ดูแบบคำตอบเดียว
  #8  
เก่า 29-06-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


นักวิทยาศาสตร์พบไมโครพลาสติกสะสมอยู่ในผักและผลไม้


Image copyright GETTY IMAGES

กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน หลังจากผลการศึกษาจากอิตาลีพบว่ามีพลาสติกขนาดจิ๋วที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก สะสมอยู่ในผักและผลไม้ที่เรานิยมบริโภคกัน

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาตาเนีย ในแคว้นซิซิลี ตีพิมพ์ผลการศึกษาชิ้นนี้ในวารสาร Environmental Research โดยระบุว่า พบไมโครพลาสติกอยู่ในผักผลไม้ต่าง ๆ เช่น ผักรับประทานใบ ประเภทผักกาดหอม รวมทั้ง บรอกโคลี มันฝรั่ง และลูกแพร์

แต่พืชที่พบอนุภาคพลาสติกสะสมอยู่ในระดับสูงที่สุดได้แก่ แอปเปิล และแครอท

ทีมนักวิจัยเชื่อว่านี่เกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "หยาดน้ำฟ้า" (precipitation) ซึ่งหมายถึงหยดน้ำ และน้ำแข็ง ที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำแล้วตกกลับมาสู่พื้นโลกในรูปของ น้ำฝน ลูกเห็บ และหิมะ เป็นต้น

พวกเขาชี้ว่า ไมโครพลาสติกที่อยู่ในมหาสมุทรได้เกิดกระบวนการดังกล่าว แล้วไปจับตัวอยู่ในเมฆ จากนั้นได้ตกกลับสู่พื้นโลกโดยปนเปื้อนอยู่ในน้ำฝน แล้วพืชได้ดูดซับเอาไมโครพลาสติกเข้าไปทางราก

ทีมนักวิจัยพบว่า ผลไม้มีระดับไมโครพลาสติกสะสมอยู่มากกว่าผัก เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้น ซึ่งมีรากใหญ่ที่หยั่งลงไปในดินได้ลึกกว่าผัก


ไมโครพลาสติกที่พบอยู่ในมหาสมุทร Image copyright GETTY IMAGES

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นของทีมนักวิทยาศาสตร์ในจีนและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Sustainability โดยพบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า รากของผักกาดและข้าวสาลีสามารถดูดซับไมโครพลาสติกได้ แล้วส่งอนุภาคพลาสติกไปยังส่วนที่กินได้ซึ่งอยู่เหนือพื้นดิน

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยระบุว่า ระดับของไมโครพลาสติกที่พบสะสมอยู่ในผักและผลไม้นั้น ยังมีปริมาณน้อยกว่าไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกเสียอีก



ไมโครพลาสติกคืออะไร

ไมโครพลาสติก เป็นอนุภาคขนาดจิ๋วของพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 5 มิลลิเมตร

ไมโครพลาสติก เกิดจากพลาสติกชิ้นใหญ่กว่าที่สลายตัวออกจากกัน เช่น ขวดพลาสติก ถุงและภาชนะพลาสติกที่สลายตัวในดินหรือทะเล แล้วก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

มาเรีย เวสเตอร์บอส ผู้ก่อตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ชื่อ Plastic Soup Foundation กล่าวว่า "เราทราบกันมาหลายปีแล้วเรื่องการพบพลาสติกในสัตว์น้ำเปลือกแข็งและปลา แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ทราบว่าพลาสติกเข้าไปสะสมอยู่ในผัก"

"ถ้ามันเข้าไปสะสมอยู่ในพืชผักต่าง ๆ ได้ ก็เท่ากับว่ามันจะเข้าสู่สิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่กินพืช ซึ่งหมายถึงเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมต่าง ๆ"

"สิ่งที่เราต้องค้นหาคือมันจะส่งผลต่อพวกเราอย่างไร" เวสเตอร์บอส กล่าว

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของคนเรา แต่หลายฝ่ายชี้ว่าข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้เป็นเรื่องที่ "น่ากังวล"


https://www.bbc.com/thai/features-53203856


*********************************************************************************************************************************************************


ประชากรกว่าครึ่งของโลกอยู่ในพื้นที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นทุกขณะ



ผลการศึกษาล่าสุดซึ่งจัดทำโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และสถาบันวิจัยบางแห่งของสหราชอาณาจักร เผยว่าปัจจุบันประชากรกว่าครึ่งของโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่มลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในเมืองใหญ่หรือในชนบทก็ตาม

รายงานวิจัยดังกล่าวซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพอากาศทั่วโลกระหว่างปี 2010-2016 ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Climate and Atmospheric Science โดยระบุว่าประชากรโลกอย่างน้อย 1 คนในทุก 2 คน กำลังอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งคุณภาพอากาศย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปริมาณของฝุ่นอนุภาคละเอียดอย่างเช่น PM2.5 ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะสามารถหยุดยั้งได้

ศาสตราจารย์เกวิน แชดดิก จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ของสหราชอาณาจักร ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า "ผู้คนในยุโรปและอเมริกาเหนือเผชิญกับมลพิษทางอากาศน้อยที่สุด เนื่องจากนโยบายสิ่งแวดล้อมในระยะยาวของรัฐกำลังให้ผลดี แต่ผู้คนในเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศระดับสูงสุดของโลกในขณะนี้ โดยบางประเทศมีปริมาณฝุ่นพิษหนาแน่นกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 5 เท่า"


Image copyrightAFP/GETTY IMAGES

ศ. แชดดิกยังย้ำว่า ปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยไม่เลือกว่าจะเป็นพื้นที่ในเมืองใหญ่หรือในชนบท เช่นในพื้นที่ห่างไกลความเจริญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความหนาแน่นของฝุ่นอนุภาคละเอียดเพิ่มขึ้นถึง 11% ตลอดช่วง 7 ปีที่ได้ทำการศึกษา

"มลพิษทางอากาศสามารถกระจายตัวไปได้ไกลกว่าที่เคยคาดกันไว้ ทั้งก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางสุขภาพได้แม้ในพื้นที่ชนบท ดังนั้นความพยายามแก้ไขปัญหานี้จะต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ในภาพรวม โดยไม่มุ่งเน้นไปแต่ที่เมืองใหญ่เท่านั้น" ศ. แชดดิกกล่าว

นอกจากมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์แล้ว ทีมผู้วิจัยยังพบว่าการกระจายของฝุ่นละอองเนื่องจากพายุทรายก็ทวีความรุนแรงขึ้นด้วย ดังเช่นที่พบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทำให้คุณภาพอากาศในหลายพื้นที่ของโลกย่ำแย่ลงอย่างมาก โดยปรากฏการณ์นี้เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก


https://www.bbc.com/thai/features-53205941

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม