ชื่อกระทู้: แผ่นดินที่หายไป (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #38  
เก่า 23-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,116
Default


บางขุนเทียน: ด่านหน้ารักษาดินแดน .... (ต่อ)


คงศักดิ์บอกว่าทุกวันนี้ปัญหาการกัดเซาะของพื้นที่สามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดแล้ว อย่างน้อยก็ไม่โดนกัดเซาะเพิ่ม ได้งบประมาณจากหน่วยงานราชการปีละ 10 ล้านบาท เป็นงบที่ให้มาเพื่อรอจนกว่าโครงการใหญ่ๆของนักวิชาการหรือของภาคราชการจะทำแล้วเสร็จ เงินงบประมาณปีละ 10 ล้านบาทนี้เป็นสิ่งที่คงศักดิ์และชุมชนร้องขอ เพื่อปักแนวไม้ไผ่ให้ได้ตลอดแนว 4.7 กิโลเมตรตามแนวชายทะเลของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

“ถือว่า กทม.ตอบสนองค่อนข้างดีในการให้งบ ถ้าไม่ทำเลยชาวบ้านจะเสียแผ่นดิน อย่างน้อยปีละ 6 เมตรทุกปี คิดแล้วงบประมาณแค่นี้เพื่อรักษาแผ่นดินถูกมาก แต่ถ้าจะมีโครงการใหญ่ต้องใช้งบเยอะและขั้นตอนก็ตั้งแต่ทำประชาพิจารณ์กว่าจะจบก็ใช้เวลานาน ชาวบ้านคงรอไม่ได้”

ส่วนไม้ไผ่ที่ได้งบจัดซื้อเอามาทำแนวชะลอคลื่นก็มีบางหน่วยงานที่โจมตีว่า ไม้ไผ่เยอะขนาดนี้แล้วไม่เป็น การตัดไม้ทำลายป่าจากที่หนึ่งมาไว้อีกที่หนึ่งหรือ

“ไม้ไผ่ที่เราเอามาเป็นผลดีกับเจ้าของป่าไผ่เสียอีก เพราะต้องตัดลำไผ่แก่เพื่อเลี้ยงหน่อแทนที่จะตัดทิ้งก็เอามาขายเรา ก็จองป่าซื้อล่วงหน้ากันเลย ได้ขนาดก็ตัดมาให้เราที่บางขุนเทียนเราจะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว ใหญ่กว่าของผู้ใหญ่หมูที่โคกขาม ไม้ที่เราปักรุ่นแรกตั้งแต่ปี 2534 ก็ยังมีให้เห็นอยู่เลยแต่ดำปี๊ดแสดงว่า ไม้ไผ่ทนอยู่ได้นาน แต่ตอนนั้นปักสองข้างแล้วใช้ทิ้งหินลงไปไม่ใช่เอามาทำแบบนี้”

การปักแนวไม้ไผ่ที่บางขุนเทียนจะต่างจากที่โคกขามเล็กน้อย ที่โคกขามจะปักในช่วงน้ำลด แต่บางขุนเทียนค่อนข้างเร่งงานน้ำไม่ลดก็ต้องลงไปทำเพื่อแข่งกับเวลา ช่วงงานเร่งก็ใช้รถแบ็กโฮลงช่วยปักไม้ไผ่ร่วมกับแรงงานคน ซึ่งต้องใช้คนจำนวนไม่น้อยสำหรับการปักไม้ไผ่ความยาวขนาด 5 เมตร

วิธีการปักที่บางขุนเทียนจะปักไม้ไผ่เป็นแนวตรงทั้งหมดเพราะจะง่ายกว่าแบบสามเหลี่ยมแบบที่โคกขาม ไม้ไผ่ที่จะปักไม่ต้องทำให้แหลมเพราะดินอ่อนปักง่าย มีเทคนิคนิดเดียวแค่เอาส่วนปลายปักลงดิน ส่วนที่อยู่ในดินจะไม่ค่อยผุแล้วเอา โคนต้นซึ่งใหญ่กว่ามาสู้กับน้ำ วันหนึ่งปักได้สัก 50 เมตรก็ถือว่าเต็มที่ ปักเสร็จตะกอนเลนก็จะเข้ามาตามช่องไม้ไผ่ซึ่งมีลำคดงอเป็นช่องให้น้ำไหลเข้าได้ แต่ถ้ามองแนวเฉียงจะดูเหมือนเป็นกำแพงหนาและถี่มาก

จริงๆจะว่าไปแนวไม้ไผ่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชุมชนและเห็นกันมานานในฟาร์มหอยแมลงภู่ แต่การเลี้ยงหอยใช้ไม้รวกลำเล็กปักให้หอยแมลงภู่เกาะ พอหอยโต ในฟาร์มหอยก็มักจะมีตะกอนดินขึ้นสูงในก่ำหรือในกลุ่มไม้รวกที่ปักไว้ และมักพบเนินดินขึ้นหลังฟาร์มหอย คนเลี้ยงต้องถอนเอาไม้สลับข้างบนลงล่างเพื่อหนีตะกอนเลน ฟาร์มหอยจึงเป็นตัวช่วยที่ดึงตะกอนเลนและชะลอคลื่นได้ชุดหนึ่ง แต่ที่ใช้ทำแนวสร้างดินไม่ได้เพราะฟาร์มหอยต้องทำในทะเลห่างจากฝั่งไปอีก 3 กิโลเมตร

ภูมิปัญญาชาวบ้านจากฟาร์มหอยแมลงภู่เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกมา แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่สรุปออกมาเป็นแนวไม้ไผ่นี้นี่เอง

“เราใช้คำว่าแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เคยเรียกว่าเขื่อนไม้ไผ่ แต่เป็นเขื่อน เดี๋ยวต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ถ้าพูดว่าเป็นแนวไม้ไผ่มันเป็นโครงสร้างอ่อนไม่ต้องรอ ทำได้เลย เราเลือกทำจุดแรกตรงด้านหน้าที่ราชพัสดุเพราะเป็นที่ไม่มีเจ้าของและเว้าลึกที่สุด”

น่าดีใจว่า คนในชุมชนบางขุนเทียนที่ออกมาช่วยกันทำแนวไม้ไผ่ มีตั้งแต่ชาวบ้านวัย 50 ปีไล่ลงมาถึงวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี ซึ่งหมอโตเชื่อว่าการที่คนหลายรุ่นในชุมชนหันมาทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นการสะท้อนถึงอนาคตของชุมชนที่คงทำให้มีคนเสียสละทำงานเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เมื่อแนวไม้ไผ่ขยายถึงแนวที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิของเอกชน พวกเขามีกฎเกณฑ์อะไรที่จะไม่ทำให้เจ้าของที่ดินใช้สิทธิ์ในพื้นที่ตนเองเมื่อได้แผ่นดินและป่ากลับมา

“พอเราสามารถทวงพื้นดินคืนมาได้ เราบอกเจ้าของที่ว่าขอให้ชุมชนนะ อย่าไปรุกล้ำ อย่าไปแผ้วถางที่จะทำนากุ้งต่อ เราจะปลูกป่าเพิ่มให้หนาขึ้น โฉนดยังเป็นชื่อของคุณ เราขอแค่สิทธิ์ เป็นข้อตกลงปากเปล่า คงบังคับไม่ได้ แต่ขอและให้กันด้วยใจ เป็นเรื่องของจิตอาสามากกว่า เพื่อช่วยกันป้องกันการกัดเซาะแล้วระบบนิเวศก็จะกลับมา เชื่อว่าเขาน่าจะรักษาคำพูด และรู้ดีว่าถ้าเราไม่ทำ ที่ของเขาก็จะหายไปเรื่อยๆ แต่เมื่อชุมชนทวงที่ดินคุณกลับมา คุณก็ควรจะให้อะไรกับชุมชน”

ไม้ชายเลนที่ชุมชนนำมาปลูก ที่นิยมเห็นกันบ่อยคือต้นโกงกาง เป็นไม้ที่เข้ามาทีหลัง ไม้ท้องถิ่นที่มีอยู่มากในพื้นนี้คือต้นแสม ซึ่งเมื่อปลูกมากขึ้น ก็เริ่มเห็นเม็ดแสมลอยในผืนป่ามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งศึกษาธรรมชาติ ซึ่ง กทม.เข้าไปทำทางเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความยาว 1,300 เมตรไว้แล้วในพื้นที่

สำหรับพื้นที่บางขุนเทียน คงศักดิ์บอกว่า ถ้าบริษัทไหนทำกิจกรรมซีเอสอาร์แล้วอยากเข้ามาปลูกป่า คงจะลำบากหน่อย เพราะต้องเดินเท้าเข้ามา และจุดที่ปลูกจะต้องเป็นหลังแนวไม้ไผ่หรือพื้นที่ที่อยู่ลึกบริเวณที่มีป่าอยู่บ้างต้นไม้ถึงจะอยู่รอด เพราะถ้าเลือกปลูกง่ายๆในตะกอนเลนที่เกิดใหม่หรือใกล้ชายฝั่งเกินไป กล้าไม้เล็กๆจะไม่มีแรงยึดเกาะที่ทนต่อกระแสน้ำได้ แค่คนปลูกคล้อยหลัง คลื่นก็ซัดกล้าไม้ลอยตามกลับไปแล้ว

แม้จะต้องเจอปัญหาการการกัดเซาะ แต่ทะเลบางขุนเทียนก็นับว่าโชคดีอยู่บ้างในบางเรื่อง

ถ้าเทียบกับพื้นที่ชายฝั่งระหว่างชายฝั่งกรุงเทพฯที่บางขุนเทียนกับชายฝั่งแถวจังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ขนาบทะเลบางขุนเทียน ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่ปากอ่าวทำประมงน้ำเค็มเป็นหลักเหมือนกัน และเป็นปลายทางของแม่น้ำสายต่างๆที่ไหลลงอ่าวไทยทั้งท่าจีน เจ้าพระยา บางปะกง แถมด้วยการเป็นแหล่งระบายน้ำของคูคลองอีกหลายสาย เฉพาะบางขุนเทียนก็มีคลองหลักๆในพื้นที่ ได้แก่ คลองสนามชัย คลองหัวกระบือ/คลองขุนราชพินิจใจ คลองพิทยาลงกรณ์ และคลองแสมดำ

“ของกรุงเทพฯ ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้เราโชคดีที่ไม่มีโรงงาน แต่ฝั่งสมุทรปราการและสมุทรสาครจะเจอหนักกว่าเรื่องสารพิษจากน้ำเสียที่ตกตะกอนอยู่ในสัตว์น้ำ แต่ระยะหลังเราก็เริ่มได้ผลกระทบเรื่องน้ำเสียเพิ่มขึ้นผลผลิตเริ่มลดน้อยลง เพราะ กทม.ในเขตฝั่งธนบุรีมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ซึ่งภาคีเครือข่ายที่ตั้งขึ้นกำลังเฝ้าระวังกัน คาดว่าเขาจะทำให้ดีเหมือนฝั่งพระนครที่บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อย”

ถ้าไม่เป็นอย่างที่คงศักดิ์คาดการณ์ น้ำเสียจะกลายเป็นอีกปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาในพื้นที่ เพราะเขาบอกว่าตอนนี้ทุกปีในพื้นที่ ก็มีเทศกาลน้ำเสียประจำปีอยู่แล้ว โดยจะเกิดขึ้นราวช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ลมจากทุกทิศทางพัดปะทะกันจนปั้นน้ำเสียเป็นก้อนและไม่กระจายไปในทะเล ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปลาตายลอยให้ชาวบ้านมาช้อนไปขายเป็นประจำทุกปี

หลังทีมงานเรื่องน้ำจากเนเธอร์แลนด์ลงมาฟังข้อมูลสรุปจากคงศักดิ์พร้อมบินดูพื้นที่ เขาก็ไม่ได้หวังว่าระดับนโยบายจะเดินหน้าไปอย่างไร เพราะทุกวันนี้เขาและชุมชนยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลาในพื้นที่

“ผมก็จะยังเขย่าข่าวหรือสร้างความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ก็ผลักดันจนการกัดเซาะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แต่พอเป็นวาระแห่งชาติแล้วนี่แหละอันตรายที่สุด เพราะวาระแห่งชาติคือเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะที่จะกลายเป็นเรื่องนิ่ง”

ดังนั้นระหว่างวาระแห่งชาติเดินไปตามเส้นทางของมัน คงศักดิ์ก็จะยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายภาคประชาชนต่อไป จาก 1 ชุมชนเป็น 6 ชุมชน ตอนนี้เครือข่ายของเขาขยายข้ามจังหวัดกลายเป็นเครือข่ายรักอ่าวไทย โดยรวมตัวกันตั้งแต่ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีเลียบชายฝั่งทะเลไปถึงจังหวัดตราด

“หน่วยงานรัฐมีขอบเขตของจังหวัด เป็นตัวแบ่งแยก แต่ภาคประชาชนของเรา เราเชื่อมชายฝั่งถึงตราดแล้วมาสุดทางภาคตะวันตกที่เพชรบุรี จากเพชรบุรีลงไปใต้ทั้งอันดามันทั้งอ่าวไทยเขาจะมีคณะกรรมการเขาอยู่แล้ว เหมือนที่ผมทำ แต่แบ่งเป็นท่อนๆ พอระยะสักปีหรือครึ่งปี เรามาประชุมกันที สุดแท้แต่เขาจะจัดที่ไหน ประชุมในเครือข่าย กลุ่มย่อยก็จะมีประชุม กันสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง แต่ถ้าเรื่องด่วนเราจะเรียกเลย เร็วอาจจะเดือนละครั้งเวลามีอะไรเข้ามา”

คงศักดิ์อธิบายการทำงานของเครือ ข่ายที่ดูเหมือนจะรวดเร็ว ทันสมัยและเข้าใจการทำงานที่ไม่ใช้เส้นแบ่งพื้นที่หรือเขตแดนเป็นข้อจำกัดได้ดีกว่าหน่วยงานรัฐที่มีอยู่เสียอีก

จากเครือข่ายที่ขยายตัวจับกลุ่มกันแน่นขึ้นในภาคประชาชน คนในชุมชนแห่งนี้ก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตพื้นที่ดินและป่าในชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนก็จะจับกลุ่มกันแน่นขึ้นๆ เหมือนเครือข่ายและภาพอดีตในวัยเด็กของคงศักดิ์ที่ยังจดจำได้ดีว่า สมัยนั้นกว่าที่เขาจะพาตัวเอง ออกไปเห็นทะเลบางขุนเทียนได้ จะต้องเดินเลาะคันนากุ้งและแทบจะต้องมุดผ่านป่าแสมที่แน่นทึบ เจอทั้งตัวนาก เสือปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย เพื่อออกไปงมกุ้งและจับปลาในวันหยุดกับเพื่อนๆอย่างสนุกสนาน กลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกครั้ง เพราะปฏิบัติการทวงคืนแผ่นดินของพวกเขาเห็นผลมากขึ้นทุกวัน

ที่สำคัญพวกเขาจะไม่ปล่อยปละละเลยให้คลื่นลมและทะเลเอาป่าและแผ่นดินไปจากชุมชนเหมือนเมื่อช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอีก




จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 23-03-2011 เมื่อ 08:06
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม