ดูแบบคำตอบเดียว
  #72  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

GREENPEACE
30-05-2015

นิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนไม่ได้ช่วยปลดล็อกใบเหลืองอียู แต่กลับซ้ำเติมวิกฤตทะเลไทย

รัฐบาลกำลังปลดล็อคใบเหลืองอียูเพื่อใคร? เป็นประเด็นที่สังคมกำลังจับตามอง พร้อมกับมีข้อกังขาที่เกิดขึ้นถึงมาตรการแก้ไขวิกฤตปัญหาทะเลไทยอย่างไร ให้ยั่งยืนและเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมธิการยุโรป (European Commission) แจ้งเตือนต่อรัฐบาลไทยอย่างเป็นทางการ กรณีที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพียงพอในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing) โดยให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินตามมาตรการต่างๆ เพื่อถอดถอนใบเหลือง

แต่ในมาตรการการจัดการปัญหาภายใต้แผนระดับชาตินั้น กรมประมงมีแผนการ “นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน” จำนวน 3,199 ลำโดยจะออกอาชญาบัตรเครื่องมือประมงอวนลากให้กับเรือประมงอวนลากที่ผิดกฏหมายเหล่านี้

งานวิจัยหลายชิ้นสนับสนุนว่าการทำประมงอวนลากในประเทศไทยส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว รวมทั้งยังทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของทรัพยากรสัตว์น้ำ ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการัง หญ้าทะเล ระบบนิเวศพื้นท้องทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านในทะเลเพื่อดักจับปลาให้เสียหายอยู่เสมอ ซึ่งกรมประมงก็ตระหนักในปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี

“ประมงอวนลากได้ทำร้ายทะเลไทยและชุมชนประมงชายฝั่งอย่างรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน การแก้ปัญหา IUU Fishing ต้องไม่ผลักสถานการณ์ประมงไทยให้เลวร้ายไปกว่านี้ ด้วยการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน ในทางกลับกันรัฐควรจะพลิกวิกฤตที่ EU ให้ใบเหลืองประมงไทยเป็นโอกาสต่อมาตรการกำจัดเครื่องมือประมงทำลายล้างเหล่านี้ให้หมดไป” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดินกล่าว

ปัญหาวิกฤตทะเลไทยที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่อุตสาหกรรมการประมงของไทย แต่ยังส่งผลต่อชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นผู้ทำประมงอย่างยั่งยืนและอนุรักษ์ท้องทะเลไทย รวมถึงต่อผู้บริโภคอาหารทะเลที่พึ่งพาความมั่นคงทางอาหารของไทย



ในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2558 พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจาก สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยอง สมุทรสงคราม และสงขลาและเครือข่ายภาคประชาสังคมรวมกว่า 80 คน ได้รวมตัวกันหน้าศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย เพื่อยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมเรียกร้องมาตรการการจัดการปัญหาใบเหลืองประมง ในแผนการจัดการปัญหาประมงระดับชาติซึ่งยังไม่นำไปสู่การจัดการปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม

ป้ายข้อความ “ใบเหลืองอียูปลดล็อคเพื่อใคร” ถูกชูขึ้นเบื้องหน้าศูนย์บัญชาการการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย พร้อมกับความหวังที่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และภาคประชาสังคมฝากไว้ให้กับภาครัฐให้หยุดการนิรโทษกรรมเรือประมงผิดกฎหมายและทำลายล้าง ซึ่งรวมถึง เรืออวนลาก อวนรุน อวนล้อมปั่นไฟปลากะตักกลางคืน และอวนล้อมปลากระตักกลางวัน

นอกจากจะตอกย้ำให้ภาครัฐรับรู้ถึงวิกฤตทะเลที่เกิดจากการเครื่องมือประมงแบบทำลายล้างแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ภาคประชาสังคมร่วมกันเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการคือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนประมงพื้นบ้าน ชาวประมงชายฝั่ง และภาคประชาชนอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการร่างแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (NPOA-IUU) รวมถึงการร่างกฏหมายลูกที่จะมารองรับกฏหมายประมง พ.ศ.2558



“EU Yellow Card. People Before Profit” คืออีกหนึ่งข้อความที่ส่งถึงคณะกรรมการอียู ด้วยข้อกังวลว่า ภาครัฐจะคำนึงถึงเฉพาะผลประโยชน์ทางธุรกิจของอุตสาหกรรมการประมงที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่ม โดยที่มองข้ามวิกฤตปัญหาทางทรัพยากรที่เกิดขึ้น และละเลยผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาว เพราะผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นไม่ใช่มีแค่อุตสาหกรรม แต่มีชาวประมงพื้นบ้านที่อนุรักษ์และฟื้นฟู รวมถึงผู้บริโภคที่มีส่วนในการกินอาหารทะเลที่เป็นธรรม และเป็นเจ้าของทะเลด้วยเช่นกัน

“การใช้ใบเหลืองอียูเป็นข้ออ้างในการนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนของกรมประมงนี้ถือเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการออกมาตรการ IUU Fishing เพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน และยังจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนในการบริหารจัดการประมงและทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทยอย่างมหาศาล ตลอดจนสร้างความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรประมงของประชาชนในประเทศเป็นวงกว้างอีกด้วย” บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว

อนาคตของทะเลไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดมาตรการครั้งนี้ของรัฐเท่านั้น แต่เราชาวไทยทุกคนสามารถร่วมกันผลักดันทางออกที่ยั่งยืนของทะเลไทยได้ ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคและเป็นเจ้าของทะเล เพราะทะเลไทยไม่ใช่สมบัติของอุตสาหกรรมการประมงบริษัทใดที่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว การปกป้องทะเลไทยด้วยการหยุดนิรโทษกรรมเรือประมงแบบทำลายล้างของภาครัฐในครั้งนี้ จะช่วยให้ทะเลไทยฟื้นตัว และสามารถผลิตอาหารทะเลให้เราและลูกหลานได้มีกินมีใช้กันไปอีกนาน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม