ดูแบบคำตอบเดียว
  #95  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
6-07-15

บทความ : รู้จัก “กฎหมายประมงฉบับใหม่”



พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ได้ใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สาระสำคัญ ของกฎหมายในหลาย ๆ เรื่องไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของการประมงในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ซึ่งจำเป็นต้องทำการปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ เพื่อให้กฎหมายประมงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการการประมงของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต กรมประมงจึงได้จัดทำพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 โดยยกเลิกกฎหมายเดิมทั้งฉบับ และเพิ่มหลักการใหม่ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. กำหนดให้มีการแบ่งเขตการประมงในน่านน้ำไทยออกเป็น 3 เขต อย่างชัดเจน ได้แก่ เขตประมงน้ำจืด เขตประมงทะเลชายฝั่ง และเขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง โดยในแต่ละเขตจะมีการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และตามประเภทของเครื่องมือประมง ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดเขตพื้นที่ทำการประมง ทำให้เครื่องมือประมงที่ได้รับอนุญาตสามารถทำการประมงในทะเลได้อย่างเสรีในเกือบทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหา การแย่งชิงพื้นที่ทำการประมง และมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น เช่น ระหว่างชาวประมงพื้นบ้านหรือเครื่องมือประมงขนาดเล็ก กับชาวประมงที่ทำการประมงในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งหลักการนี้จะช่วยลดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ลดความขัดแย้งระหว่างชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงต่างประเภทกัน และเกิดความสะดวกต่อการบริหารจัดการในแต่ละเขตพื้นที่

2. กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและ มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยรัฐมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนผู้ประสงค์ จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตนให้ได้มาตรฐาน และออกหนังสือรับรองให้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐสามารถออกมาตรการควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางประเภทให้มีคุณภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงของประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า

3. กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมด้านสุขอนามัย โดยรัฐมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติ ขั้นพื้นฐานด้านสุขอนามัยสำหรับประชาชนผู้ประสงค์ทำให้สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของตนมีสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน และออกหนังสือรับรองให้ นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัยของสัตว์น้ำ ในกิจการบางประเภท นับตั้งแต่ขั้นตอนการจับ การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ และการขนส่ง อันจะส่งผลให้สามารถรักษาคุณภาพสัตว์น้ำให้มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น

4. กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมง อันจะทำให้รัฐสามารถกำหนดมาตรการด้านการบริหารจัดการได้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชน เป็นหลักการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีส่วนร่วมในหลายลักษณะ ได้แก่ การให้ตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

การให้ตัวแทนภาคประชาชนจากองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมประมง มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในเขตพื้นที่จังหวัดให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางการประมงของจังหวัด รวมทั้งการพิจารณาแก้ไขปัญหาและพัฒนาการประมงในเขตพื้นที่ดังกล่าว ภายใต้หลักการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และรับผิดชอบร่วมกัน

การกำหนดให้กรมประมงมีหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตประมงทะเลชายฝั่ง โดยให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายการพัฒนาการประมงให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถในการทำประมง การให้คำปรึกษา การช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานหรือกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานดังกล่าว

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการประมงนอกน่านน้ำไทย เพื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหา เสนอแนะนโยบายและแนวทางการพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทย ต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ และเสนอแนะต่อหน่วยงานในการออกกฎ ระเบียบต่างๆ ในการจัดระเบียบการใช้เรือไทยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทยเป็นการเฉพาะ เพื่อส่งเสริมการทำประมง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างเป็นระบบ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ชาวประมงไทยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำอย่างมีจรรยาบรรณ ไม่กระทำผิดกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ

สำหรับหลักการในเรื่องอื่น ๆ ยังคงยึดถือแนวทางตามกฎหมายฉบับเดิมซึ่งมีความเหมาะสมอยู่แล้ว เพียงแต่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เช่น การกำหนดอัตราโทษ อัตราค่าอากร ค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น กรมประมงได้เริ่มยกร่างกฎหมายนี้ในปี พ.ศ. 2543 โดยเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนหลายครั้งมาอย่างต่อเนื่อง และได้ทำการแก้ไขปรับปรุงมาเป็นลำดับ จนท้ายที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไป



พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการประมง และสภาพของสังคมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้ประชาชนหรือชุมชนประมงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างสมดุล เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และกำหนดมาตรการส่งเสริมให้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงหรือจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีคุณภาพได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและจัดระเบียบการใช้เรือประมงไทยในการทำการประมงนอกน่านน้ำไทย

ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายประมงฉบับใหม่ จะเป็นคำตอบหรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทางการประมงในปัจจุบัน และพัฒนาการประมงของประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ของกรมประมงที่ว่า “มุ่งสู่การเป็นผู้นำทางการประมงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม