ชื่อกระทู้: กรุงเทพฯจะ จมน้ำ (2)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #23  
เก่า 04-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


มหาอุทกภัย !...น้ำเปลี่ยนเมือง



กรุงเทพธุรกิจ Green Report ฉบับที่ 6 สรุปบทเรียนอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศในครั้งนี้ ส่งผลให้หลายหน่วยงานกำลังหาวิธีการจำกัดการขยายตัวของเมืองที่ขวางทางน้ำ

มหาอุทกภัยที่คนไทยเผชิญหน้ามาหลายเดือนติดต่อกัน ได้สร้างบทเรียนให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในพื้นที่กทม.และปริมณฑลที่เป็นใจกลางเศรษฐกิจและการติดต่อการค้าของประเทศรวมถึงมีชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ทั้งคอนโดมิเนียมกลางเมือง และโครงการบ้านจัดสรรชานเมืองและในปริมณฑล ที่ยังขยายตัวเป็นดอกเห็ด สาเหตุจากการตัดถนนใหม่ๆ และโครงการรถไฟฟ้า ทำให้การคมนาคมสะดวกรวดเร็ว แต่อีกด้านหนึ่งการขยายตัวกลับไม่คำนึงถึงความเสี่ยงของอุทกภัย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้กทม.ต้องกลับมาทบทวนข้อกำหนดให้สิทธิประโยชน์การพัฒนาที่ดิน 500 เมตร เกาะแนวรถไฟฟ้า เกรงหากปล่อยให้ขยายตัวในเส้นทางชานเมือง ยิ่งเร่งให้เกิดหมู่บ้านจัดสรร และชุมชนหนาแน่น เพิ่มความเสี่ยงปัญหาน้ำท่วมมากในอนาคต

ม.ร.ว.เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร กล่าวว่ากทม.อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรวมฉบับใหม่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ต้องหันมาทบทวนเรื่องการให้สิทธิประโยชน์บางพื้นที่ เพื่อให้เมืองขยายสู่พื้นที่รอบนอกมากขึ้น โดยเฉพาะร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปัจจุบันที่อนุญาตให้ที่ดินที่อยู่ในรัศมี 500 เมตร จากแนวรถไฟฟ้าสามารถพัฒนาโครงการประเภท ทาวน์เฮาส์ บ้าน ตึกแถว อาคารพาณิชย์ พื้นที่พาณิชยกรรม อาคารอยู่อาศัย รวมไม่เกิน 1,000 ตารางเมตรได้ แม้เส้นทางรถไฟฟ้าเหล่านั้นจะวิ่งผ่านพื้นที่ผังสีเดิม ซึ่งกำหนดให้สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยว จึงอาจเปิดช่องให้เกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรใหม่ในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากแนวรถไฟฟ้ามุ่งหน้าออกสู่พื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯในหลายเส้นทาง ที่เกิดขึ้นแล้วคือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง เส้นทางบางใหญ่ บางบัวทอง

"ในอนาคตจะเกิดโครงการรถไฟฟ้าหลายสาย เชื่อมไปถึงจังหวัดในเขตปริมณฑล เช่น นนทบุรี ปทุมธานี ซึ่งหลายพื้นที่ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม หากผังเมืองรวมอนุญาตให้สร้างหมู่บ้านได้ ในรัศมี 500 เมตรจากรถไฟฟ้า อาจเกิดโครงการหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก ในเขตพื้นที่บางใหญ่ และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะกลายเป็นการพาประชาชนไปเจอน้ำท่วมได้ เราจึงต้องทบทวนกันใหม่" ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกล่าว

อย่างไรก็ดี การพัฒนาที่อยู่อาศัยในรัศมีรถไฟฟ้า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวม กทม. เพียงผังเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงผังเมืองจังหวัดปริมณฑลในพื้นที่ต่อเนื่องด้วย และล่าสุด สำนักผังเมืองฯได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ในการวางผังเมืองของจังหวัดในปริมณฑลแล้วครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งต้องประชุมร่วมกันต่อไป

“ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ผังเมืองรวมแต่ละจังหวัด มีผลบังคับใช้คนละช่วงเวลากัน บางผังอยู่ในช่วงร่างใหม่พร้อมๆกับของ กทม. แต่บางผังก็ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้นการปรับรายละเอียดในผัง จำเป็นต้องทำร่วมกันเพื่อให้ครอบคลุมในระยะยาว “

ส่วนการปรับผังสี ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ม.ร.ว.เปรมศิริ กล่าวว่า ในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนในส่วนของสีในแต่ละพื้นที่มากนัก แม้จะมีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ก็ตาม เพราะร่างผังเมืองรวม กทม. (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ได้กำหนดให้พื้นที่วงแหวนรอบนอก ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในปัจจุบัน เช่น เขตทวีวัฒนา บางบอน บางขุนเทียน คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง เป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) และสีเขียวลายขาว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) ซึ่งหมายถึงกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว

ส่วนความต้องการของเอกชน ที่ต้องการให้ปรับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio หรือ FAR) จากร่างผังเมืองรวมปัจจุบันที่กำหนดให้อยู่ที่ 10 เท่า เพิ่มเป็น 15 เท่า และความต้องการของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องการให้เหลือเพียง 8 เท่า ม.ร.ว.เปรมศิริ กล่าวว่า หากให้ปรับเหลือ 8 เท่าจะยินดีมาก แต่หากให้ปรับเพิ่มเกินกว่า 10 เท่า คงทำไม่ได้ เพราะการปรับเพิ่มในส่วนนี้ จะทำให้มีคนอยู่อาศัยในอาคารหนึ่งอาคารมากขึ้น เมื่อมีคนมากก็จะมีรถมาก มีปัญหาเรื่องที่จอดรถและปัญหาการจราจรภายในซอยและบนท้องถนนตามมา

กรณีที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอให้ขยายรัศมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรัศมีรถไฟฟ้าจาก 500 เมตร เป็น 1,000 เมตร เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูกในบริเวณใกล้รถไฟฟ้าได้มากขึ้น ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ต่อให้ขยายพื้นที่รัศมีออกไปเป็น 1,000 เมตร ก็ไม่น่าจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ เพราะเชื่อว่าโครงการที่ได้ชื่อว่าใกล้รถไฟฟ้า ถึงอย่างไรก็คงขายแพง ต่อให้เป็นรัศมีที่ห่างออกไปอีกก็ตาม

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ให้คณะกรรมการพิจารณา 300 ความเห็นที่เสนอมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับแก้ต่อไป ซึ่งหากเป็นไปได้ ต้องการให้ผังเมืองฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 2555 แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะสามารถออกบังคับใช้ได้ทัน เพราะในขั้นตอนการจัดทำผังนั้น ยังต้องผ่านการพิจารณาอีกหลายขั้นตอน โดยเมื่อสรุปความเห็นแล้ว ยังต้องส่งเรื่องไปยังคณะที่ปรึกษาผังเมืองรวมกทม. และอาจยังต้องมีการปรับแก้ผังเมืองรวมเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากผังเมืองรวมเสร็จไม่ทันเดือนพ.ค. 2555 ทางสำนักฯ จะต่ออายุผังเมืองรวมฉบับปัจจุบันครั้งที่ 2 เพื่อยืดอายุผังเมืองฉบับปัจจุบันออกไปอีก 1 ปี

ขณะที่นักวิชาการมองว่าสอดคล้องกันว่าถึงเวลาที่ร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ จะต้องควบคุมการพัฒนาไม่ให้หนาแน่น เนื่องจากพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ไม่สามารถฝืนธรรมชาติ หากปล่อยให้การใช้ที่ดินไม่สอดคล้องกับภูมิประเทศต่อไป และมีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ จะส่งผลให้ภัยพิบัติสร้างความเสียหายซ้ำรอยเดิม

รุจิโรจน์ อนามบุตร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน คณะทำงานผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร บอกว่า กทม.กำลังร่างผังเมืองรวมที่ประกาศใช้ในปี 2555-2559 ซึ่งจะกำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยในเขตอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมจะอยู่ชั้นใน เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ ถัดออกมาจะเป็นเขตพาณิชยกรรม เช่น สีลม สยาม และถัดออกมา เป็นที่อยู่อาศัยในเขตเมือง และจากนั้นเป็นชานเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม เช่น มีนบุรี พุทธมณฑล ทวีวัฒนา ซึ่งขณะนี้ ได้รับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว อยู่ระหว่างประมวลคำร้องของผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยผู้ร้องมีทั้งเจ้าของที่ดินและผู้พัฒนาที่ดิน ซึ่งส่วนมากเห็นว่าการทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จำกัดสิทธิการพัฒนาที่ดินของผู้ประกอบการมากเกินไป

โดยจุดเปลี่ยนของผังเมืองใหม่มี 3 ส่วน ประกอบด้วย

1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งจะกำหนดพื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์พาณิชยกรรมชานเมือง ที่เป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าและรถเมล์เพื่อให้ผู้อาศัยอยู่ชานเมือง ไม่ต้องเข้ามากลางเมืองเพื่อซื้อสินค้า ซึ่งจะรองรับการสร้างศูนย์การค้า ร้านอาหารและโรงมหรสพได้มาก โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการพบว่าค่อนข้างพอใจ

2.พื้นที่กลางเมืองจะให้อาคารมีความสูงมากขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยและทำให้ไม่ต้องขยายออกมาชานเมืองมากนัก

3.พื้นที่ชานเมือง เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย จะรักษาให้ไม่ให้หนาแน่น หรือกระจายตัวมาก เพราะหากหนาแน่นจะต้องลงทุนโครงสร้างมาก

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครนี้ ต้องสามารถรองรับปัญหาน้ำท่วมได้ เป็นเป้าหมายที่รุจิโรจน์ บอกว่า แนวคิดให้พื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ มีการพัฒนาที่เบาบางลง และให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะช่วยบรรเทาปัญหาไปได้ ซึ่งการยกร่างผังเมืองครั้งนี้ก็จะสอดคล้องกับแนวทางนี้ โดยต้องการให้พื้นที่ดังกล่าว ไม่ต้องมีการก่อสร้างมาก และให้บ้านชายเมืองมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ผู้อยู่ในเขตชานเมืองต้องยอมรับว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในข่ายที่น้ำจะท่วม

"หากผังเมืองไม่มากำหนดเช่นนี้ และปล่อยให้ทุกคนพัฒนาที่ดินตามใจชอบ จะทำให้มีอาคารเต็มไปหมด ซึ่งความจริงแล้วภาครัฐควรเข้มงวดการพัฒนาที่ดินในเขตเกษตรกรรมมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาสังคมพูดถึงสิ่งแวดล้อมน้อย จึงผ่อนปรน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่าเมื่อเกิดวิกฤติธรรมชาติแล้วสร้างความเสียหาย จึงเป็นเรื่องถูกต้องที่ผังเมืองจะมองเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องมากขึ้น โดยคำนึงว่าพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องมีน้ำหลาก แม้จะมีการร้องคัดค้านว่า พื้นที่ชานเมืองที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ควรอนุญาตให้พัฒนาที่ดินได้มากขึ้น แต่หากผังเมืองปล่อยให้สร้างได้มาก จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและเจ้าของที่ดินจะเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของผู้วางผังเมือง ที่จะกำหนดว่าเขตดังกล่าว เป็นทางน้ำหลากตามธรรมชาติที่ฝืนไม่ได้ "

ขณะเดียวกันรุจิโรจน์ ยังกล่าวถึงพฤติกรรมของการซื้อขายที่ดินว่า ที่ผ่านมาผู้พัฒนาที่ดินจะซื้อที่ดินน้ำท่วมที่มีราคาถูก แล้วนำดินมาถม จึงเกิดปัญหาขวางทางน้ำ ซึ่งในกทม.มีจุดขวางทางน้ำหลายแห่ง รวมถึงในปริมณฑล เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ในอดีตเป็นหนองงูเห่า เป็นแหล่งซับน้ำ ดังนั้นหากมีน้ำเข้ามามากก็มีโอกาสที่สนามบินจะถูกน้ำท่วม จึงควรมีการออกแบบให้น้ำไหลผ่านได้ ดังนั้นผู้พัฒนาที่ดินในเขตน้ำท่วม ควรร่วมกันรับผิดชอบ เช่น ชี้แจงให้ผู้ซื้อทราบ หรือการทำบ่อหน่วงน้ำ เพื่อให้น้ำค่อยๆ ระบายออกจากพื้นที่ ซึ่งการก่อสร้างอาคารที่เบาบางจะทำให้มีช่องว่างให้ดินซับน้ำฝนที่ตกลงมา

"ปัญหาน้ำท่วมในกทม.เกิดจากการไม่ดูสภาพภูมิประเทศให้เหมาะสมกับการใช้ที่ดิน เช่น การถมที่ให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสภาพภูมิประเทศตามใจชอบ แบบไม่ดูผลกระทบและมองเฉพาะผลกำไรทางธุรกิจ ซึ่งหลายพื้นที่มีการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสม เช่น พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ลุ่ม ไม่เหมาะกับการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม แต่ก็มีการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมมานาน" รุจิโรจน์กล่าว

อย่างไรก็ตามวิกฤติน้ำท่วมในปัจจุบัน จะเป็นโอกาสที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้มาร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า ปัญหาเกิดจากอะไร หากสภาพภูมิประเทศอยู่ติดริมแม่น้ำ ก็ต้องยอมรับว่าจะมีความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ 10 ปี 1 ครั้ง และต้องมีระบบชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการน้ำ โดยต้องมีการถกเถียงกันว่า จะเก็บน้ำหรือปล่อยน้ำกันอย่างไรเพราะบาง พื้นที่ปลูกข้าวได้ปีละ 4 ครั้ง แต่บางพื้นที่ปลูกข้าวได้ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งหัวใจสำคัญต้องมองเรื่องความเสมอภาคทางสิ่งแวดล้อม

"การบริหารจัดการน้ำที่โปร่งใส และเสมอภาค แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการชี้แจงความจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำ เพราะอาจกังวลว่าจะเกิดความขัดแย้ง แต่เชื่อว่าหากมีความโปร่งใสจะไม่เกิดปัญหาขัดแย้งเหมือนประชาชนจังหวัดชัยนาทกับสุพรรณบุรีที่เริ่มมีความขัดแย้งกัน เพราะไม่มีระบบบริหารจัดการ และไม่มีการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบที่ยอมรับได้ ทำให้มีการใช้อำนาจมาบริหารจัดการน้ำซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเท่ากับให้ผู้ที่มีพวกมากมากำหนดแผนการจัดการน้ำ "รุจิโรจน์ สรุป




จาก ....................... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม