ชื่อกระทู้: แผ่นดินที่หายไป (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #29  
เก่า 30-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


วิกฤติพัทยาหวั่น 5 ปีชายหาดหาย เร่งแก้เติมทราย 200,000 ตัน



ชายหาด “พัทยา” มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวติดอันดับหนึ่งในเอเชียถึงขั้นเป็นความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียยกย่องให้พัทยาเป็นสถานที่ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือน มุมหนึ่งของพัทยานอกจากโรงแรมรีสอร์ท สถานบันเทิงพร้อมสรรพ พัทยายังมีหาดทรายกินอาณาบริเวณกว้างขวาง เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่นิยมมาอาบแดดเล่นน้ำทะเล

ย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน “พัทยา” คือหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก เต็มไปด้วยป่ารกทึบ แต่มีชายหาดสวยและน้ำทะเลสวย ว่ากันว่าขนาดยืนในทะเลน้ำลึกระดับหน้าอกยังสามารถมองเห็นเท้าตัวเอง พัทยาเริ่มเป็นที่รู้จักจากคนภายนอกเมื่อปี พ.ศ. 2502 เมื่อทหารอเมริกันจากฐานทัพนครราชสีมาเดินทางมาพักผ่อน ต่อมาได้พัฒนาและเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศของทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา อ.สัตหีบ สมัยสงครามอินโดจีน จากนั้นพัทยาก็เจริญขึ้นตามลำดับ จนรัฐบาลต้องตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2551 ขึ้น

การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของเมืองไม่หยุดยั้ง ทำให้พัทยาต้องเผชิญปัญหานานัปการ ทั้งการวางผังเมืองที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาขยะ ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ น้ำเสีย และปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะอย่างหนักทำให้หาดแคบลง โดยเฉพาะเวลาน้ำทะเลขึ้นสูงสุด พื้นที่หน้าหาดเกือบทั้งหมดจมน้ำ

ก่อนหน้าที่พัทยาจะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มีพื้นที่ขนาดความกว้างถึง 96,128.4 ตารางเมตร หรือประมาณ 60 ไร่ หน้าหาดอยู่ที่ 35.6 เมตร แต่ปัจจุบันด้วยระบบธรรมชาติการกัดเซาะของคลื่นทะเล ส่งผลให้ปี พ.ศ. 2545– 2553 เหลือบริเวณความกว้างของชายหาดเพียง 4–5 เมตร เท่านั้น เฉลี่ยเกิดการกัดเซาะของชายหาด 1.80 เมตรต่อปี

ทั้งนี้จากการสำรวจของหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการเปลี่ยนแปลงของภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2495–2545 หาดพัทยามีการกัดเซาะอย่างรุนแรงในบริเวณพื้นที่พัทยาเหนือจนถึงพัทยาใต้ ระยะทางทั้งสิ้น 2.7 กิโลเมตร พ.ศ.2510 หน้าหาดมีการกัดเซาะเหลือเพียง 55,818.3 ตารางเมตร หรือ ประมาณ 34 ไร่ ความกว้างของหน้าหาดเพียง 20.6 เมตร ปี พ.ศ. 2517 หน้าหาดถูกกัดเซาะเหลือเพียง 49,191.4 ตารางเมตร หรือประมาณ 31 ไร่ ความกว้างของหน้าหาดลดลง เหลือเพียง 18.5 เมตร โดยรวมแล้วอัตราการกัดเซาะชายหาดพัทยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495–2517 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.78 เมตรต่อปี ขณะที่พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยารุนแรงและวิกฤติสุดในราวปี พ.ศ. 2535-2536 ขณะนั้นพบว่า ชายหาดแทบไม่เหลือโดยเฉพาะช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง (พ.ย.-ม.ค.)

สืบเนื่องจากสาเหตุของปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการจัดโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมชายหาดพัทยา โดยความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ได้ศึกษาการวางแผนแม่บทออกแบบเพื่อเสริมชายหาดพัทยาครอบคลุมพื้นที่ 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1. บริเวณชายหาดพัทยาเหนือตั้งแต่โรงแรมดุสิตรีสอร์ท ถึงชายหาดพัทยากลางระยะทาง 1, 300 เมตร
ช่วงที่ 2 เริ่มจากชายหาดพัทยากลางถึงชายหาดพัทยาใต้ ระยะทาง 1,400 เมตร และ
ช่วงที่ 3 ได้แก่ ตั้งแต่ชายหาดพัทยาใต้ถึงบริเวณแหลมบาลีฮายมีระยะทาง 1,780 เมตร รวมแนวชายฝั่งพื้นที่ศึกษาทั้งสิ้น 4.48 กิโลเมตร

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุการกัดเซาะเกิดจากตะกอนทรายที่คอยเติมให้กับอ่าวพัทยาจากตอนบนของลำน้ำและน้ำท่วมไหลหลากจากพื้นที่ชายฝั่งลงสู่อ่าวพัทยาลดน้อยลง การนำพาตะกอนของคลื่นมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการใช้ประโยชน์หรือกิจกรรมชายหาดที่เปลี่ยนไปในอ่าวพื้นที่พัทยา ล้วนส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายหาดพัทยาอย่างรุนแรง รวมทั้ง ทางระบายน้ำระบายไม่สะดวก คลื่นลมแรงขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการนำทรายมาเติมชายหาด

“กระบวนการดังกล่าวแก้ไขด้วยระบบธรรมชาติแบบพ่นทราย โดยศึกษาทิศทางของลม ว่าช่วงไหนลมอยู่ทางทิศใด เพราะคลื่นจะพัดเอาทรายไปไว้ในบริเวณชายหาดด้วย อย่างเช่น ฤดูหนาวเราก็นำมาปล่อยตรงหาดพัทยาเหนือ หน้าร้อนก็นำมาปล่อยที่หาดพัทยาใต้ ในขณะที่ระยะหาดประมาณ 30 เมตร จะต้องนำทรายมาเติมประมาณ 200,000 คิว หาดทรายจะอยู่ได้ประมาณ 15 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ในออพชั่นแรก 30 เมตร ออพชั่นสองที่วางแผนว่าจะทำ 40 เมตร ส่วนทางภูมิสถาปัตย์จะมีการออกแบบทางเดิน เต็นท์ผ้าใบ ถือได้ว่าเป็นการจำลองธรรมชาติ” หัวหน้าศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่อธิบายถึงลักษณะการเติมทราย

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะนำทรายมาเติมได้มีการทำประชาพิจารณ์ ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าผลการทำอีไอเอและประชาพิจารณ์ผ่านก็จะดำเนินการ ซึ่งระหว่างการเติมทรายนักท่องเที่ยวยังสามารถเที่ยวได้

“หากไม่มีการเติมทรายเชื่อว่าภายในระยะเวลาอีก 5 ปี พัทยาจะไม่มีชายหาดเหลือ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงรอผลการทำประชาพิจารณ์จากกลุ่มเป้าหมายที่ได้สำรวจ” นักวิชการจากจุฬาฯระบุ

อนุ นุชผ่อง ผู้ประกอบการร้านค้าร่มเตียงบริเวณชายหาดพัทยากล่าวว่า ได้ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่มาประมาณ 40 กว่าปีแล้ว ย้อนไปเมื่ออดีตชายหาดมีขนาดกว้างและสวยงาม หาดทรายมีสีขาว ขยะมีปริมาณน้อย นักท่องเที่ยวเยอะรายได้เฉลี่ยต่อวันหลายพันบาท จนมาถึงปัจจุบันความกว้างของหน้าหาดแทบจะไม่มีเลย

“ถ้าผู้ที่มีความรู้ด้านการเติมชายหาดทำแล้วสามารถเห็นผลได้จริงก็ทำเลย เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรจะเหลือแล้ว จากที่เคยมีรายได้วันละพันบาท ปัจจุบันแทบจะไม่ถึง 400 บาทต่อวันด้วยซ้ำ และหวังว่าถ้าเติมแล้วชายหาดพัทยาจะกลับมาสวยเหมือนเดิม ที่สำคัญรายได้ก็อาจจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกด้วย” ผู้คุ้นเคยต่อหาดพัทยาบอกเล่าถึงผลกระทบในวันที่ชายหาดเหลือน้อย

ดร.เจิดจินดา โชติยะปุตตะ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ให้แนวคิดจากเรื่องนี้ว่า ในส่วนของชายหาดพัทยาถือได้ว่าได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของคลื่นทะเล การกัดเซาะชายหาดมีหลายสาเหตุทั้งจากธรรมชาติด้วย อาทิ ลม พายุ คลื่น รวมไปถึงฝีมือมนุษย์ เช่น การขุดลอก การทำนากุ้ง การตัดป่าชายเลน ซึ่งป่าชายเลนถือเป็นตัวหลักในการบังคลื่น ลม ถ้ามีต้นไม้จะสามารถชะลอความเร็วของลมได้ ไม่ทำให้คลื่นลมแรงและลดการกัดเซาะได้ ด้านการสร้างเขื่อนเวลาฝนตกจะมีการชะล้างตะกอนจากหุบเขาลงมายังแม่น้ำ ในขณะที่มีการสร้างเขื่อน ตะกอนก็ไหลลงมายังทะเลหรือแม่น้ำมีจำนวนน้อย รวมไปถึงการดูดทราย การสร้างถนนใกล้ชายหาด

วันนี้หากไม่มีการตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อการกัดเซาะชายฝั่ง อนาคต “หาดทราย” อาจไม่อยู่คู่กับท้องทะเลไทย.



จาก ................... เดลินิวส์ วันที่ 30 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม