ดูแบบคำตอบเดียว
  #40  
เก่า 10-06-2014
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default



สาระสำคัญของกฎหมายการประมงฉบับใหม่

กฎหมายการประมงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันคือ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ. 2490 ซึ่งได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานาน จึงไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน

ปัญหาด้านการประมงนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีการประมงสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 2 แสนล้านบาท แต่การประมงก็พบกับอุปสรรคมากมายนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ มลพิษในน้ำที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม กากน้ำมันของเรือต่างๆ ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย

ร่างกฎหมาย พ.ร.บ. การประมง พ.ศ... จะมีหลักการใหม่ ๆ ที่สำคัญๆ เช่น การกำหนดแบ่งเขตการประมงในน่านน้ำไทยออกเป็น 3 เขต คือ (1) เขตประมงน้ำจืด หมายถึง เขตประมงที่อยู่ในแผ่นดิน (2) เขตประมงทะเลชายฝั่ง หมายถึง เขตตั้งแต่ชายฝั่งทะเลออกไป 3 ไมล์ทะเล และอาจขยายได้แต่ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล และ (3)เขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง หมายถึง เขตทะเลนอกเหนือจากเขตทะเลชายฝั่งออกไปจนสุดเขตน่านน้ำไทย ในแต่ละเขตมีการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำแตกต่างกันตามความเหมาะสม ตามประเภทของเครื่องมือประมง และสภาพพื้นที่การใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสมกับทรัพยากรสัตว์น้ำ จะทำให้สัตว์น้ำขนาดเล็กถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ก่อนวัยอันควร การใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้องและเหมาะสมตามสภาพ ย่อมเป็นวิธีที่จะรักษาระบบนิเวศน์อีกด้วย ซึ่งกฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดเขตพื้นที่ทำการประมง ทำให้เครื่องมือประมงที่ได้รับอนุญาตสามารถทำการประมงในทะเลได้อย่างเสรีในทุกเกือบพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ทำการประมง

การกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้รัฐสามารถออกมาตรการควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้ได้คุณภาพมีมาตรฐาน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีการกำหนดไว้ชัดเจน จึงทำให้การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ผ่านมามีการใช้สารเคมี จึงมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ทำให้ขาดศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า

การกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมด้านสุขอนามัย โดยรัฐมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นพื้นฐานด้านสุขอนามัยสำหรับประชาชน นับตั้งแต่ขั้นตอนการจับ การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ การแปรรูป และการขนส่งหรือการขนถ่ายสัตว์น้ำ อันจะส่งผลให้สามารถรักษาคุณภาพสัตว์น้ำให้มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีบทบัญญัติส่งเสริมควบคุมด้านสุขอนามัย ทำให้ไม่สามารถควบคุมสัตว์น้ำให้มีคุณภาพสุขอนามัย

การกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ บำรุงรักษา อนุรักษ์ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ อันจะทำให้รัฐสามารถกำหนดมาตรการด้านการบริหารจัดการได้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของประชาชน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีบัญญัติไว้

การกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางและเป้าหมายในการพัฒนาการประมงของประเทศ แนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีบัญญัติไว้ จึงทำให้ขาดการบริหารจัดการการประมงภาพรวม และทำให้เกิดปัญหาการทำการประมงโดยละเมิดน่านน้ำและฝ่าฝืนข้อตกลงระหว่างประเทศ

การแก้ไขพ.ร.บ การประมง โดยแก้ไขหลักการที่สำคัญต่างๆเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ที่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมการประมง แต่พื้นที่การประมงยังคงมีเท่าเดิม และการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโนบายประมงแห่งชาติ จึงน่าจะทำให้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆด้านการประมงลดน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านการประมง เพื่อการจัดการทรัพยากรประมง การผลิตสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อให้ได้คุณภาพต่อการบริโภคของประชากรในประเทศ และเพื่อการส่งออกอันจะเป็นการสร้างอาชีพและทำรายได้ให้กับประเทศ

ร่างกฎหมายฉบับใหม่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตามกฎหมายที่จะใช้บังคับจะสัมฤทธิ์ผลเพียงใด ก็ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนที่ต้องร่วมมือกันปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ที่ออกมาใช้บังคับอย่างจริงจัง

รุจิระ บุนนาค

rujira_bunnag@yahoo.com

Twitter : @ RujiraBunnag


ข้อมูลจาก....http://www.naewna.com/politic/columnist
/7603
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม