ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 06-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


ส่องชีวิต 'นาก' เมืองกรุง: ตัวแทนความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองใหญ่

แม้ว่าภาพจำของ กรุงเทพมหานคร ในมุมมองของคนส่วนใหญ่คือป่าคอนกรีตสีเทาที่เต็มไปด้วยตึกระฟ้า รถรา และผู้คนมากมาย ที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กลืนกินพื้นที่สีเขียวของพรรณพืชและสัตว์ป่าจนแทบไม่มีที่เหลือ หากแต่ด้วยความพยายามของครูวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง ในโรงเรียนท้องถิ่น "นาก" สัตว์ป่าหายาก และสรรพสัตว์หลากหลายสายพันธุ์ ยังคงอยู่อาศัยออกหากินตามธรรมชาติ ในพื้นที่ชุ่มน้ำผืนท้ายๆ ของกรุงเทพฯ


ฝูงนากกรุงเทพฯ ออกหาอาหารในบริเวณบ่อปลา ใกล้กับโรงเรียนทวีธาภิเษก 2 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ //ขอบคุณภาพจาก: เอกโชค บูรณอนันต์

ในขณะที่วันนี้ (5 มิถุนายน พ.ศ.2563) ทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลกในธีม "Time for Nature" เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) และรณรงค์ให้ประชาคมโลกร่วมกันดูแลรักษาระบบนิเวศให้ยังคงความสมบูรณ์ และธำรงความหลากหลายสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในทุกมิติ

เนื่องในวาระพิเศษนี้ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมจึงถือโอกาสไปพบกับ อ.ศุภณัฐ กาหยี หรือ ครู ?ท๊อฟฟี่? อาจารย์ชีววิทยา ประจำโรงเรียนทวีธาภิเศก บางขุนเทียน และเจ้าของเพจ Bangkok Otter หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพคนสำคัญของกรุงเทพฯ ผู้ซึ่งเป็นหักหอกในการให้ความรู้ ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์นากใหญ่ขนเรียบ ตลอดจนรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้ยังคงอยู่คู่เมืองหลวงของไทย


ทำไมต้องอนุรักษ์ 'นาก' กรุงเทพฯ

"นากเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะการที่นากจะหาที่อยู่นั้น ไม่ใช่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ได้ แต่ต้องเป็นที่ที่สภาพแวดล้อมรอบข้างเอื้ออำนวยด้วย เช่น คุณภาพน้ำที่ดี และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์" ครูท๊อฟฟี่กล่าว

ครูอธิบายว่า นากบริโภคปลามากถึง 2-3 ตัวต่อวัน การที่เจอนากแปลสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่รอบ ๆ ยังอุดมสมบูรณ์ กล่าวคือ มีปลาอาศัยเพียงพอจนเป็นแหล่งอาหารให้กับนากและครอบครัวของมันได้

ครูเล่าว่า "มากไปกว่านั้น การที่นากอยู่ในโรงเรียนยังมีผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้สอนสามารถนำมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมการเรียนการสอนได้ ให้เด็กมาดู เป็นเสมือนโรงเรียนธรรมชาติ ครูพยายามชี้ให้เด็กเห็นความสำคัญ"

ดังนั้น การพบนากในกรุงเทพฯ อาจไม่ได้สร้างเพียงความน่ารักและจรรโลงใจต่อคนเมืองเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญเพราะเป็นสิ่่งซึ่งสามารถสะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่อีกด้วย


'พฤติกรรม' ของนากที่นี่เป็นอย่างไร

"นากที่นี่เป็นนากใหญ่ขนเรียบอาศัยอยู่บริเวณรอบ ๆ พื้นที่ชุ่มน้ำของโรงเรียน มีโพรงอยู่ที่ใต้อาคารหอประชุมใกล้ป่าชายเลน ออกหาอาหาร และผึ่งพุงบริเวณบ่อปลาและบ่อกุ้งของชาวบ้านข้างโรงเรียน"

สำหรับวิธีการดูนาก ครูท๊อฟฟี่แนะนำเทคนิคการสังเกตนาก 3 อย่าง ได้แก่ กลิ่น เสียง และวงน้ำ โดยจากที่เราสำรวจ จะเห็นได้ว่า นากมักอาศัยอยู่กันเป็นฝูง มากสุดที่พบพร้อมกัน คือ 9 ตัว แต่ครูท๊อฟฟี่บอกว่า บางครั้งก็พบนากที่มักแยกออกมาเล่นน้ำคนเดียว โดยได้ชื่อว่าเจ้า 'เปรี้ยว' หรือบางครั้งก็โผล่มาเป็นคู่ ซึ่งกำลังจะตั้งชื่อให้ว่า เจ้า 'ดื้อ' กับ เจ้า 'ซน'


อุปสรรคและปัญหาในการอนุรักษ์นาคในปัจจุบัน

กรณีทุ่งครุก็เป็นปัญหาในการอนุรักษ์นากที่เห็นได้ชัด โดยพื้นที่นั้นมีนากกว่า 200 ตัว และนากเหล่านี้กินปลาของชาวบ้าน จนเกิดการขาดทุนหลักหมื่น และเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านและนากจนหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยหาวิธีช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

การที่นากบริเวณนี้กินอาหารจากบ่อปลา แน่นอนว่าก็ย่อมสร้างความผลกระทบให้กับชาวบ้านเจ้าของบ่อ จึงเคยเกิดความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำมาสู่การจุดประทัดหรือยิงปืนเพื่อขู่นาก แต่ภายหลังมานี้ก็ไม่ค่อยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก โดยส่วนนึงอาจเป็นผลมาจากการที่ครูท๊อฟฟี่ลองคุยกับชาวบ้านบริเวณนั้น "พอชาวบ้านเข้าใจนากมากขึ้น ก็มีการเอื้อเฟื้อกันค่ะ" ครูระบุ

อย่างไรก็ตาม ฝั่งผู้ดูแลบ่อปลาในบริเวณนี้ เองก็อาจจะไม่ได้รับความเสียหายเท่ากรณีทุ่งครุ โดยผู้ดูแลบ่อบริเวณโรงเรียนเคยกล่าวกับครูท๊อฟฟี่ว่า ว่า "ให้มันกินไปเถอะ กินไม่หมดหรอก"

อย่างไรก็ตาม ครูท๊อฟฟี่ได้เล่าถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและนาก โดยวางแผนไว้ว่า จะช่วยชาวบ้านขายปลาผ่านเพจ Bangkok Otter เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ของชาวบ้านอีกทาง

อีกอุปสรรคหนึ่งของการอนุรักษ์นากที่ครูท๊อฟฟี่ชี้ให้เห็น คือ การหายไปพื้นที่ชุ่มน้ำ การนำพื้นที่ชุ่มน้ำเดิมไปขยายสร้างเมือง เช่น การสร้างหมู่บ้านจัดสรร การสร้างถนน ทำให้นากขนาดที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ทั้งยังได้รับความสนใจในการแก้ไขปัญหาที่ไม่มากพอจากหน่วยงาน


พื้นที่ชุ่มน้ำบ่อปลาและพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบโรงเรียนทวีธาภิเษก 2 เป็นที่มั่นแห่งท้ายๆในเมืองหลวงของฝูงนากกรุงเทพฯ //ขอบคุณภาพจาก: Bangkok Otter


นาก คนเมือง และความหลากหลายทางชีวภาพ

นอกจากนากที่ชี้ให้เห็นความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ระหว่างที่เราสำรวจก็ได้พบนกหลายชนิดบินกันเป็นว่าเล่น เช่น นกอัญชัญคิ้วขาว ที่มักอาศัยตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ในเมืองเจอได้ยาก หรือ นกพริก นกยางเปีย นกเป็ดน้ำ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพที่ยังคงมีอยู่ในเขตเมือง

ครูท๊อฟฟี่ กล่าวว่า เมื่อก่อนพบนกจำนวณมากกกว่านี้ นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองของเราถูกคุกคาม

"ในเมืองนั้นมีความหลากหลายทางชีวภาพน้อย ห้องนอนของเราหากเปรียบเทียบแล้ว มันคือทะเลทราย ที่มีสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวที่รอดได้คือตัวเราเอง"

"การแนะนำแนวทางให้คนเมืองตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องยาก ธรรมชาติคนเมืองอาศัยกันอยู่อย่างเป็นปัจเจก และให้ความสำคัญในชีวิตในแง่มุมที่แตกต่างกันไป การที่จะทำให้คนเมืองตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพอาจทำได้ผ่านการชี้ให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวและกระทบเขาจริง ๆ เช่น ฝุ่น PM2.5 หรือ น้ำคลองข้างบ้านที่ไม่สามารถบริโภคได้เลย จะทำให้เกิดการตั้งคำถามกลับว่าอะไรที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเหล่านั้น ซึ่งท้ายที่สุดจะสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นมาเอง" ครูกล่าว

ครูตั้งข้อสังเกตและชวนให้คิดตามว่า หากบริเวณบ้านของคนเมืองมีนาก อันเนื่องมากจากความสมบูรณ์และความหมากหลายทางสิ่งแวดล้อม เราก็คงไม่ตื่นเต้นกับนากของที่นี่

ครูท๊อฟฟี่ได้พูดถึงการคัดเลือกสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่แข็งแกร่งอันเป็นผลมาจากนากผู้อยู่ในลำดับสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นการบริโภคปลาของนากอาจช่วยคัดเลือกปลาให้เหลือแต่ตัวที่แข็งแกร่งที่สุดอีกด้วย กล่าวคือ ปลาตัวที่อ่อนแอจะถูกนากกินได้ง่าย และแน่นอนว่าปลาที่รอดตายจะเป็นปลาที่แข็งแกร่ง โดยอาจนำไปสู่การวิวัฒนาการของสายพันธุ์ปลาในอนาคต และจะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ก็ถือเป็นอีกประโยชน์หนึ่งของนากต่อระบบนิเวศ


คนรักสิ่งแวดล้อมสามารถมาทำกิจกรรมดูนากได้ที่โรงเรียน //ขอบคุณภาพจาก: เอกโชค บูรณอนันต์


งานที่ยังรออยู่ในอนาคต

"ครูคาดหวังว่าจะมีการวิจัย ที่สำรวจจำนวนประชากรนาก หรือวิจัยตรวจสอบว่านากใช้ชีวิตไปถึงบริเวณไหน เพื่อจะได้เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนากด้วย"

เพราะจำนวนนากที่ครูท๊อฟฟี่ทราบในตอนนี้ ไม่ได้เป็นตัวเลขทางการ หากเป็นเพียงตัวเลขที่อาศัยการวัดด้วยสายตาเท่านั้น ทั้งยังไม่แน่ใจถึงผลกระทบที่แน่ชัดว่าอยู่ในระดับใด

นอกจากนี้ครูเสนอถึงเรื่องมาตรการในการอนุรักษ์ผ่านระบบการศึกษา ครูบอกว่า "รัฐต้องเห็นความสำคัญ ต้องเตรียมอาวุธให้เด็กรุ่นใหม่เพื่อไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อให้ได้"

การปรากฏตัวของนากสะท้อนความสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยนากถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุมครองสัตว์ป่า นอกจากนี้ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ยังจัดอันดับให้ นากใหญ่ขนเรียบ เป็นชนิดพันธุ์ที่กำลังถูกคุกคาม (Vulnerable)

อนึ่ง ผู้สนใจสามารถชมความน่ารักของนากเหล่านี้ได้ ณ สถานที่จริงที่ โรงเรียนทวีธาภิเศก บางขุนเทียน โดยหากต้องการไปเยี่ยมชม ให้ติดต่อผ่านเพจ ?Bangkok Otter?


https://greennews.agency/?p=21160

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม