ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 08-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


ไฟป่าออสเตรเลีย : โลกขยับเข้าใกล้ "การสูญพันธุ์ระดับมหึมา ครั้งที่ 6"


Image copyrightMATTHEW ABBOTT / NEW YORK TIMES / REDUX / EYEVINE

เปลวเพลิงที่ไหม้ลุกลามผืนป่ากว้างใหญ่ของออสเตรเลียมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งเดือน ได้ทำลายระบบนิเวศและคร่าชีวิตสัตว์ต่าง ๆ ไปแล้วเกือบ 500 ล้านตัว ไม่ต้องสงสัยว่าความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ที่ถูกคุกคามจากน้ำมือมนุษย์อยู่แล้ว จะต้องมาสูญหายไปเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าตกใจยิ่งกว่าเดิม

นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่า เหตุไฟป่ารุนแรงในออสเตรเลียครั้งนี้ อาจเป็นสัญญาณเตือนล่าสุดว่าสิ่งมีชีวิตทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะการสูญพันธุ์ระดับมหึมา ครั้งที่ 6 (the sixth mass extinction) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นับตั้งแต่ยุคบรรพกาลที่สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ ๆ เริ่มเกิดขึ้น และขยายจำนวนเพิ่มอย่างรวดเร็วในยุคแคมเบรียนเมื่อ 540 ล้านปีก่อนเป็นต้นมา โลกได้พบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตมาแล้วถึง 5 ครั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในทุก 100 ล้านปี จากเหตุความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความเปลี่ยนแปลงฉับพลันทางธรณีวิทยาเช่นภูเขาไฟระเบิดรุนแรง หรือเหตุอุกกาบาตยักษ์จากห้วงอวกาศพุ่งชนโลกซึ่งทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป


Image copyright GETTY IMAGES

ดร. เฟรเดริก ซัลเทร์ และ ดร. คอรีย์ เจ.เอ. แบรดชอว์ นักนิเวศวิทยาจากศูนย์เพื่อความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกของออสเตรเลีย (CABAH) อธิบายถึงเกณฑ์พื้นฐานที่ใช้ตัดสินว่าโลกปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แล้วหรือไม่ เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ 5 ครั้งที่ผ่านมา โดยชี้ว่าจะต้องเกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตราว 3 ใน 4 ของชนิดพันธุ์หรือสปีชีส์ที่มีอยู่ทั้งหมด "ในระยะเวลาอันสั้น" ซึ่งในทางธรณีกาล (geologic time) หมายถึงไม่เกิน 2.8 ล้านปี

นักนิเวศวิทยาทั้งสองระบุในบทความของพวกเขาที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Conversation ว่าตามปกติแล้วอัตราพื้นหลัง (background rate) หรืออัตราปกติของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามวงจรธรรมชาติ จะอยู่ที่ 1-2 ชนิดพันธุ์ต่อระยะเวลา 1 ล้านปี แต่ในยุคปัจจุบันที่กิจกรรมของมนุษย์มีส่วนเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์มากขึ้น อัตราการสูญพันธุ์ที่ประมาณการได้ล่าสุด กลับพุ่งสูงไปกว่าอัตราปกติแล้วกว่า 100 - 10,000 เท่า

ตัวเลขดังกล่าวชี้ชัดว่า โลกได้ก้าวย่างเข้าสู่ยุคการสูญพันธุ์ระดับมหึมาครั้งที่ 6 แล้วอย่างแน่นอน ซึ่งกรณีของไฟป่าออสเตรเลียนั้น นับว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งของการสูญพันธุ์ระดับมหึมาที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วย


Image copyright EPA

ออสเตรเลียเป็น 1 ใน 17 ประเทศที่จัดว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสูงอย่างยิ่งยวด (megadiverse) แต่ถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่แถบที่เกิดไฟป่าครั้งล่าสุด ออสเตรเลียยังมีประวัติการสูญพันธุ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าทวีปใด ๆ โดยสัตว์มีกระดูกสันหลังกว่า 100 ชนิดพันธุ์ต้องหมดสิ้นไป หลังจากการมาถึงของมนุษย์เมื่อราว 50,000 ปีก่อน และปัจจุบันมีสัตว์ราว 300 ชนิด และพืชอีกกว่า 1,000 ชนิด ที่เสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์

ศาสตราจารย์ ไมค์ ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สของออสเตรเลียชี้ว่า เหตุไฟป่ารุนแรงในอดีตซึ่งคล้ายกับที่เกิดขึ้นล่าสุด ก็เคยเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสรรพชีวิตบนโลกมาแล้ว

ศ. ลีบอกว่าในยุคครีเทเชียสเมื่อ 66 ล้านปีก่อน แรงปะทะจากอุกกาบาตยักษ์ที่พุ่งชนโลกได้ทำให้เกิดเชื้อไฟกระจัดกระจายไปทั่วชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์พบเขม่าที่เกิดจากการเผาไหม้ปริมาณมหาศาลในฟอสซิลจากยุคนี้ อันเป็นหลักฐานชี้ว่าเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ซึ่งลุกลามครอบคลุมพื้นที่ป่าส่วนมากของโลก

สิ่งมีชีวิตถึง 75% รวมทั้งไดโนเสาร์เกือบทุกชนิดพันธุ์ ถูกลบหายไปจากหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ธรรมชาติ โดยในตอนแรกพวกมันถูกสังหารด้วยไฟป่า ก่อนที่สภาพอากาศแบบฤดูหนาวนิวเคลียร์จะมาซ้ำเติมให้ล้มตายกันเป็นจำนวนมหาศาลในระยะยาว


Image copyright REUTERS

ในกรณีของไฟป่าออสเตรเลีย ศ. ลี ชี้ว่าสัตว์จำพวกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งเคลื่อนที่อย่างไม่คล่องตัวมากนัก เช่นแมลงและหอยทากนานาชนิด ซึ่งจัดว่าเป็นสัตว์ประเภทที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง แต่มีแนวโน้มที่จะต้องสูญพันธุ์ไปก่อนเพื่อน

"สัตว์บกที่เอาตัวรอดได้จากไฟป่าครั้งนี้จะต้องมีความสามารถพิเศษ เช่นอาจจะลงไปอาศัยในน้ำได้ชั่วคราวแบบสัตว์เลื้อยคลานบางประเภท หรือสามารถกลบฝังตัวเองไว้ใต้ดิน หรือซ่อนตัวหนีไฟในซอกหลืบที่ลึกและแคบแบบหนูตัวเล็ก ๆ ได้" ศ. ลีกล่าว

"อันที่จริงแล้ว สัตว์บกที่ตัวใหญ่กว่าแมวบ้านทั้งหมด แทบจะไม่มีโอกาสรอดชีวิตจากไฟป่าครั้งนี้ไปได้ แม้แต่นกที่สามารถจะบินหนีไฟไปง่าย ๆ ก็อาจจะไม่รอดในระยะยาว เพราะไม่เหลือต้นไม้ให้จับคอน สร้างรัง และหาอาหารอีกต่อไป สัตว์ที่รอดจากไฟป่าต้องอาศัยในที่โล่งและตกเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าได้ง่ายขึ้น"

"การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่เกิดจากไฟป่าถือเป็นการคัดเลือกโดยธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโครงสร้างชีวมณฑลโลก เช่นเดียวกับที่การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ได้เปิดทางให้เกิดยุคสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมครองโลกมาแล้ว"


https://www.bbc.com/thai/international-51022104
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม