ชื่อกระทู้: โลกร้อน (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #65  
เก่า 12-01-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


ทางเลือกใหม่ของคนไทย ฉลากคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน



จากปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจและให้ความตระหนักถึงภัยพิบัติของโลกร้อนและวิธีการลดโลกร้อน ซึ่งการลดความรุนแรงของปัญหาโลกร้อนที่สามารถทำได้ คือ การร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมทั้ง ประชาชนในฐานะผู้บริโภค

การดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในส่วนผู้บริโภคนั้นสามารถเชื่อมโยงกับส่วนผู้ผลิต คือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ห่วงใยรักษาสิ่งแวดล้อม หรือมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และการที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย จำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อ

ดังนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จึงร่วมมือกันจัดทำ “โครงการการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักให้ฉลากคาร์บอนแสดงว่า กระบวนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ นอกจากนี้ ฉลากคาร์บอนยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าพัฒนากระบวนการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำระบบฉลากคาร์บอนมาใช้ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีการออกแบบระบบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลนั้นในการเลือกซื้อและพัฒนาสินค้าตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง

ฉลากคาร์บอน คืออะไร ? : ฉลากคาร์บอน คือฉลากที่แสดงว่าการผลิตสินค้าหรือการให้บริการนั้นมีการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจก หรือการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกในระดับต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า

ฉลากคาร์บอนในประเทศไทย : อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ถ้าจะเอ่ยคำว่า “ฉลากคาร์บอน หรือ Carbon Reduction Label” ซึ่งเป็นฉลากรับรองมาตรฐาน ที่แสดงว่าการผลิตสินค้า หรือการให้บริการนั้น มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ที่ดำเนินการโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีส่วนในการช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนในประเทศไทย ใช้แนวคิดการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life cycle Assessment; LCA) เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนต่อไป

ฉลากคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “ฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์” ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนกระทั่งการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินงานจะใช้เวลาค่อนข้างมากเนื่องจากมีกระบวนการประเมินซับซ้อน และ “ฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณากระบวนการผลิต” ซึ่งฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะใช้เวลาในการดำเนินงานน้อยกว่าแบบแรก

ในช่วงแรกของการดำเนินงานจะมุ่งเน้นการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณากระบวนการผลิต เพื่อให้การดำเนินการขึ้นทะเบียนฉลากกระทำได้รวดเร็ว เพื่อรองรับกระแสของผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ จะถูกดำเนินการในลำดับถัดไป การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ พิจารณาจากการใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิงฟอสซิล วัตถุดิบ และการจัดการของเสีย โดยแสดงผลในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent)

ผลการประเมินจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์กลางที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กำหนด กล่าวคือสินค้าและบริการจะได้รับการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน ต่อไปนี้

1. กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึงปีล่าสุดที่ครบ 12 เดือน

หรือ 2. กระบวนการผลิตมีระบบผลิตไฟฟ้าจากวัสดุชีวมวลหรือจากของเสียเพื่อใช้ภายในโรงงาน โดยอาจซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตภายนอกได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ จะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต (ยกเว้นเพื่อการเริ่มต้นเดินระบบผลิตไฟฟ้าและเพื่อการเคลื่อนย้ายสิ่งของภายในพื้นที่สถานประกอบการเท่านั้น) และไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากของเสีย (น้ำเสีย หรือ กากของเสีย/ขยะมูลฝอย)

หรือ 3. กรณีที่กระบวนการผลิตมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในภาคอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ คณะทำงานส่งเสริมการใช้ฉลากคาร์บอนจะพิจารณาเป็นกรณีไป หากผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนด สินค้าหรือบริการดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของภาครัฐเป็นผู้รับรองการขึ้นทะเบียนฉลากดังกล่าว โดยในช่วงต้นของโครงการฯ ฉลากคาร์บอนมีเพียงระดับเดียว เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเรื่องการมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และต้องการชักชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ

ทั้งนี้ ฉลากคาร์บอนจะแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าหรือบริการที่ได้รับการติดฉลากคาร์บอนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศน้อย หรืออีกนัยหนึ่ง คือสินค้าหรือบริการนั้นมีความเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ (Climate friendly) และสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนโดยใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน หลังจากที่ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (เลขานุการโครงการฯ) ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนจากผู้ประกอบการ



ข้อดีสำหรับสินค้าที่ได้รับฉลากคาร์บอน : ก่อให้เกิดประโยชน์ใน 3 ภาคส่วนใหญ่ คือ

1. ภาคส่วนของผู้บริโภค จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศมากขึ้นด้วยเช่นกัน

2. ภาคธุรกิจ จะได้รับประโยชน์ในมิติที่ว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยลดการใช้ฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งยังเป็นการแสดงภาพลักษณ์และเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม

3. ภาคสังคม หากผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจ และสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่ได้รับฉลากคาร์บอน ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตตระหนักและพิจารณาปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการเข้าร่วมกับโครงการฉลากคาร์บอน ซึ่งจะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพของประเทศลดต่ำลง

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติฉลากคาร์บอน : ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติฉลากคาร์บอนมีทั้งสิ้น 151 ผลิตภัณฑ์ จาก 37 บริษัท และยังมีหน่วยงานและบริษัทต่างๆ อีกหลายหน่วยงานที่ยื่นเสนอขอรับฉลากคาร์บอน และทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก็กำลังอยู่ในช่วงการประเมิน

แนวโน้มอนาคตตลาดฉลากคาร์บอนในประเทศไทย นับเป็นความโชคดีที่มีบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการนำเสนอโครงการฉลากคาร์บอนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของประเทศไทยอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น เราจึงมีตัวเลขที่ชัดเจนในกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อไปในอนาคตเราจะนำเสนอโครงการฉลากคาร์บอนออกสู่ต่างประเทศเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับต่างประเทศด้วย




จาก ...................... ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ วันที่ 9 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม