหตุการณ์กัดเซาะรุนแรง เว้นเสียแต่เป็นเหตุการณ์จากพายุซึ่งก็ผ่านไปหลายปีจนลืมกันไปแล้วนั้น ก็มีเพียงหน่วยงานอย่างกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลำดับ ความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะไว้ ซึ่งเป็นแง่มุมจากหน่วยงานรัฐที่จะว่ากันจริงๆแล้วก็ไม่มีผลต่อความหวังของชาวบ้านเท่าไรนัก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะมีบทบาทต่อการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณเสียมากกว่า และเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆของการตัดสินใจเท่านั้น

การลำดับความสำคัญของปัญหาในส่วนของภาครัฐโดยกรมทรัพยากรฯ ซึ่งได้จากการพิจารณาความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะร่วมกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขึ้นกับองค์ประกอบ 7 ประการ ดังนี้

หนึ่ง-อัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะ หรืออัตราการถดถอยของเส้นขอบชายฝั่งขึ้นไปบนฝั่งเนื่องจากการกัดเซาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยสูง จะสูญเสียพื้นที่มาก กว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยต่ำกว่า ในระยะเวลาที่เท่ากัน

สอง-ระยะทางของการกัดเซาะ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับข้อแรก แต่แตกต่างกันคือขณะที่ข้อแรกพิจารณาการกัดเซาะตามความลึก แต่ข้อนี้พิจารณาการสูญเสียพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง

สาม-การประเมินค่าทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จะประเมินคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่พบอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ส่วนการจัดลำดับความสำคัญจะประเมินผลเสียหายต่อทรัพยากรดังกล่าว หากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข สี่-ผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งจะพิจารณาถึงจำนวนของประชาชนหรือครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน

ห้า-การร้องเรียนหรือร้องขอให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐ ในข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหาในแต่ละพื้นที่

หก-โครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่พบอยู่ในปัจจุบัน การจัดลำดับความสำคัญ ของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะต้องขึ้นอยู่กับสภาพของชายฝั่งในปัจจุบัน และแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต พื้นที่ที่มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนหรือรัฐบาลก็ตาม หากโครงสร้างที่สร้างไว้ทำงานได้ผลดีแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาก่อสร้างอีก ฯลฯ และ

เจ็ด-มูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้น

สุดท้ายนี้ หากจะถามว่าแล้วปัญหาการกัดเซาะมีผลอะไรต่อคนเมืองที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าหรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ตอบแบบไม่ต้องคิดได้ว่า ไม่ใช่แค่คนที่อาศัยในประเทศไทยด้วยกัน แต่ทุกคนและทุกสิ่งที่อยู่บนโลกใบเดียวกันนี้ล้วนโยงใยถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไม่ก็เร็วก็ช้า เหมือนกับที่น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายคนอยู่เกาะแถวทะเลใต้ก็ได้รับผลกระทบ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะถมที่ดินก่อสร้างโรงงานไว้สูงเพื่อหนีน้ำท่วม ต่อท่อปล่อยน้ำเสียออกไปไกลจากโรงงาน ไหลเรื่อยไปสู่ทะเล แล้ววันหนึ่งกุ้งหอยปูปลาที่เขาสั่งมารับประทาน บนโต๊ะในเหลาชั้นดีก็ซ่อนเอาสารพิษที่เขาเป็นต้นเหตุผสมมาด้วย เป็นสิ่งยืนยันว่าทุกคนในโลกอยู่ในวัฏจักรเดียวกันนี้เอง

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงเป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัด คนนอกพื้นที่ที่เห็นอาจจะคิดว่าไกลตัวเพราะยังไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่คุณเห็นอยู่นี้คือจุดเริ่มต้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนของพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 55% ที่จะต้องเจอกับภาวะน้ำท่วมหากน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีกแค่ 50 เซนติเมตร หรือจะท่วมถึง 72% ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง 100 เซนติเมตร การทรุดตัวของแผ่นดินผสมด้วยการกัดเซาะที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องไม่หยุดนี้ คือสัญญาณเตือนว่ากรุงเทพฯ อาจจะตกอยู่ใต้น้ำ 50-100 เซนติเมตร ภายในปี 2568 (2025) ไม่รวมถึงภัยพิบัติจากอุทกภัยฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้

โดยสรุปแล้ว ภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันให้ทุกคนตระหนักร่วมกันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสภาวะ อากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และจงใช้ปัญหาเล็กๆที่เกิดขึ้นนี้ เริ่มต้นวางแผนรับมืออย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม