ดูแบบคำตอบเดียว
  #74  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

greennewstv
03-06-2015

แนะคนกรุงกินปลาแบบช่วยรักษาทะเล



อาหารทะเลตามท้องตลาดมาจากประมงแบบทำลายล้าง ตัดวงจรลูกปลา สูญเสียแนวปะการัง – แนะผู้บริโภคทำความรู้จักสัตว์น้ำอินทรีย์ ยื้อชีวิตทะเลไทย ต่อลมหายใจประมงพื้นบ้าน

ทีมข่าวสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมมาเยือนแผงขายอาหารทะเลสด ในพื้นที่กลางกรุงย่านเอกมัย ที่มีชื่อหน้าร้านว่า “โครงการประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์” สินค้าในวันนี้มีตั้งแต่ปลาทรายจากอวนลอย ปลาเก๋าที่ตกได้จากเบ็ดชาวประมงน่านน้ำทะเลกระบี่ ปลาครูดคราดสัตว์น้ำท้องถิ่นฝั่งอันดามันที่ชื่ออาจไม่คุ้นหู รวมทั้งปลานิลน้ำกร่อยที่ตกได้จากทะเลสาบสงขลา ดูเผิน ๆ แผงขายปลานี้เหมือนทุกที่ทั่วไป แต่สัตว์น้ำที่นำมาจำหน่ายกลับแตกต่างจากท้องตลาดที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึง



อาหารทะเลสดตามท้องตลาดส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดมาจากประมงพาณิชย์ ซึ่งนิยมใช้เครื่องมือแบบทำลายล้าง เช่น อวนลาก อวนรุน ที่วิธีการจะกวาดต้อนสัตว์น้ำมาทั้งหมด นอกจากได้สัตว์น้ำขนาดที่ต้องการแล้วยังจับสัตว์เศรษฐกิจวัยอ่อน สัตว์สงวน และปะการังหรือหญ้าทะเลขึ้นมาด้วย สัตว์น้ำที่สภาพดีจะถูกแยกออกไปขายยังท้องตลาด ส่วนปลาที่สภาพไม่ดี ปลาตัวเล็กตัวน้อย ที่เรียกว่าปลาเป็ดจะถูกส่งเข้าโรงงานอาหารสัตว์ทำเป็นปลาป่น ทั้งนี้สัตว์น้ำทะเลที่ถูกอัดอยู่ในถุงอวนเป็นเวลานานตั้งแต่ทะเลถึงชายฝั่งและการขนส่งมาถึงตลาด มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการใช้สารเคมีเพื่อรักษาสภาพความสดให้ยังคงขายได้ราคา

กลายเป็นรูปแบบการประมงแบบไม่รับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้บริโภคก็ยังคงเลือกซื้อเลือกกินสัตว์น้ำจากการทำประมงรูปแบบนี้


ภาพจากคลิป Where does our SEAFOOD come from?? : https://www.youtube.com/watch?v=JB7p2msCcF4

ส่วนสินค้าจากโครงการประมงพื้นบ้านสัตว์น้ำอินทรีย์มีกระบวนการที่แตกต่างกัน โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นผู้ริเริ่มโครงการ ภายใต้การสนับสนุนงบของสหภาพยุโรป ที่นำสินค้าจากประมงพื้นบ้านที่มีความรับผิดชอบ และได้การรองรับจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับไปถึงแหล่งการทำประมงว่าวิธีการจับและผู้จับเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ รวมทั้งสัตว์ที่ได้จะต้องมีการดูแลคุณภาพให้สดโดยไม่ปนเปื้อนสารเคมีทุกขั้นตอน

“ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ” ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน – สัตว์น้ำอินทรีย์ ระบุว่าสินค้าที่นำมาจำหน่วยมาจากกลุ่มประมงพื้นบ้านที่ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ในพื้นที่อยู่แล้ว ได้แก่ 1.กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 2. แพปลาชุมชน ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 3. แพปลาชุมชนบ้านหินร่วม ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา 4. แพปลาชุมชนบ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง 5. แพปลาชุมชนบ้านคุขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา และกำลังขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม

“ประมงพื้นบ้านออกเรือเช้ามาเย็นกลับ หรือไปแค่วันสองวัน เขาใช้เครื่องมือมีลักษณะคัดเลือกจับสัตว์น้ำ เช่น อวนลอย ลอบ หรือไซ ซึ่งระบุชัดเจนว่าจะได้สัตว์น้ำที่มีชนิดและขนาดตามที่ต้องการ ก่อนจะเอาขึ้นมาขาย”

สินค้าคุณภาพเหล่านี้แต่เดิมจะมีพ่อค้าคนกลางมาซื้อถึงหมู่บ้านก่อนนำไปขายยังต่างประเทศหรือร้านอาคารในโรงแรม อีกส่วนถูกนำไปขายรวมกับปลาที่ได้จากเรือพาณิชย์ การเปิดโอกาสให้สินค้าจากประมงพื้นบ้านมาถึงมือผู้บริโภคโดยตรงจึงทำให้ชาวประมงมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนคนซื้อก็ได้เข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพ ปราศจากสารเคมี และไม่ส่งเสริมการทำลายทรัพยากรในทะเล

“ปลาแป้น จากที่เคยไม่มีมูลค่าเลย มักถูกนำไปทำเป็นอาหารเลี้ยงปลาในกระชัง แต่เมื่อส่งเสริมให้ชุมชนแปรรูป จากกิโลกรัมละไม่กี่บาทก็มีมูลค่าได้ แล้วเราก็จะแนะนำลูกค้าให้รับประทานปลาแป้นที่มีแคลเซียม ซึ่งดีกว่าการทานปลาสายไหมหรือปลาข้าวสารที่เป็นลูกปลากระตักซึ่งไม่ควรรับประทาน” ผู้จัดการโครงการ กล่าว


ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน – สัตว์น้ำอินทรีย์

สินค้าในร้านมีทั้งปลากะพงหิน (ครูดคราด) ปลาเก๋า ปลากะพงแดง เนื้อกะพงขาวแล่ เนื้อปลาน้ำดอกไม้ ปลาอินทรีย์แว่น ปลากุเราแว่น กุ้งแชบ๊วยหลายขนาด กุ้งแห้ง เนื้อปลาสีเสียดแล่ ปลาขี้เก๊ะ หรือเปลี่ยน ไปตามฤดูกาล ทั้งนี้จะคัดสัตว์น้ำท้องถิ่นรสชาติดีที่ไม่มีขายในกรุงเทพ ฯ มาแนะนำให้เลือกซื้อด้วย โดยสามารถสั่งซื้ออนไลน์ หรือเดินทางมาซื้อถึงหน้าแผง ผู้สนใจติดตามรายละเอียดได้ทางเพจเฟสบุ๊ค @เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล

ซึ่งนอกจากสินค้าอาหารทะเลที่นำมาจำหน่าย ยังจัดกิจกรรมให้ผู้บริโภคลงพื้นที่สัมผัสการทำประมงพื้นบ้านด้วยตาตนเอง รวมทั้งอีกหนึ่งกิจกรรม “กินปลา-รักษาทะเล” ในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ณ ครัวใส่ใจ ซ.วิภาวดี 22 ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะทำให้คนกรุงได้รู้จักการเลือกบริโภคบนแนวทางรับผิดชอบต่อธรรมชาติให้มากขึ้น

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม