ดูแบบคำตอบเดียว
  #110  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default


แนวหน้า
17-07-15

ส่องแผนเซฟชีวิต ‘วาฬบรูด้า’ อีก 2 ขั้น ดันสู่ ‘สัตว์สงวน’ เป็นจริง



สถานการณ์ท้องทะเลไทย ณ ปัจจุบัน ถือได้ว่าอยู่ในขั้น “วิกฤติ” เพราะทรัพยากรที่เคยสมบูรณ์ นับวันจะยิ่งทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะ “กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก” ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการ “สูญพันธุ์”

ระยะหลังๆ ภาพการ “เกยตื้นตาย” ตามชายหาดของกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก เช่น “วาฬ-โลมา-พะยูน-เต่าทะเล” ปรากฏให้เห็นมากขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทยรอบ 12 ปี หรือตั้งแต่ปี 2546-2557 ของ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” หรือ ทช. พบว่า มีสัตว์ทะเลเกยตื้นตาย รวม 2,201 ตัว ประกอบด้วย เต่าทะเล 1,209 ตัว คิดเป็น 55%, โลมาและวาฬ 851 ตัว คิดเป็น 39% และพะยูน 141 ตัว คิดเป็น 6% และในแต่ละปีมีแนวโน้มของการเกยตื้นเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ.....

“วาฬบรูด้า”!!!

ที่ “เป็น-ตายเท่าๆกัน” เพราะมีอัตราการเกิดและการตายเท่ากันในอัตรา 4-5% น้อยกว่าสัตว์ทะเลกลุ่มเสี่ยงชนิดอื่นๆ จึงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นในอนาคต “วาฬบรูด้า” ที่กลุ่มนักอนุรักษ์ยกให้เป็น “สัญลักษณ์แห่งอ่าวไทย” คงเหลือไว้เพียงชื่อ



นี่จึงกลายเป็นที่มาของการผลักดันให้มีการ “ขึ้นบัญชีวาฬบรูด้า” ในฐานะ “สัตว์สงวน” ของกลุ่มนักวิชาการ “คนรักวาฬบรูด้า” ที่ลุกขึ้นมารณรงค์-เรียกร้องผ่านเว็บไซต์ www.change.org/saveourwhale ซึ่งเมื่อพลิกดูรายชื่อ “บัญชีสัตว์” ที่ได้รับการประกาศเป็น “สัตว์สงวน” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 พบว่า ประเทศไทยมีการขึ้นบัญชีสัตว์ไว้ 15 ชนิด ได้แก่ 1.นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร 2.แรด 3.กระซู่ 4.กูปรี หรือโคไพร 5.ควายป่า หรือมหิงสา 6.ละอง หรือละมั่ง

7.สมัน หรือเนื้อสมัน 8.เลียงผา 9.กวางผา 10.นกแต้วแล้วท้องดำ 11.นกกระเรียน 12.แมวลายหินอ่อน 13.สมเสร็จ 14.เก้งหม้อ โดยชนิดที่ 15 ลำดับสุดท้ายที่ได้มีการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนไว้ คือ“พะยูน” หรือ “หมูน้ำ” ที่ถูกเสนอเป็นสัตว์สงวนในปี 2503

ถ้า “วาฬบรูด้า” ได้รับการขึ้นบัญชี จะเป็น “สัตว์สงวนชนิดที่ 16” ของประเทศไทย จะถือเป็นการทลายกำแพงที่กั้นขวางการขึ้นบัญชี “สัตว์สงวน” เป็นครั้งแรกในรอบ 55 ปี!!!

ข้อมูลของ “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” นักวิชาการด้านทะเล และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันในเรื่องนี้ ระบุว่า “วาฬบรูด้า”เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล มีความยาวเกิน 15 เมตร น้ำหนักมากกว่า 20 ตัน จึงถือเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่เป็นประจำในประเทศไทย ปกติ “วาฬบรูด้า” จะเข้ามาหากินในพื้นที่ชายฝั่ง จ.ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ ทำให้ไทยถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี “วาฬบรูด้า” เข้ามาหากินใกล้กับเมืองหลวงมากที่สุด

นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์ทะเลชนิดเดียวที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ คือ “สายสมุทร และสมสมุทร” แต่ปัจจุบันมีเพียง 50 ตัว ในอ่าวไทย จึงสมควรต้องอนุรักษ์ไว้

ทั้งนี้ ปริมาณสัตว์ทะเลหายากลดน้อยลงอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะ “วาฬบรูด้า” เหลือเพียง 50-70 ตัว และในรอบ 4 ปี วาฬตายมากถึง 15 ตัว ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น โดยจากการศึกษาจำนวนประชากรวาฬในประเทศไทย ระหว่างปี 2553-2557 พบจำนวนประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทย 50 ตัว เป็นแม่วาฬบรูด้าที่มีลูก 13 ตัว และพบลูกวาฬเกิดใหม่ 21 ตัว ในแต่ละปีมีลูกเกิดใหม่ 2-5 ตัว

อย่างไรก็ตาม ยังมีการตายของวาฬบรูด้าอยู่ระหว่างปีละ 1-4 ตัว ตายสะสมรวม 14 ตัว ในจำนวนนี้เป็นลูกวาฬบรูด้ามากถึง 3 ตัว อัตราการตายเฉลี่ยที่มีมากกว่า ร้อยละ 5 ต่อปี ทำให้กลุ่มประชากรวาฬบรูด้าในอ่าวไทยกลุ่มนี้อยู่ในภาวะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

“พฤติกรรมหากินของวาฬชนิดนี้ ปกติชอบจับกลุ่มกันออกหาอาหาร โดยแหล่งอาหารของวาฬบรูด้ายังใช้เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของทะเลในบริเวณดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งการพบวาฬบรูด้าในอ่าวไทยตอกย้ำว่าทะเลไทยสมบูรณ์
แค่ไหน จึงถึงเวลาที่จะให้วาฬบรูด้าถูกจัดให้เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 เพื่อหยุดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของวาฬบรูด้า สัตว์ประจำถิ่นขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยชนิดนี้” ธรณ์ กล่าว

จนล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ภารกิจผลักดัน “วาฬบรูด้า” เป็น “สัตว์สงวน” ได้ผ่านขั้นตอนที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อที่ประชุม “กรมประมง” เห็นควรให้นำเสนอวาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เพื่อเป็นสัตว์สงวน

ขั้นตอนต่อไป คือ ส่งผ่านให้คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพิจารณา จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่ออนุมัติออกเป็นรายชื่อแนบท้ายพระราชกำหนดต่อไป

เท่ากับเหลือ “บันได” อีกเพียง 2 ขั้น “วาฬบรูด้า” และสัตว์ทะเลหายากในกลุ่มเดียวกัน จะขยับขึ้นสู่การเป็น “สัตว์สงวน” ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงโอกาสที่มันจะอยู่รอดมีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นอกจาก “วาฬบรูด้า” แล้ว ยังมีสัตว์ทะเลหายากกว่า 20 ชนิด ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากระบบนิเวศทางทะเลที่เสื่อมโทรมเช่นกัน ซึ่ง ทช. หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบไม่ได้นิ่งนอนใจ.....

“ชลธิศ สุรัสวดี” อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งด้านวิชาการและภาคประชาชน ในส่วนของเครือข่ายด้านวิชาการจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางวิชาการ ด้านแหล่งการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลหายากแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยต่างๆ

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชนและท้องถิ่น ด้วยการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นอย่างถูกต้อง กรณีพบสัตว์เหล่านี้ให้ประสานมายังหน่วยงานของกรม นั่นจะทำให้สัตว์เหล่านี้มีโอกาส “รอดชีวิต” ได้มากขึ้น

การนำเสนอ “วาฬบรูด้า” วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เป็น “สัตว์สงวน” ถือเป็นการยกระดับความสำคัญของสัตว์เหล่านี้ ซึ่งเป็นสัตว์ที่นักท่องเที่ยวและนักดำน้ำทั่วโลกให้ความสนใจ ถ้าประเทศไทยมีแผนการอนุรักษ์และการจัดการที่ชัดเจน จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านการศึกษาวิจัย การอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมได้

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม