ชื่อกระทู้: โลกร้อน (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #46  
เก่า 22-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


จากโลกร้อนสู่อากาศแปรปรวนสุดโต่ง ..................... โดย เกษียร เตชะพีระ


ดร.พอล เอพสไตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลกแห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด


ผมทิ้งคำถามไว้ท้ายสัปดาห์ก่อนว่า : แล้วอากาศแปรปรวนสุดโต่ง (extreme weather) ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสนในปีร้อนที่สุดของโลกเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (global warming & climate change) อย่างไร?

ดอกเตอร์พอล เอพสไตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลกแห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้เพิ่งร่วมเขียนหนังสือ Changing Planet, Changing Health: How the Climate Crisis Threatens Our Health and What We Can Do about It (กำหนด ออกโดย University of California Press ในเดือน เม.ย. ศกนี้) ช่วยอธิบายกลไกกระบวนการซึ่งภาวะโลกร้อน (global warming) นำไปสู่อากาศแปรปรวนสุดโต่ง (extreme weather) ว่า:

ปมเงื่อนพื้นฐานของภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (ซึ่งก็คืออากาศมีแบบแผนที่ทั้งร้อนขึ้นและผันแปรไปพร้อมกัน) ก็คือความจริงที่ยังไม่มีใครพูดถึงกันนักว่าในรอบ 50 ปีหลังนี้ ห้วงมหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนไว้ถึง 22 เท่าของบรรยากาศโลก!

ความร้อนที่ก่อตัวสั่งสมสูงเป็นพิเศษในท้องมหาสมุทรรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาส่งผลต่อเนื่อง 2 ประการคือ


ความผันแปรของอุณหภูมิพื้นผิวของโลกในรอบ 2 หมื่นปี โดยที่ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวโลกรอบ 1 หมื่นปีหลังนี้ = 15 องศาเซลเชียส โปรดสังเกตเส้นกราฟความผันแปรของอุณหภูมิที่กำลังเชิดสูงขึ้นในปัจจุบัน

น้ำมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นระเหยกลายเป็นไอน้ำด้วยอัตราเร่งสูงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนัก

บรรยากาศโลกที่อุ่นขึ้นยังโอบอุ้มไอน้ำไว้มากขึ้นด้วย กล่าวคือถ้าบรรยากาศร้อนขึ้น 1 องศาเซลเชียส มันจะอุ้มไอน้ำเพิ่มขึ้น 7%

ในความหมายนี้ ห้วงมหาสมุทรของโลกจึงเสมือนหนึ่งเครื่องจักรที่เพิ่มพูนแรงขับดันจากภาวะโลกร้อนในชั้นบรรยากาศ ผ่านกลไกกระบวนการ 1) และ 2) ข้างต้น ส่งผลให้วงจรอุทกวิทยา (the hydrological cycle หรือวงจรน้ำของโลก) เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จนกระทั่งแบบแผนอากาศผันผวนแปรปรวนในที่สุด บางที่ก็แล้งหนัก, บางที่กลับฝนตกไม่ลืมหูลืมตาอย่างไม่เคยเจอมาก่อน, และบางที่ก็หิมะตกหนา เป็นต้น พอเขียนเป็นสมการเหตุผลเชื่อมโยงได้ดังนี้:

กลไกกระบวนการที่เกิดขึ้น: [ภาวะโลกร้อน --> มหาสมุทรอุ่นขึ้น --> 1) & 2) --> อากาศแปรปรวนสุดโต่ง]

บางคนอาจสงสัยว่าจะบอกว่าโลกร้อนได้ยังไงในเมื่อหลายแห่งหลายที่ของโลกอากาศหนาวจัดเสียจนกระทั่งหิมะตกในที่ไม่เคยตกมาก่อนด้วยซ้ำ แบบนี้มันจะมิใช่เกิดภาวะโลกเย็น (global cooling) ดอกหรือ?

ดร.เอพสไตน์แจกแจงว่า จะหยิบยกเอาเหตุการณ์หรือกรณีอันใดอันหนึ่งเพียงอันเดียวมาวินิจฉัยฟันธงว่าโลกร้อนขึ้นหรือไม่นั้นมิได้ ประเด็นคือปรากฏการณ์ต่างๆ นานาที่เราประสบเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง [ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง] กับ [การเปลี่ยนแปรทางธรรมชาติ] ส่งผลให้แบบแผนอากาศของโลกแปรปรวนรวนเรไปหมด โดยผ่านผลกระทบสืบเนื่องจากท้องมหาสมุทรและแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุม

ฉะนั้น จึงมิควรจดจ่ออยู่แต่กับเหตุการณ์หรือกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะรายแล้วด่วนสรุปโดยไม่จัดวางมันลงบนแบบแผนอากาศโดยรวม

เขายกกรณีตัวอย่างของพลวัตที่ขับเคลื่อนอากาศแปรปรวนปัจจุบันมาสาธกว่า ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์และในทะเลอาร์กติกละลายมากเสียจน กระทั่งมันกลายเป็นแผ่นเกล็ดน้ำแข็งเย็นยะเยียบแผ่ไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและก่อเกิดระบบความกดอากาศสูงขึ้นมา (ตามหลักที่ว่าอากาศร้อนย่อมลอยตัวขึ้นสูง ทำให้แรงกดอากาศต่ำ, ส่วนอากาศเย็นย่อมจมลงล่าง ทำให้แรงกดอากาศสูง)

ภาวะความกดอากาศสูงในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนี้ยืนนานเป็นประวัติการณ์ถึง 15 เดือนและก่อให้เกิดลมแรง อากาศหนาวจัดแผ่กระจายทั่วทวีปยุโรป จนไปจรดกับระบบความกดอากาศต่ำเหนือภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งร้อนระอุ

การที่ภาวะโลกร้อนเหนือเกาะกรีนแลนด์และทะเลอาร์กติกตอนต้น โอละพ่อกลายสภาพมาเป็นอากาศหนาวจัดในยุโรปได้ โดยผ่านกลไกผลกระทบอันยอกย้อนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนี้ สะท้อนให้เห็นพลวัตอันซับซ้อนพลิกผันของแบบแผนอากาศแปรปรวนสุดโต่งในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไม่อาจมองปรากฏการณ์หนึ่งๆ อย่างฉาบฉวยผิวเผินหยาบง่ายตื้นเขินแล้วสรุปรวบรัดเพราะหนาวหิมะจนตัวสั่นว่า

"โลกมันกำลังเย็นลงต่างหาก!" ได้

ดร.เอพสไตน์สรุปตามธรรมเนียมวิทยาศาสตร์ว่า ไม่ว่าจะพิจารณาโดย :

1) แบบจำลอง : [ภาวะโลกร้อน --> มหาสมุทรอุ่นขึ้น --> 1) & 2) --> อากาศแปรปรวนสุดโต่ง] ซึ่งบัดนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในบรรดางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

2) ข้อมูล : แสดงชัดว่ามหาสมุทรอุ่นขึ้น, ฝนตกหนักขึ้น, ภาวะแห้งแล้งเพิ่มขึ้น

3) หลักการขั้นมูลฐาน : ที่ว่าก๊าซเรือนกระจก - อันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล 80% และการตัดไม้ทำลายป่าอีกราว 20% - เป็นตัวกักความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศโลก

ล้วนบ่งชี้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นตัวการทำให้อากาศแปรปรวนสุดโต่ง ไม่ว่าหิมะตก ฝนหนักน้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดก็ตาม




จาก ........................ มติชน วันที่ 22 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม