ดูแบบคำตอบเดียว
  #99  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default


โพสต์ทูเดย์
7-07-15


ฟื้นทะเลสาบสงขลา ทวงคืนโลมาอิรวดี ............................ โดย...อัสวิน ภฆวรรณ



ทะเลหลวง หรือทะเลสาบสงขลาตอนบน ในพื้นที่ อ.กระแสสินธุ์ จ.พัทลุง มีพื้นที่กว้างที่สุดประมาณ 460 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ แทบไม่มีน้ำเค็มเข้ามาปะปน จึงเป็นแหล่งวางไข่ ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมทั้งโลมาอิรวดี แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลา น้ำเสียที่เข้ามาปะปน การใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท กระทบต่อโลมาอิรวดีอย่างหนัก ในแต่ละปีจะพบซากโลมาอิรวดีลอยตายปีละเกือบสิบตัว ทำให้พื้นที่ทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะทะเลหลวง ถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่วิกฤตที่สุดของโลมาอิรวดี

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง (พัทลุง-สงขลา) ได้ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดีในพระบรมราชินูปถัมภ์ เอาจริงเอาจังกับการลักลอบหาปลาในเขตพื้นที่ถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งได้ปักแนวเขตอย่างชัดเจน เพื่อกันไว้เป็นเขตคุ้มครองพิเศษแก่โลมาอิรวดีจำนวน 100 ไร่ 3 ปีผ่านไป ไม่เพียงลดการสูญเสียโลมาอิรวดีลงได้เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

จำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง บอกว่า หลังจากที่ได้ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดีในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดสร้างซั้งบ้านปลาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของโลมาอิรวดี ปรากฏว่ามีผลเกินคาด มีกุ้ง หอย ปู ปลา อย่างชุกชุม โดยได้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างเก็บผลผลิตจากการจัดทำซั้งบ้านปลา จำนวน 10 ซั้ง จากพื้นที่ 100 ซั้ง ซึ่งสามารถพบชนิดปลากว่า 9 ชนิด ชนิดปลาที่พบมากที่สุด เช่น ปลากดคัง

“แต่ชาวบ้านได้นำอวนมาลักลอบวางปลา ทอดแห และดักไซ จนมีผลกระทบต่อโลมาอิรวดี ผมได้ว่ากล่าวตักเตือน และสั่งห้ามเข้าพื้นที่เขตคุ้มครองพิเศษอย่างเด็ดขาด หากยังพบการลักลอบอีก จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด”

จำนงเล่าว่า ความสูญเสียโลมาอิรวดี จากสถิติปี 2555 พบเสียชีวิตจำนวน 14 ตัว เป็นเพศเมีย 10 ตัว เพศผู้ 3 ตัว และไม่ทราบเพศจำนวน 1 ตัว ส่วนใหญ่สาเหตุการตายมาจากติดอวนปลาบึก และพลัดหลงจากแม่ ปี 2556 เสียชีวิตจำนวน 4 ตัว เป็นเพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ 2 ตัว ปี 2557 พบเสียชีวิตจำนวน 6 ตัว เป็นเพศเมีย 3 ตัว เพศผู้ 1 ตัว และไม่ทราบเพศจำนวน 2 ตัว สาเหตุการตายคือพลัดหลงจากแม่ ป่วย และแก่ตาย และล่าสุดปี 2558 พบโลมาอิรวดีเสียชีวิตจำนวน 2 ตัว เป็นเพศเมีย 1 ตัว ไม่ทราบเพศ 1 ตัว ส่วนสาเหตุการตายยังไม่แน่ชัดเช่นกัน และคาดว่ามีโลมาอิรวดีตัวเป็นๆ เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนบนเพียง 25-30 ตัวเท่านั้น โดยเสียชีวิต 4 ปี รวม 26 ตัว



โลมาอิรวดีไม่เพียงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญา ไซเตส โดยจัดให้อยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโลมาอิรวดีน้ำจืดในทะเลหลวงไว้เป็นสัตว์ป่าในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตามประกาศจังหวัดพัทลุง ณ วันที่ 3 ต.ค. 2544

“ปัจจุบันสถานการณ์ภัยคุกคามโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาตอนบน มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย การลักลอบหาปลา แหล่งอาหารลดลง การผสมสายพันธุ์เดียวกันจนเกิดสายเลือดชิด มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี การทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล การชะล้างพังทลายของตะกอนดิน จนเกิดการทับถมและตื้นเขิน”

จำนง บอกว่า เมื่อปี 2556 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และชาวบ้านริมทะเลใน 2 จังหวัด จัดโครงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในพระบรมราชินูปถัมภ์ 3 ปีที่ผ่านมาอบรมชาวบ้านไปแล้วกว่า 300 คน และจัดทำซั้งบ้านปลาปีละ 100 ซั้ง เป็นการสร้างแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้โลมาอิรวดีน้ำจืด และชุมชน

สมใจ รักษ์ดำ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดี จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า โครงการจัดสร้างซั้งบ้านปลาเป็นความหวังในการกู้วิกฤตให้โลมาอิรวดีมีถิ่นอาศัย มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ลดความเสี่ยงจากการติดเครื่องมือประมง และซั้งบ้านปลายังเป็นที่พักพิงแหล่งอาหารของนกนานาชนิด ทั้งนกอพยพ และนกประจำถิ่น ที่สำคัญคือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม