ดูแบบคำตอบเดียว
  #9  
เก่า 07-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


'หลุมยุบ' ภัยใต้ดินใกล้ตัว คาดการณ์ได้หากรู้จักสังเกต

จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย “หลุมยุบ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ธรณีสูบ” ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคใต้และภาคอีสาน ล่าสุดเกิดที่ จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน เนื่องจากเกรงว่าจะถูกธรณีสูบลงไปใต้ดินสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางผลกระทบรุนแรงจากภัยพิบัตินี้ หากเรารู้จักศึกษาและสังเกตก็จะสามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยได้

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความรู้เกี่ยวกับหลุมยุบและแผ่นดินยุบในประเทศไทยว่า สามารถจำแนกได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. หลุมยุบ (Sinkholes) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รองรับด้วยชั้นหินปูน ซึ่งกระจายตัวอยู่ใน พื้นที่ต่างๆของประเทศไทย แต่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เช่น สตูล ตรัง กระบี่ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดหลุมยุบในภาคใต้เนื่องจากภาคใต้ตอนล่างส่วนนั้นมีชั้นหินปูนรองรับอยู่ใต้พื้นดินมาก มีปริมาณฝนตกโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่นมาก และเป็นพื้นที่ต่ำ อิทธิพลของน้ำใต้ดินสูง นอกจากนั้นเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงหรือค่อนข้างรุนแรงที่เกิดขึ้นไกลออกไปใน ทะเลอันดามัน เกาะสุมาตราและพื้นที่ข้างเคียงมักส่งผลกระทบต่อการเกิดหลุมยุบโดยตรงและโดยอ้อม

กลุ่มที่ 2 หลุมยุบ (Sinkholes) ที่เกิดในที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด และเกือบทุกพื้นที่ในภูมิภาคนี้ที่มีชั้นเกลือหินหนามากรองรับอยู่ใต้พื้นดิน ในกรณีนี้หลุมยุบเกิดจากชั้นเกลือหินใต้ดินถูกน้ำบาดาลละลายออกไป โดยเฉพาะบริเวณส่วนยอดโดมเกลือที่โผล่สูงถึงชั้นน้ำบาดาล หนองน้ำขนาดต่างๆ เช่น หนองหาน จ.สกลนคร หนองหาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี แอ่งน้ำ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ล้วนเป็นหลุมยุบที่เกิดโดยธรรมชาติ การที่มนุษย์ละลายชั้นเกลือและสูบน้ำเกลือขึ้นมาใช้ประโยชน์มากเกินสมดุลธรรมชาติโดยขาดการวางแผนตามหลักวิชาการ เป็นตัวเร่งให้เกิดหลุมยุบในพื้นที่ส่วนกลางของที่ราบสูงที่สำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ความรุนแรงของการเกิดหลุมยุบในแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคของโลกอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัย เช่น ในประเทศกัวเตมาลา โดยเฉพาะบริเวณเมืองหลวงกัวเตมาลาซิตี้ และประเทศเอลซัลวาดอร์ ซึ่งมีชั้นหินปูนที่มีโพรงถ้ำยุคครีเทเชียสหนากว่า 2,000 เมตร วางตัวอยู่ข้างใต้ มีภูเขาไฟมีพลังเป็นแนวสันโค้งและแนวตะเข็บระหว่างแผ่นธรณีแปซิฟิกกับแผ่นคาริเบียนอยู่ทิศตะวันตกโดยลำดับ ดินแดนแถบนั้นของอเมริกากลางรวมถึงทางใต้ของประเทศเม็กซิโกและรัฐฟลอริดาซึ่งเป็นมลรัฐที่ เกิดหลุมยุบมากที่สุด ในประเทศสหรัฐอเมริกาจึงเป็นดินแดนเสี่ยงภัยหลุมยุบลำดับต้นๆของโลก ส่วนระดับความรุนแรงของพิบัติภัยหลุมยุบในประเทศไทยถือว่าอยู่ในขอบเขตจำกัด พื้นที่เสี่ยงมีน้อยกว่าต่างประเทศ ที่ประเทศไทยอยู่นอกโซนแผ่นดินไหวรุนแรงสำคัญภาพรวม

การยุบลงของแผ่นดินถือเป็นการปรับสมดุลตามธรรมชาติของพื้นที่ผ่านกระบวนการทางธรณีวิทยา มีเหตุปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อระดับความเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ข้างต้นในพื้นที่ คือ สภาพธรณีวิทยา ลักษณะธรณีสัณฐาน ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ระบบน้ำธรรมชาติ และปัจจัยรองลงมาคือกิจกรรมของมนุษย์ ด้วยเหตุที่น้ำใต้ดินที่เป็นกรดอ่อนๆสามารถละลายหินปูน หินปูนโดโลไมต์และหินอ่อนได้ ส่วนน้ำธรรมชาติสามารถละลายชั้นเกลือหินและแร่ยิปซัมได้รวดเร็ว รอยแยก รอยแตกและช่องว่างระหว่างผลึกแร่และเม็ดตะกอนในเนื้อหิน ทำหน้าที่เป็นช่องเปิดให้น้ำไหลหรือซึมผ่าน เกิดเป็นโพรงถ้ำใต้ดิน เกิดหินงอก หินย้อยบริเวณพื้นถ้ำ การเปลี่ยนระดับน้ำใต้ดินอย่างรวดเร็วอาจทำให้ความสมดุลถ้ำเปลี่ยนไป อาจเกิดมีการพังทลายของถ้ำและกลายเป็นหลุมยุบได้

ลักษณะภูมิประเทศและลักษณะภูมิลักษณ์เฉพาะตัวของหินปูน ที่เกิดจากการละลายของน้ำใต้ดินมีข้อสังเกต ได้หลายประการ ซึ่งที่เด่นชัดคือ พื้นผิวดินขรุขระและมักมียอดเขาแหลมจำนวนมากมาย เช่น เทือกเขาสามร้อยยอด เทือกเขาหินปูนในเขตจังหวัดกาญจนบุรี กระบี่ พังงา ตรัง สตูล บางครั้งอาจเห็นร่องรอยของหลุมยุบในอดีต เช่น ทะเลบัน ในจังหวัดสตูล เป็นต้น

สำหรับกรณีเหตุแผ่นดินไหวเกี่ยวข้องกับหลุมยุบได้อย่างไรนั้น ดร.ปริญญา ให้เหตุผลว่า ในเชิงกลศาสตร์ แรงสั่นสะเทือนจากคลื่นแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากพอจะเกิดผลโดยตรงต่อความเสถียรของโครงสร้างของโพรงถ้ำใต้ดิน และผลทางอ้อมคือระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ที่ได้รับ ผลกระทบอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลัน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดความรุนแรงและระยะห่างจากจุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว โดยปกติ พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงคือ บริเวณใกล้รอยตะเข็บระหว่างแผ่นธรณี พื้นที่ตลอดแนวสันโค้งภูเขาไฟ และรอยเลื่อนมีพลังที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับรอยตะเข็บข้างต้น บ่อยครั้งหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงมักสังเกตเห็นการเกิดหลุมยุบหรือแผ่นดินยุบตัวจำนวนมากได้ในวงกว้าง

ผลเสียของการเกิดหลุมยุบ ถ้าเกิดตามที่อยู่อาศัยอาจทำให้ต้องเสียทรัพย์เนื่องจากบ้านอาจมีรอยร้าวหรือยุบลงไปทำให้ต้องสร้างบ้านใหม่และหากเกิดในพื้นที่ที่ต้องใช้ประโยชน์ เช่น การเพาะปลูกทำให้สูญเสียพื้นที่ไป อย่างไรก็ตาม การเกิดหลุมยุบเป็นภัยที่เราสามารถคาดการณ์หรือศึกษาล่วงหน้าได้ ในการก่อสร้างโครงสร้าง ขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อหลุมยุบควรมีการสำรวจธรณีฟิสิกส์ใต้ พิภพเพื่อศึกษาธรรมชาติของโพรงถ้ำหรือช่องว่างใต้ดิน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการ สำหรับชาวบ้านที่ต้องอยู่อาศัยบริเวณที่เกิดหลุมยุบให้รู้จักสังเกตบริเวณรอบๆบ้านว่ามีการแตกร้าวของบ้านหรือไม่ ถ้ามีควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน

หลุมยุบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่น่ากลัวเท่ากับภัยหลุมยุบที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ในอนาคตข้างหน้าหากยังไม่มีการวางแผนการใช้ทรัพยากรสินแร่เกลือหินอย่างเป็นระบบและเหมาะสมแล้ว อาจทำให้พื้นผิวดินบ้านเรากลายเป็นหลุมเป็นบ่อเหมือนผิวดวงจันทร์คงเดือดร้อนกันทั่วหน้า.


สัญญาณเตือนก่อนเกิดหลุมยุบ

ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ให้ความรู้ว่า ก่อนเกิดหลุมยุบเราจะได้ยินเสียงดังคล้ายฟ้าร้องจากใต้ดินเป็นผลมาจากการถล่มของเพดานโพรงหินปูนใต้ดินหล่นลงมากระแทกพื้นถ้ำใต้ดินก่อนที่จะยุบตัวเป็นหลุมใช้เวลานานหลายนาทีหรือหลายชั่วโมงหรือบางทีเป็นวัน ถ้าหากได้ยินเสียงแบบนี้ให้รีบออกห่างจากจุดนั้นประมาณ 100 เมตร เพราะอาจเกิดหลุมยุบได้ และก่อนเกิดหลุมยุบพื้นดินรอบข้างจะมีรอยร้าวเป็นวงกลมหรือวงรีแตกคล้ายแห หรือใยแมงมุม หรือกำแพงรั้ว เสาบ้าน หรือต้นไม้ทรุดตัวหรือเอียง ประตูบ้านและหน้าต่างบิดเบี้ยวทำให้เปิด-ปิดยาก มีรอยปริแตกที่ผนัง

นอกจากนี้หากพบเห็นต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ พืชผักของเราเหี่ยวเฉาเป็นบริเวณแคบๆ ให้ระวังไว้เนื่องจากมีการสูญเสียน้ำของชั้นใต้ดินลงไปในโพรงใต้ดินทำให้ดินมีความชื้นน้อย หากพบเห็นเหตุการณ์ลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมดรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ แต่หากเกิดหลุมยุบแล้วรีบแจ้งผู้ใหญ่บ้านหรือกรมทรัพยากรฯ โดยด่วนและทำรั้วกั้นตั้งป้ายเตือน ซึ่งเราจะตรวจสอบว่าหากหลุมใหญ่ไม่มากจะให้หน่วยงานในท้องที่กลบและห้ามทิ้งขยะลงไปเพราะจะทำให้ดินและน้ำใต้ดินเสียได้ หากหลุมใหญ่อาจต้องสำรวจและศึกษาฟื้นฟูพื้นที่ ถ้าพบว่าไม่ขยายวงกว้างแล้วอาจใช้เป็นแหล่งน้ำของหมู่บ้านก็ได้ นอกจากนี้แล้วเรายังทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดหลุมยุบแจกให้ชาวบ้าน เพื่อทราบจุดและปฏิบัติตัวถูกต้องตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปให้ความรู้รวมทั้งใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2553
รูป
   
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม