ดูแบบคำตอบเดียว
  #32  
เก่า 05-08-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default


สร้างบ้านปลา 'ปะการังเทียม' ฟื้นชีวิตใต้ท้องทะเล


จากปริมาณประชากรสัตว์น้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น และผลจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลที่เป็นบ้านพักพิงของสัตว์น้ำต่างๆที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น การฟื้นฟูธรรมชาติใต้ท้องทะเลจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่มนุษย์ต้องเร่งแก้ไข แม้การช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้เหมือนเดิมจะเป็นเรื่องยาก แต่การช่วยเหลือให้ทรัพยากรธรรมชาติกลับฟื้นคืนมาดังเดิมโดยวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้น ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการฟื้นฟู

จากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเป็นห่วงประชากรสัตว์น้ำที่ลดลง จึงเกิดโครงการ “ร่วมสร้างบ้านปลา...ด้วยปะการังเทียม” ณ บริเวณ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ห่างจากฝั่งประมาณ 6 กิโล เมตร โดยความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือ-กรมประมง- กรมเจ้าท่า-กรมทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่ง ทำการทิ้งปะการังเทียมแท่งคอนกรีตทรงสี่เหลี่ยมจำนวน 638 แท่ง กระจายรอบพื้นที่เพื่อฟื้นฟูสัตว์น้ำให้มีแหล่งพักพิงอาศัย

พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรใต้ท้องทะเลในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยการดำเนินโครงการมีความต่อเนื่องในการศึกษาพื้นที่ซึ่งจะนำปะการังไปวาง และศึกษาความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างได้ผลสูงสุด

สำหรับพื้นที่ จ.ปัตตานี ที่ทำการทิ้งปะการังเทียมในครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ อ.ยะหริ่ง ห่างจากฝั่งประมาณ 6 กิโล เมตร ระดับน้ำลึก 13 เมตร วัสดุที่ใช้เป็นแท่งคอนกรีตรูปลูกบาศก์แบบโปร่ง ขนาด 1.5X1.5X1.5 เมตร โดยการนำไปวางในลักษณะแถวเดียวกันยาว 150 เมตร แบ่งเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มห่างกัน 50 เมตร

หลังจากวางลงไปใต้ท้องทะเลไม่นานดินจะทับถมปะการังเทียมให้ยึดติดอยู่บริเวณดังกล่าว และบรรดาสัตว์น้ำต่างๆจะเข้ามาอาศัยเพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ โดยจะส่งผลให้ประชากรสัตว์น้ำมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อชาวประมงในพื้นที่ได้มีปลาที่ทำการประมงเพิ่มขึ้น

ในส่วนของการเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาทำเป็นปะการังเทียม ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการมีมติร่วมกันว่า ต้องใช้วัสดุที่ไม่เป็นพิษหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลทั้งระยะสั้นและระยะยาว และมีประสิทธิภาพในการดึงดูดสัตว์น้ำตลอดจนพัฒนาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ท้องทะเลได้ ขณะเดียวกันต้องมีสภาพที่คงเดิมไม่เสี่ยงต่อการเสียหายในระยะสั้น สามารถคงรูปเดิมได้ยาวนาน

นอกจากนี้ยังเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในพื้นที่ สะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสู่ทะเล ตลอดจนคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรมากเกินไป

สำหรับการเลือกพื้นที่ควรอยู่หน้าหมู่บ้านประมง ซึ่งเคยเป็นแหล่งประมงที่ดีมาก่อน แต่ได้รับผลกระทบเสื่อมโทรมลง เป็นทางผ่านหรือเส้นทางย้ายของฝูงปลา ขณะเดียวกันพื้นที่ในทะเลไม่เป็นโคลนเหลว เพราะจะทำให้ปะการังจมตัว หรือไม่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกันพื้นที่ซึ่งทำการวางปะการังเทียมต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ซึ่งต้องมีความลึกของน้ำทะเลที่เหมาะสม ไม่เป็นพื้นที่หวงห้าม หรือเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น เช่น เขต ท่าเรือ เขตสัมปทานขุดแร่ เขตสัมปทานรังนก เขตอุทยานทางทะเล แนวท่อหรือสายเคเบิลใต้น้ำ ไม่เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติการของทหารและความมั่นคงของประเทศ

ด้านรูปทรงของปะการังเทียม ต้องคำนึงถึงการใช้งาน เช่น การใช้งานเพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล นิยมใช้รูปทรงที่มีโครงสร้างซับซ้อนและมีช่องว่างหรือรูเพื่อให้เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำ จะจัดวางเป็นจำนวนมากซ้อนกันในจำนวนสูงในน้ำลึก มีลักษณะเป็นกองใหญ่ เพื่อสามารถดึงดูดฝูงปลาได้หลายชนิด ทั้งปลาหน้าดิน และปลากลางน้ำ

ส่วนการจัดวางเพื่อฟื้นฟูแนวปะการังธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงที่มีพื้นที่หน้าตัดแบบราบและมีพื้นที่ว่างจำนวนมากสำหรับการยึดเกาะ จัดวางชั้นเดียวให้ สามารถรับแสงได้ ในบริเวณที่มีคุณภาพน้ำทะเลที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของปะการัง

ขณะที่การจัดวางเพื่อป้องกันระบบนิเวศทางทะเล ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงที่มีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก จัดวางซ้อนกันเป็นแนวขวางการเข้ามาของเครื่องมือประมง สำหรับพื้นที่เพื่อการดำน้ำ ควรมีรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมทางทะเล เช่น เครื่องบิน เรือ หรืองานประติมากรรมรูปปั้นที่มีเอกลักษณ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อการดำน้ำ

การจัดวางเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นรูปทรงที่เลียนแบบแนวปะการังธรรมชาติ ลดพลังงานของ การเคลื่อนที่เข้ามากระทบฝั่ง จัดวางขนานแนวชายฝั่งในระยะที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพคลื่นลม และความลึกของท้องทะเล

จุมพล สงวนสิน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กล่าวว่า การจัดสร้างปะการังเทียมของกรมประมง ดำเนินการเพื่อสร้างแหล่งอาศัยให้สัตว์ทะเล และจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงเกิดโครงการปะการังเทียมขึ้นเพื่อประโยชน์ที่ได้รับจากการสร้างปะการังเทียม คือ ทำให้ชาวประมงขนาดเล็กมีแหล่งทำการประมงชายฝั่งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องออกไปทำการประมงไกลฝั่ง

การทำประมงริมชายฝั่งย่อมส่งผลให้ชาวประมงประหยัดต้นทุน และมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินในการประกอบอาชีพ อีกทั้งเป็นแนวป้องกันการทำลายสัตว์น้ำขนาดเล็ก และสภาพแวดล้อมที่ถูกทำให้เสียหายด้วยเครื่องมืออวนลากชายฝั่ง โดยจะสามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างชาวประมงในเรื่องพื้นที่ทำประมงได้

ปะการังเทียม นับเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยเหลือให้สัตว์น้ำและชาวประมงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนในพื้น ที่หากินของตนเอง.


********************************

รู้จักปะการังเทียม

ปะการังเทียม มีชื่อเรียกเป็นทางการในภาษาอังกฤษว่า อิมมิเทชั่น รีฟ (Imitation Reef) หมายถึง กองหินเทียมใต้น้ำ เป็นการทำขึ้นเลียนแบบโขดหิน หรือหินกองใต้น้ำ ซึ่งนักตกปลาทางทะเลจะรู้จักกันดี โดยในบ้านเราใช้คำว่า ปะการังเทียม

ปะการังเทียม มักถูกสร้างขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อดัดแปลงสภาพของพื้นท้องทะเลที่ปะการังทางธรรมชาติถูกทำลายเหลือจำนวนลดน้อยลงให้มีความอุดมสมบูรณ์เฉกเช่นในอดีต โดยการจัดทำสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยหรือเรียกง่ายๆ ว่า บ้านปลา เลียนแบบบริเวณที่มีกองหินใต้น้ำ ซากเรืออับปาง หรือแนวปะการังธรรมชาติ โดยการใช้วัสดุที่แข็งแรง ทนทาน มีน้ำหนัก สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ราคาไม่แพง มีรูปแบบที่มีช่องเงาให้สัตว์น้ำกำบังหรือหลบซ่อนตัวได้ และนำไปวางรวมกลุ่มกันในบริเวณต่างๆตามแนวชายฝั่งที่เหมาะสม.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 5 สิงหาคม 2553
รูปขนาดเล็ก
คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

Name:	100805_Dailynews.jpg
Views:	0
Size:	137.9 KB
ID:	8315  
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม