ชื่อกระทู้: ป่าชายเลน (2)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 04-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default 'พื้นที่ชุ่มน้ำ' ระหว่างประเทศ


'พื้นที่ชุ่มน้ำ' ระหว่างประเทศ รัฐได้หน้า...ชาวบ้านได้อะไร!?


พื้นที่ป่าชายเลนเบื้องหน้าเรียบเป็นหน้ากลองตามคำบัญชาของนายทุนที่ให้รถแบ๊กโฮกวาดพื้นที่สีเขียว จนโล่งเตียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ไม้ใหญ่หลายชนิดล้มทับถมจมโคลน ตลิ่งถูกพังลงเพื่อระบายน้ำสู่คลองด้านข้าง ขณะหลายพื้นที่บริเวณเดียวกับป่าชายเลนได้รับการบุกรุกจากมนุษย์ในการสร้างร้านอาหารกลางบึง หรือบ่อขยะในอดีตที่ยังไม่มีวี่แววการบำรุงรักษา...

ความเสื่อมโทรมทั้งมวลที่ร่ายมานี้อยู่ใน พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ซึ่งบรรจุในทะเบียน พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ ภายใต้อนุสัญญาลำดับที่ 1099 เมื่อ พ.ศ. 2544 ครอบคลุมพื้นที่ทั้งบนบกและในทะเลของ ต.บางแก้ว ต.บางจะเกร็ง ต.แหลมใหญ่ ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร (พื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลและบึง ซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกไม่เกิน 6 เมตร)

ปีนี้การจัดกิจกรรมวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก (2 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากประชาชนหลายพื้นที่ แต่สำหรับชาวบ้านดอนหอยหลอดหลายคนยอมรับว่า เพิ่งรู้ว่าดอนหอยหลอดได้รับประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ เพราะที่ผ่านมาไม่มีป้ายประกาศให้รู้มาก่อน

“รัฐประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดมาเกือบ 10 ปี แต่ชาวบ้านหลายคนยังไม่รู้ เพราะไม่มีแม้ป้ายประกาศ จะมีก็แต่ป้ายโฆษณาปักเกลื่อนกลาดรัฐเหมือนประกาศทิ้งประกาศขว้าง ขาดการส่งเสริมสนับสนุน ชาวบ้านตอนนี้พยายามรวมกลุ่มกันเพื่ออนุรักษ์เพราะผลกระทบจากมนุษย์และนักท่องเที่ยวที่ไหลบ่าเข้ามามากกว่าทรัพยากรธรรมชาติจะรับได้ ภาครัฐเองวันนี้ชาวบ้านมองว่าหวังพึ่งไม่ได้ จึงทำให้ชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อดูแลทรัพยากรธรรมชาติกันเอง” บุญยืน ศิริธรรม ชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอดระบายความอัดอั้น

วันนี้ดอนหอยหลอดเหลือเพียงชื่อ เพราะเดิมหอยหลอดหาง่ายเพียงเดินไปไม่กี่ตารางเมตรชาวบ้านก็ได้หอยหลอดมากว่าร้อยตัว แต่ตอนนี้เดินหาเก็บหอยหลอดร้อยกว่าตารางเมตรจับได้แค่สองตัว นี่กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ชาวบ้านซึ่งเคยจับเครื่องมือประมง ต่างอพยพจากเรือตังเกขึ้นมาเป็นลูกจ้างร้านรวงต่างๆที่เปิดให้บริการนักท่องเที่ยว บางรายมีทุนก็เปิดร้านอาหารหรือร้านค้า แต่ไม่นานก็ต้องปิดกิจการลงเพราะไม่มีความรู้เรื่องค้าขาย หลายคนใช้ชีวิตด้วยการเป็นหนี้พอกพูนจนยากจะปลดเปลื้อง

การหดหายของสัตว์ทะเลยังรวมไปถึง ปลาตีนใหญ่ ปูทะเล ปูม้า กุ้ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนกว่า 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง 2 ปีหลังพบว่า ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงการจับปูม้าขาย ชาวประมงเกือบทั้งแถบหาปูม้าไม่ได้มากเหมือนก่อน ทำให้ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งทำกิน

สำหรับพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด แม้ขณะนี้ได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือแรมซาร์ไซต์ แต่การดูแลของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน เป็นเพราะพื้นที่นี้อยู่บริเวณปากน้ำแม่กลองที่รับน้ำเสียมาจากกาญจนบุรี ราชบุรี และน้ำเสียพร้อมขยะจากชาวบ้านในพื้นที่ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำเริ่มเสื่อมโทรม ป่าชายเลนถูกทำลายจากนายทุนที่ตัดป่าชายเลนเพื่อทำประโยชน์ ร้านค้าต่างรุกล้ำพื้นที่เข้ามาในทะเล ปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาจัดเก็บขยะอย่างเป็นระบบ

“ชาวบ้านยังมองว่า ดอนหอยหลอดมีอนาคตกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยภาครัฐต้องลงมาร่วมกับชาวบ้านอย่างจริงจัง อย่าพัฒนาด้วยน้ำลาย การประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระหว่างประเทศอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ประกาศแล้วจะดูแลอย่างไรให้ยั่งยืนนั้นสำคัญกว่า” บุญยืน ฝากข้อคิดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พื้นที่ชุ่มน้ำใดได้ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ จัดว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การประกาศเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์มีข้อบังคับในการให้เจ้าของพื้นที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้สมบูรณ์ ในส่วนพื้นที่ของเอกชนก็สามารถประกาศได้ เพียงพื้นที่นั้นทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี เช่น นากุ้งที่ยังทำตามแบบดั้งเดิม

มาตราวัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำต้องเป็นแหล่งอาศัยของนกน้ำ กฤษณา แก้วปลั่ง ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มองว่า จากการร่วมกิจกรรม “นับนกน้ำโลกกับเรดบูลสปิริต” ช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า มีประชากรนกน้ำอพยพเข้ามาหากินในไทยลดลง เนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งหากินได้รับผลกระทบจากการถมดินบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำและการคุกคามของมนุษย์ โดยพื้นที่ชุ่มน้ำในไทยที่ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ตอนนี้มี 12 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ขณะที่พื้นที่แรมซาร์ไซต์ในพื้นที่ของประชาชนยังมีน้อย ภาครัฐควรให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น เพราะการประกาศแรมซาร์ไซต์ในพื้นที่ของชาวบ้านเหมือนกับการให้ความรู้ไปในตัว ขณะที่ผ่านมาชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจในการประกาศดังกล่าวเพราะกลัวว่า ถ้าประกาศแล้วพื้นที่ของตัวเองจะถูกหน่วยงานรัฐยึดที่ดิน ซึ่งความจริงรัฐไม่สามารถยึดได้เพราะ การประกาศสามารถยกเลิกได้หากพื้นที่นั้นเสื่อมโทรมหรือเจ้าของไม่ต้องการให้ เป็นแรมซาร์ไซต์

“หน่วยงานท้องถิ่นเองต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมในการผลักดันให้พื้นที่ชุ่มน้ำ ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์เพราะจะได้รับผลตอบรับ เช่น มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชอบดูนกมามากขึ้น หรือเกษตรกรที่ทำนากุ้งแบบดั้งเดิมสหภาพยุโรป จะซื้อกุ้งของเกษตรกรในราคาพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้รับการรับรองว่า ไม่ใช้สารเคมีในการเลี้ยง”

ส่วน วิชา นรังศรี กรรมการสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย มองการประกาศพื้นที่แรมซาร์ไซต์ในพื้นที่ชาวบ้านที่ผ่านมายังล้มเหลวเพราะ ชาวบ้านต่างเชื่อว่าเป็นกฎหมาย ทั้งที่จริงไม่ใช่ ประกอบกับชาวบ้านไม่เชื่อใจภาครัฐ ซึ่งนี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาแก้ไข ถ้าไม่อย่างนั้นพื้นที่ชุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์จะหมดลง

“องค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งพยายามพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นแหล่งท่อง เที่ยวจึงเอาเงินให้คนงานไปขุดลอกบึง เช่น บึงฉวาก, บึงบอระเพ็ด ทำให้แหล่งอาหารของนกน้ำถูกทำลายลง นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่หลายครั้งรัฐกับรัฐไม่ได้คุยถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นก่อน ไม่ต่างจากการขุดลอกคลอง เพราะคลองธรรมชาติมันทำขึ้นมาเพื่อชะลอน้ำของมันเอง พอลอกคลองกระแสน้ำก็แรงขึ้น ซัดตลิ่งพังหมด คลองแบบธรรมชาติถ้าน้ำท่วมจะอยู่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง แต่ถ้าลอกคลองน้ำจะท่วมนานกว่าเดิม พอน้ำท่วมคนก็สร้างฝายกั้น ครั้นตะกอนทับถมอยู่หน้าฝายคนก็โกยเอาไปทิ้งอีกทั้งที่มันมีประโยชน์ต่อธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาของคนมีเงินที่ตรงข้ามกับวิถีธรรมชาติ อนาคตของพื้นที่ชุ่มน้ำไทยอาจไม่ทรุดไปกว่านี้ แต่ถ้าหวังให้ดีขึ้นกว่าเดิมคงยากถ้าเรายังไม่มีจิตสำนึกอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ” วิชา กล่าวถึงข้อคิดเห็น

แหล่งข้อมูลจากหน่วยงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำรายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านเริ่มมีความตื่นตัวในการดูแลพื้นที่ชุ่มน้ำในท้องที่เพิ่มมากขึ้น แต่บางครั้งหน่วยงานรัฐเองกลับมองพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้นเป็นพื้นที่รกร้างไม่มีประโยชน์ จึงทำการใช้ประโยชน์โดยสร้างสำนักงาน เช่น บึงกะโล่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นการมองในมิติเดียวทั้งที่จริงควรมองให้รอบด้านกว่านี้

ขณะเดียวกันพื้นที่ชุ่มน้ำที่ประกาศเป็นแรมซาร์ไซต์ปัญหาที่ตามมาคือ ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง ซึ่งในพื้นที่อุทยานยังไม่มี ความน่าเป็นห่วงเท่าพื้นที่ชุ่มน้ำภายนอก ที่ยังไม่มีงบประมาณในการดูแลรักษาอย่างจริงจัง ที่ผ่านมามีเพียงเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ แม้ไม่มีกฎหมายกำหนดป้องกันการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ถ้าชาวบ้านพบเห็นผู้กระทำผิดทำลายป่าชายเลนและระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่ม น้ำ สามารถนำ พ.ร.บ. คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาใช้ได้ อนาคตรัฐเองควรมี พ.ร.บ. ในการป้องกันการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำให้มีมาตรการเข้มแข็งมากขึ้นกว่านี้

อนาคตรัฐควรมีศูนย์การเรียนรู้ในแต่ละแห่งของพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวและเยาวชนได้เรียนรู้ เพราะที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมาแล้วยังขาดความรู้ หลายคนจึงทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว เช่น บางคนเห็นกอหญ้าริมน้ำรกบังทิวทัศน์ของทะเลก็ไปถอนออก ทั้งที่จริงกอหญ้าเหล่านั้นเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำ ส่วนชาวบ้านเองควรร่วมมือกันอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ไม่ควรช็อตปลาหรือตัดป่าชายเลนเพื่อถมที่สร้างสิ่งปลูกสร้าง

สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐ มนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ชุ่มน้ำถูกทำลายไปมาก จึงพยายามปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่มากขึ้น และมีแผนการที่จะประกาศพื้นที่แรมซาร์ไซต์เพิ่มขึ้นตามนโยบาย “หนึ่งจังหวัดหนึ่งแรมซาร์ไซต์” ส่วนในการประกาศบนพื้นที่ของชาวบ้านต้องดูความเป็นไปได้ในพื้นที่ซึ่งตรงกับ มาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่

เสียงคำปฏิญาณการร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำของชาวบ้านและภาครัฐในวัน พื้นที่ชุ่มน้ำโลกยังแว่วอยู่ในหู เพียงหวังไม่ให้คำพูดที่เอ่ยออกมาผ่านแล้วผ่านเลย เพราะนอกเหนือจากรัฐได้หน้าแล้ว ชาวบ้านยังจะได้ทรัพยากรธรรมชาติกลับคืนมา แถมยังได้เกราะป้องกันน้ำกัดเซาะทะเลชายฝั่งอีกด้วย.

12 พื้นที่แรมซาร์ไซต์ ในประเทศไทย

1. พรุควนขี้เสี้ยน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.สงขลา-พัทลุง

2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย

3. ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม

4. ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่

5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงกาย จ.เชียงราย

6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส

7. หาดเจ้าไหม (เกาะลิบง-ปากแม่น้ำตรัง) จ.ตรัง

8.อุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี- ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง

9.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี

10. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา

11.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์

12. กุดทิง จ.หนองคาย



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 4 มีนาคม 2553
รูป
   
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม