ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 27-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์


เราอาจจะรอดจากโควิด แต่อาจจะไม่รอดจากโลกร้อน

เราอาจจะรอดจากโควิด แต่อาจจะไม่รอดจากโลกร้อน หากยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกของเราจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับได้แล้ว



ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่เล่นงานในแถบยุโรป หรืออุณหภูมิแถบอาร์กติกที่สูงเป็นประวัติการณ์ บรรดานักวิทยาศาสตร์ส่งสัญญาณเตือนมาตลอดว่า หากยังไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกของเราจะไปถึงจุดที่ไม่สามารถหวนกลับได้แล้ว

ด้วยเหตุนี้การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีสจึงทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 ว่าจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรม และจะพยายามอย่างหนักไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) บอกว่าวิธีที่จะคุมไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสคือ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 7.6% ทุกปีนับตั้งแต่ปี 2020-2030

ทว่าล่าสุด UNEP เตือนว่าแม้แต่ละประเทศจะทำตามข้อตกลงปารีสแล้ว อุณหภูมิของโลกก็ยังจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030-2052 ซึ่งยังอยู่ในช่วงชีวิตของผู้ใหญ่และเด็กที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และจะพุ่งขึ้น 3 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า


ถ้าโลกร้อนขึ้น 3 องศาจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง


น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย


พื้นที่แถบอาร์กติกอาจมาถึงขั้นที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเก่าได้ อุณหภูมิแถบขั้วโลกจะสูงขึ้นเร็วกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ซึ่งส่งผลให้ชั้นน้ำแข็งและธารน้ำแข็งสูญเสียน้ำแข็งไปราว 400 ลูกบาศก์กิโลเมตรภายใน 40 ปี

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่า เขตขั้วโลกเหนือแถบวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 38 องศาเซลเซียส ทั้งที่อุณหภูมิเฉลี่ยในฤดูร้อนในแถบนั้นเพียง 13.2 องศาเซลเซียสเท่านั้น และในแถบไซบีเรียยังร้อนผิดปกติจนเกิดไฟป่าในหลายพื้นที่

เมื่อธารน้ำแข็งละลายก็จะส่งผลต่อระดับน้ำทะเล ภายในปี 2050 เมืองชายฝั่งที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 570 เมืองทั่วโลก อาทิ นิวยอร์ก ไมอามี กรุงเทพฯ เซี่ยงไฮ้ กรุงจาการ์ตา มีสิทธิ์ถูกน้ำทะเลท่วม ส่งผลกระทบกับประชากรราว 800 ล้านคน และภายในปี 2100 น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นราว 1 เมตร


น้ำแข็งทะเล (Sea Ice) ละลาย

โดยปกติน้ำแข็งทะเลที่มีหิมะปกคลุมทำหน้าที่สะท้อนความร้อนจากแสงอาทิตย์กลับไปนอกโลกราว 80% ขณะที่มหาสมุทรดูดซับรังสีจากดวงอาทิตย์ 95% แต่เมื่อน้ำแข็งทะเลเริ่มละลาย พื้นผิวหน้าของมหาสมุทรก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ยิ่งดูดซับความร้อนมาสะสมจนอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งไม่สามารถก่อตัวได้ในฤดูหนาว เมื่อไม่มีน้ำแข็งสะท้อนความร้อนกลับ มหาสมุทรก็ยิ่งดูดความร้อน กลายเป็นวงจรซ้ำๆ

นอกจากนี้ เมื่อมหาสมุทรร้อนขึ้นยังทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง ทำให้ก๊าซเหล่านี้สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศและทำให้โลกร้อนขึ้น


ชั้นดินเยือกแข็ง (Permafrost) ละลาย


Photo By Yukon 2012 Expedition by the COPER group of the Alfred Wegener Institute in Potsdam

ชั้นดินเยือกแข็งก็ไม่ต่างจากกล่องแพนดอร่า หรือกล่องแห่งหายนะตามตำนานของกรีก เพราะเป็นแหล่งแช่แข็งแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ ไว้มากมายนับพันๆ ปี หรืออาจเป็นล้านปีเพื่อรอการคืนชีพ เมื่อชั้นดินเยือกแข็งละลายเพราะโลกร้อน เชื้อโรคยุคโบราณเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยออกมา

เมื่อเดือน ส.ค. 2016 มีเด็กชายวัย 12 ปีที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรยามัลในแถบไซบีเรียของรัสเซียเสียชีวิต และชาวบ้านอีกอย่างน้อย 20 รายมีอาการป่วยหลังจากติดเชื้อแอนแทร็กซ์

มีการสันนิษฐานว่าเมื่อ 75 ปีที่แล้วมีฝูงกวางเรนเดียร์ล้มตายเพราะโรคแอนแทร็กซ์ โดยที่ซากของพวกมันก็ถูกฝังอยู่ใต้น้ำแข็ง จนกระทั่งเกิดคลื่นความร้อนเมื่อปี 2016 ทำให้ชั้นดินเยือกแข็งละลาย เชื้อแอนแทร็กซ์จึงถูกปลดปล่อยออกมาปนเปื้อนในดินและน้ำจนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร โดยขั้นแรกมีกวางเรนเดียร์ติดเชื้อล้มตายกว่า 2,000 ตัว ก่อนจะติดสู่มนุษย์


คลื่นความร้อน

คลื่นความร้อนในหลายๆ ประเทศที่เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งจะกลายเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่แย่ก็คือ หากคลื่นความร้อนทวีความรุนแรงขึ้นจนอุณหภูมิร่างกายมนุษย์แตะ 41 องศาเซลเซียส ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะหยุดทำงาน อาทิ ไม่ผลิตเหงื่อ หายใจตื่นและเร็ว สมองจะเริ่มขาดเลือด และอวัยวะภายในล้มเหลว โอกาสเสียชีวิตมีสูง


ระบบนิเวศพังทลาย

กว่า 40% ของป่าแอมะซอนซึ่งเป็นปอดของโลกจะถูกทำลาย ทำให้พื้นดินได้รับความร้อนมากขึ้นจนพืชยืนต้นตายและคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแทนที่จะดูดซับไว้ตามปกติ มีการคาดการณ์ว่าพืชที่ล้มตายจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 500 ตัน สุดท้ายเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยิ่งกระตุ้นให้ภาวะโลกร้อนแย่ลง นอกจากนี้ สิ่งมีชีวิตราว 1 ใน 3 บนโลกจะเผชิญกับการสูญพันธุ์


พายุรุนแรงขึ้น

ประเทศแถบชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งตะวันตกของสหรัฐและอ่าวเม็กซิโก ประเทศแถบแคริบเบียน แปซิฟิก และอ่าวเบงกอล จะเจอพายุเฮอร์ริเคนที่รุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน เนื่องจากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้พายุทวีกำลัง


ปะการังฟอกขาว


เกรตแบร์ริเออร์รีฟ แนวปะการังชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกของออสเตรเลียฟอกขาวตาย Photo by Handout / JAMES COOK UNIVERSITY AUSTRALIA / AFP

ช่วงก่อนทศวรรษ 1970 อุณหภูมิในมหาสมุทรไม่เคยร้อนจนกระทั่งเกิดปะการังฟอกขาวตาย แต่หลังจากที่โลกเริ่มร้อนขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส ปรากฏการณ์ฟอกขาวก็เกิดถี่ขึ้น แต่หากโลกเรายังร้อนขึ้นต่อเนื่อง ปะการังเหล่านี้จะฟอกขาวตายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนอาจหายไปทั้งหมด

หลายปรากฏการณ์ข้างต้นอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์โดยตรง แต่สุดท้ายแล้วผลกระทบทั้งหมดจะย้อนกลับมาถึงตัวเราไม่ช้าก็เร็ว

แม้ว่าในช่วงที่ Covid-19 ระบาด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะลดลงชั่วคราวอันเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์และการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะกลับมารุนแรงอีกหรืออาจจะหนักกว่าเดิมเพื่อชดเชยความสูญเสียในช่วงกักกันโรค

และยังมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลต่างๆ จะละเลยเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เคยตั้งเป้ากันไว้ เพราะจำเป็นต้องยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนอีกครั้ง หลังจากที่สะดุดไปนานหลายเดือนหรืออาจจะลากยาวหลายปี

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกในปี 2007-2009 การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลง 1.4% ในปี 2009 แต่กลับเพิ่มขึ้นถึง 5.9% ในปี 2010

เห็นได้ชัดว่ามลภาวะทางอากาศลดลงแค่นิดเดียวในช่วงเศรษฐกิจชะงักงัน แต่เมื่อถึงโอกาสที่เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง

สำหรับครั้งนี้เราอาจจะรอดจากโคโรนาไวรัส แต่อาจจะไม่รอดจากภาวะโลกร้อน


https://www.posttoday.com/world/626996

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม