ดูแบบคำตอบเดียว
  #107  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default


greennewstv
15-07-15


พ.ร.บ. ประมงฉบับใหม่ ยังไม่ปลดล็อคใบเหลือง EU



หลังจากที่มีการผลักดันมาอย่างยาวนานในที่สุด พ.ร.บ.ประมง 2558 ก็ถูกประกาศใช้ไปแล้ว เพื่อแก้ปัญหาประมงในน่านนํ้าไทยที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อสำรวจรายละเอียดก็ยังไม่สามารถปลดพันธการจากคำเตือนของสหภาพยุโรปในการป้องกันและยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมายได้

ตั้งแต่ปี 2543 ได้มีความพยายามจากภาครัฐและประชาสังคม เพื่อร่างแก้ไขกฎหมายประมงใหม่จากเดิมที่ใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมง 2490 ซึ่งได้ผ่านกระบวนขั้นตอนอย่างยาวนาน จนในที่สุดฉบับใหม่คือ พ.ร.บ.ประมง 2558 นี้ก็ได้ประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้เมื่อ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา เพราะมีการกดดันจากสหภาพยุโรป (EU) ที่ให้ใบเหลืองอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย เนื่องจากพบมีการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) แต่ทั้งนี้สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ที่เร่งให้ผ่านมาฉบับนี้ในสายตาของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านยังมองว่าไม่ตอบโจทย์ และครอบคลุมประเด็นที่ถูกกดดันจาก EU นัก เพราะยังขาดมิติการแก้ปัญหาที่สอดคล้องระหว่างประเทศ การทำประมงนอกน่านน้ำที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ EU จับตามองอยู่ รวมทั้งการที่ยังไม่มีกฎหมายลูกครบถ้วน จึงยังไม่อาจหวังได้ว่าจะแก้ปัญหาประมงได้อย่างยั่งยืน

โดย IUU Fishing ที่ทางสหภาพยุโรปได้ตั้งมานั้น นอกจากการทำผิดกฎหมายขาดการควบคุมและรายงานแล้ว ยังรวมไปถึงการทำประมงในเขตน่านน้ำของประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบและกฎหมาย และการทำประมงที่ไม่สอดคล้องกับความรับผิดชอบของรัฐเพื่อการเพิ่มจำนวนปลาด้วย ซึ่งหลังจากไทยได้ใบเหลืองจาก EU ซึ่งขณะนั้นอยู่ในห้วงเดือนเมษายน พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย และให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (สปมผ.) และรัฐบาลก็พยายามออกมาตรการเร่งด่วนมาแก้ไข เช่น การเร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง รวมถึงการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรองด้วย ทำให้กระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่ยืดเยื้อมายาวนานได้รับการพิจารณาภายใน 7 เดือน จึงทำให้มีข้อพกพร่องไม่ครอบคลุมทุกประเด็นเท่าที่ควร



ในเวทีราชดำเนินเสวนา “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด…คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา นายวรพงศ์ สาระรัตน์ เจ้าหน้าที่ประมงอาวุโสปฏิบัติหน้าที่นิติกร กรมประมง ได้ชี้แจงสาเหตุที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ว่าอาจเป็นเพราะกระบวนการร่างกฎหมายที่ที่มานานกว่า 15 ปี ทำให้ยังไม่สอดรับกับประเด็นใหม่ที่เข้ามาเช่น การลงทุนจับปลานอกน่านน้ำไทยซึ่งมีมิติที่เปลี่ยนไป

“ก็ได้มาระดับหนึ่งแต่ก็ยังขาดเรื่องของความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะตอนที่กฎหมายนี้เริ่มทำตั้งแต่ปี 2543 มาเสร็จปี 2558 เราก็ไปเน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมของชุมชน แต่ว่ามิติระหว่างประเทศเรายังไปไม่ถึง เราก็เลยใส่ได้น้อย อีกอย่างหนึ่งก็คือหากไปแก้เยอะจะมีปัญหา เพราะร่างเดิมเราทำมาอย่างนี้ ในเวลานั้นมิติของกฎหมายระหว่างประเทศมันยังเข้ามาไม่เยอะ เรือที่ไปจับปลานอกน่านน้ำมันก็มีหลายเรื่องที่เปลี่ยนไปเยอะ เช่น การไปลงทุนจับปลากับต่างประเทศโดยที่ไม่ได้ใช้เรือของเรา แล้วทีนี้เกิดไปจับปลาผิดกฎหมาย คนนั่งอยู่บ้านก็สบายใจ ลงทุนอย่างเดียว มิติของกฎหมายทำแบบนี้ไม่ได้ เหมือนรัฐไม่รับผิดชอบ”



ทั้งนี้นิติกรของกรมประมงเห็นว่ายังมีข้อดีของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยผ่านคณะกรรมการจังหวัด เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายยังด้อยอยู่มาก เพราะเป็นการดำเนินงานจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเดิมการตรวจการทำประมงผิดกฎหมายนั้น มีหน่วยงานหลักที่ดูแลคือหน่วยตรวจการของกองบริการจัดการด้านการประมง ซึ่งมีเจ้าหน้าอยู่เพียง 700 คนเท่านั้น ดูแลทั้งน้ำจืดและทะเล ไม่สามารถดูแลได้เพียงพอ

“เดิมรัฐกำหนดฝ่ายเดียว แล้วชาวบ้านไม่ได้ร่วมกันคิด เขาก็ไม่ยอมรับ ฝ่าฝืน เขาบอกว่าเป็นทรัพยากรของรัฐเขาก็เข้าไปจับ ใครได้มากก็ได้ประโยชน์ แต่คอนเซ็ปใหม่ก็คือเป็นทรัพยากรร่วมกัน กติกานี้เพื่อที่จะรับผิดชอบอนาคตของพวกเรา ถ้าเราจับปลามาเยอะ วันหน้าจะเอาปลาที่ไหนกิน ถ้าคิดร่วมกันแล้วการฝ่าฝืนมันก็จะน้อยลง การบังคับใช้มันก็จะราบรื่นขึ้น” นายวรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตามนายวรพงศ์กล่าวว่า ภายหลังจากนี้จะมีการเสนอร่างใหม่เพื่อแก้ไขเพิ่มมิติเรื่องระหว่างประเทศให้ครอบคลุม และมีการออกกฎหมายลูกมารองรับซึ่งอาจต้องใช้มากกว่า 70 ฉบับเพื่อแก้ปัญหาประมงไทยให้มีการยอมรับจากสหภาพยุโรป และเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรชายฝั่งทะเลไทยอีกต่อไปด้วย



ขณะที่ น.ส.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ หัวหน้างานจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน ได้ให้ความเห็นต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้เช่นเดียวกันว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ความสำคัญที่เรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง แต่ยังขาดเรื่องของการจัดการกับการทำประมงนอกชายฝั่งและนอกน่านน้ำที่เกินออกไปจากระยะ 3 ไมล์ทะเล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไข อีกทั้งยังไม่มีได้พูดถึงเรื่องการจับปลาเกินศักยภาพซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เชื่อมโยงกับปัญหาความยั่งยืนของทรัพยากรไทยอีกด้วย

“เรื่องน่านน้ำและประมงนอกชายฝั่งถูกพูดถึงน้อยมากซึ่งมันเป็นเป็นประเด็นที่ EU กังวลว่าเราจะจัดการเรือใหญ่อย่างไร เพราะว่า พ.ร.บ.2558 นี้พูดถึงเรื่องอำนาจจังหวัดที่จะดูแลเรื่องเขต 3 ไมล์ทะเล แต่ว่าพอหลังจากนั้นไม่ได้ให้รายละเอียด แล้วก็เรื่องนอกน่านน้ำไม่ได้พูดว่าจะถูกจัดการด้วยกฎหมายอย่างไร พูดแต่ว่าเป็นอำนาจของส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งก็ต้องไปออกกฎหมายลูกอีกทีว่าจะทำอย่างไร แต่ว่ากฎหมายใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ได้มีนโยบายชัดเจนว่าจะทำอย่างไร คิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่สหภาพยุโรปตั้งคำถาม และ พ.ร.บ.ประมง 2558 ไม่ได้พูดถึง overfishing นัก คือเรื่องของการจับปลาตัดตอนหรือเรื่องอวนลาก อวนรุน ซึ่งสัตว์น้ำ 70 เปอร์เซ็นต์มันถูกจับไปเป็นอาหารสัตว์จำนวนมาก พ.ร.บ.2558 การควบคุมดูแลบริหารจัดการไม่ให้เกิด overfishing มันไม่ได้ถูกพูดถึง ไม่มีการแก้ปัญหา พูดแต่ห้ามเครื่องมือชนิดไหนบ้าง แต่ไม่ได้พูดถึงปลาที่จับได้ขึ้นมา” น.ส.สุภาภรณ์กล่าว

พ.ร.บ.ประมง 2558 ที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็น “ดาบอาญาสิทธิ์” ที่จะถูกนำไปแก้ปัญหาประมง และช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของประเทศอย่างยั่งยืน และยังโฆษณาว่าเป็นกฎหมายประมงฉบับแรกที่สร้างความมีส่วนร่วมจากประชาชนและท้องถิ่นให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาประมงในระยะยาว แต่ถึงขณะนี้ก็ยังขาดอีกหลายมิติที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ นั่นจึงทำให้ยังไม่อาจความเชื่อมั่นได้ว่าจะสามารถปลดพันธการจากคำเตือนของ EU ได้อย่างแท้จริง

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม