ดูแบบคำตอบเดียว
  #27  
เก่า 27-06-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,291
Default


Mission Gunship (The End) ................. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



เรือของเราเดินทางจากหาดทุ่งวัวแล่น ชุมพร ตั้งแต่เช้าตรู่ ทีมงานที่เพิ่งออกจากกรุงเทพเมื่อตอนกลางดึกทำท่างัวเงีย เมื่อขึ้นเรือได้ก็ล้มลงนอนคนละตึงสองตึง ผิดกับผมผู้เดินทางโดย Solar Air มาถึงชุมพรตั้งแต่เมื่อวาน จึงมีเวลาพักผ่อนเต็มที่ แม้สายการบินใหม่เอี่ยมจะสร้างความรู้สึกเร้าใจด้วยเครื่องบินใบพัดรุ่นไม่ธรรมดา คุณแอร์ต้องค้อมตัวเดินไปมาเพราะเพดานเครื่องบินเตี้ยกว่าความสูงมนุษย์ แต่หากตัดความหวาดเสียวในเรื่องนั้น ผมชอบโซล่าร์แอร์เพราะบินสูงเพียง 10,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล แค่มองออกนอกหน้าต่างก็เห็นพื้นเบื้องล่างชัดเจน พอเลยหัวหินไปนิด ผมรีบชะโงกหน้าหาเป้าหมายอันเกี่ยวพันถึง Mission Gunship เกาะหินปูนสูงชันที่อยู่เกือบติดชายฝั่งสามร้อยยอดปรากฏอยู่เหนือผิวน้ำสีเขียวมรกต นั่นคือ “เกาะสัตกูด” ชื่อของเกาะกลายเป็นชื่อของเรือรบหลวงที่กำลังจะปฏิบัติภารกิจสุดท้ายใต้ทะเลเกาะเต่า เป้าหมายของเราในวันนี้

แต่ก่อนถึงเกาะเต่า เรือแล่นผ่านเกาะง่าม เมื่อเดือนก่อนผมเพิ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ในปฏิบัติการนำเรือหลวงปราบลงสู่พื้นท้องทะเล แม้เรือจะตะแคงข้าง แต่นักดำน้ำยังให้ความสนใจมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย ผมจึงถือโอกาสพาทีมแวะเข้าไปติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราแบ่งงานเป็น 4 ส่วน เริ่มจากการตรวจสอบสภาพเรือ หนึ่งเดือนที่ผ่านไปไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนัก ตัวเรือมีสภาพคล้ายตอนแรก สำหรับข่าวโคมลอยในอินเตอร์เน็ตบอกว่าปืนใหญ่หายไปแล้ว ยืนยันว่าไม่เป็นจริงแน่นอน ปืนทั้งสองกระบอกยังอยู่ดี ภาพนักดำน้ำถือเลื่อยที่ปรากฏอยู่ในบางเว็บเป็นภาพของไดฟ์ลีดเดอร์ที่ถือเลื่อยลงไปตัดเชือก มิใช่ไปเลื่อยปืนครับ

ตามลำเรือมีผลึกสารสีขาวอยู่บ้าง ดูแล้วลักษณะคล้ายผลึกสารพวกซิลิเกตหรือฟอสเฟต แต่เพื่อให้ชัวร์ ผมเก็บใส่ถุงมาวิเคราะห์ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.เกษตรศาสตร์ เสร็จจากนั้นเราลงไปดูสภาพพื้นท้องทะเลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตะกอนสองด้านของเรือแตกต่างกัน ฝั่งด้านท้องเรือเป็นตะกอนหยาบ ด้านตัวเรือเป็นตะกอนละเอียด ลักษณะเช่นนี้ไม่แปลกเพราะกระแสน้ำจะพัดมาชนท้องเรือก่อนลอยข้ามลำเรือ บางส่วนจะวกกลับมาในตัวเรือทำให้ตะกอนละเอียดตกบริเวณนั้น

งานส่วนที่ 2 และที่ 3 คือการศึกษาสัตว์ที่พบตามเรือ แบ่งเป็นสัตว์เกาะติดและปลา เราพบไบรโอซัวหรือสัตว์เกาะติดที่มีลักษณะคล้ายฝ้าสีขาวอยู่ตามผิวเรือ ไบรโอซัวมักเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่ลงเกาะบนพื้นผิวแข็งใต้ทะเลเสมอ แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักสัตว์กลุ่มนี้

ตามพื้นทะเลรอบเรือเต็มไปด้วยปลิงหนามที่เข้ามากินตะกอน ยังมีปูเสฉวนอยู่ทั่วไป รวมทั้งหอยเต้าปูนสามสี่ตัวที่ผมยังสงสัยว่าทำไมโผล่มา เมื่อลองมองดูปลา เราพบปลาไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นลูกปลาสลิดหินเป็นฝูงเล็กบ้างใหญ่บ้าง มีปลาอื่นแอบตามจุดต่าง ๆ เช่น ปลาดุกทะเลในห้องเคบิน ปลาสิงโตรายแรกที่เข้ามาปักหลักพักอาศัย ยังมีฝูงปลาสากและปลากะรังเมือกเหลืองดำจำนวนหลายสิบตัว ลูกศิษย์ของผมกลุ่มหนึ่งเจอเต่าพุ่งเข้าใส่ เรายังเจอกระเบนหลังดำกว้างราว 1 เมตร ว่ายเข้ามาหากินบริเวณปลายแหลมใกล้ตัวเรือ

งานส่วนสุดท้ายคือการตรวจสอบสภาพแนวปะการังในจุดที่ใกล้ตัวเรือมากที่สุด เราพบปะการังและดอกไม้ทะเลบนก้อนหินความลึกตั้งแต่ 2-14 เมตร ทีมงานจึงช่วยกันติดตั้งจุดสำรวจถาวรเกือบ 50 จุดในทุกระดับความลึก อีกทีมติดตามดูปลาในแนวปะการังได้มากว่า 50 ชนิด เมื่อเทียบกับปลาที่พบในเรือแล้ว ถือว่าปลาที่เรือยังมีน้อย นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเรือปราบเพิ่งอยู่ใต้ทะเลมาแค่ 1 เดือน จากข้อมูลที่ผมเคยศึกษาปะการังเทียม คงต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือนกว่าปลาที่เรือจะมีปริมาณและจำนวนชนิดเพิ่มขึ้นชัดเจนครับ

เราเสร็จภารกิจยามบ่าย ผมสบายใจเมื่อเห็นเรือปราบอยู่ในสภาพดี แถมยังมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเรือพานักดำน้ำแวะเวียนมาเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ฝั่งอันดามันมีคลื่นลมแรง เรือทัวร์ดำน้ำจะข้ามมาฝั่งอ่าวไทย เรือปราบจึงกลายเป็นแหล่งดำน้ำทางเลือกของเหล่ามนุษย์กบ ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแนวปะการังแถวนี้อย่างทันตาเห็น

จากเกาะง่ามไปเกาะเต่าใช้เวลานั่งเรือเกือบสี่ชั่วโมง พอเข้าไปในอ่าวหาดทรายรี ผมเห็นเรือสัตกูดลอยเด่นเป็นสง่า แต่ดูแล้วว่าน่าจะอยู่ในที่ลึกเกินไป ผมจึงแวะเข้าไปพูดคุยกับทีมงานนำเรือลงสู่พื้นทะเล ขอให้เขาเขยิบเรือเข้ามาสู่ความลึก 28 เมตรตามที่วางแผนไว้ โดยยังรักษาระยะห่างจากแนวปะการังบริเวณหินขาวและหินพีวีอย่างน้อย 400 เมตร เสร็จแล้วผมก็ขึ้นไปบนเกาะเพื่อร่วมงานต้อนรับเรือสัตกูด มีผู้คนมาร่วมงานบริเวณท่าเรือหลายร้อยคน รวมถึงผู้ประกอบการทั้งไทยทั้งฝรั่งต่างเข้ามาถามไถ่ ผมลองแจกแบบสอบถามปรากฏว่ามีไม่ต่ำกว่า 20 ร้าน เมื่อดูจากผู้ประกอบการทั้งเหาะที่มีราว 40 ร้าน (ข้อมูลจากท่านผู้ใหญ่บ้าน) ถือว่าเป็นงานเปิดตัวที่มีผู้เข้าร่วมเยอะใช้ได้ ผมยังทำโปสเตอร์มาให้ปตท.สผ.เพื่อแจกกับผู้เกี่ยวข้องอีก 100 ชุด เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างโดยเฉพาะข้อควรปฏิบัติในการดำน้ำบริเวณเรือจมครับ

คืนแรกบนเกาะเต่าผ่านไป เช้าวันใหม่มาเยือนพร้อมกับสายลมที่ทวีกำลังแรงขึ้นจนกลายเป็นคลื่นพัดสู่ริมหาด แม้จะเป็นอุปสรรคอยู่บ้างแต่เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นนำเรือลงไม่ได้ ชาวเกาะเต่าพากันแห่แหนลงไปทะเล บ้างก็ไปร่วมงานที่ริมหาด อีกหลายคนลงเรือไปลอยลำอยู่รอบสัตกูด เมื่อถึงเวลาราวสิบโมงเช้า ผมนับเรือใหญ่น้อยได้ 28 ลำ มีคนอยู่ไม่ต่ำกว่าสี่ห้าร้อยคนที่รอดูสัตกูดลงสู่พื้นท้องทะเล

สิบโมงเช้าคือเวลาที่ทีมงานจากอู่กรุงเทพเริ่มปล่อยน้ำเข้าเรือ ครั้งก่อนตอนเรือปราบใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมง แต่เรือเอียงขวาจนลงสู่พื้นทะเลในลักษณะตะแคงข้าง ครั้งนี้ผมได้แต่ภาวนาว่าสัตกูดจะลงสู่พื้นในลักษณะตั้งตรง แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เรือเริ่มเอียงขวาในลักษณะคล้ายกับเรือปราบ ผมส่องกล้องจากเรือวิจัยเห็นทีมงานพยายามแก้ไข แต่ผมคงบอกรายละเอียดไม่ได้ว่าเขาทำยังไงบ้าง เพราะข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ สิ่งเดียวที่ผมทำได้คือติดตั้งกล้อง GoPro ไว้บนเรือเพื่อบันทึกภาพขณะเรือสัตกูดลงสู่พื้นท้องทะเล

ในครั้งที่เรือปราบลงทะเล เราได้ภาพดี ๆ มาทั้งสองมุมมอง นอกจากนำมาเผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์หลายช่องแล้ว วิดีทัศน์ชุดนั้นช่วยให้เราศึกษาผลกระทบจากตะกอนที่ฟุ้งกระจายหรือสิ่งอื่น ๆ บนเรือที่อาจหลุดลอยออกมา ผมลองดูทุกมุมแล้วพบว่ามีตะกอนไม่มาก อีกทั้งยังไม่พบคราบน้ำมันใด ๆ ถือว่าการทำความสะอาดเรือได้ผล มาครั้งนี้ผมได้รับความสนับสนุนจากบริษัท GoPro โดยตรงจึงเพิ่มจำนวนกล้องเป็น 5 ชุด หวังว่าจะได้ภาพดี ๆ เพิ่มขึ้น หรืออย่างเลวร้ายก็ขอแค่เรือไม่ลงไปในมุมที่ทับกล้องพวกนั้นบี้แบน ไม่งั้นเป็นเรื่องแน่ครับ (เฉพาะค่ากล้องบวกกล่องกันน้ำก็เกือบแสนห้าแล้วจ้ะ)

เวลาผ่านไปตามลำดับ จากสิบโมงเป็นเที่ยงเป็นบ่าย เรือยังเอียงเหมือนเดิม ทะเลยังมีคลื่นเช่นเดิม แต่ครั้งนี้เริ่มมีกลุ่มเมฆดำลอยมาจากฝั่งชุมพร เป็นอิทธิพลของลมตะวันตก จากนั้นฝนก็กระหน่ำลงจากฟากฟ้าห่าใหญ่ ผมมองแทบไม่เห็นเรือสัตกูดที่อยู่ห่างไปเพียงสองสามร้อยเมตร เรือหลายลำที่เฝ้าตั้งแต่เช้าเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ฝั่ง แต่มาถึงขั้นนี้ข้าพเจ้าไม่หนีอยู่แล้ว ผมตัดสินใจตั้งป้อมอยู่ท่ามกลางพายุฝน สิ่งที่กลัวมากสุดคือเรือสัตกูดจะลงสู่พื้นท้องทะเลในช่วงนั้นแล้วเราจะไม่เห็นภาพเหตุการณ์ตอนลง แต่เมื่อฝนเริ่มซาราวบ่ายโมงครึ่ง เรือสัตกูดยังลอยลำอยู่ที่เดิม ในสภาพเอียงขวาคล้ายเดิม

เวลาผ่านไปสี่ชั่วโมง เรือยังคงไม่ลงสู่พื้นทะเล ถึงตอนนี้ผมแทบหมดหวังกับภาพจากกล้องโกโปร เพราะแบตเตอรี่จะอยู่ได้แค่ 2 ชั่วโมงเศษ ไม่นับการ์ดที่ความจุคงไม่พอบันทึกข้อมูลต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้น เคราะห์ดีที่ผมส่งลูกศิษย์ขึ้นไปบนเรือเพื่อปิดกล้องชั่วคราว แต่เนื่องจากเราไม่แน่ใจว่าเรือจะลงสู่ทะเลเมื่อไหร่ เราจึงปิดได้แป๊บเดียวก่อนเปิดใหม่ แล้วมันจะเวิร์คไหมหนอ

บ่ายสองโมงเศษ ฟ้ายังมืดครึ้มแต่คลื่นไม่แรง เรือเริ่มตะแคงขวาจนน้ำท่วมกราบ พวกเราที่อยู่บนเรือวิจัยพยายามเชียร์ให้เรือลงไปในสภาพตั้ง แต่พลังใจคงส่งไปไม่ถึง เรือเอียงขวามากขึ้นจนตะแคงลำบนผิวน้ำ จากนั้นจึงลงในลักษณะกึ่งคว่ำโดยท้ายเรือเอียงลงไปก่อน สภาพเช่นนี้ต่างจากเรือปราบที่หัวเรือเชิดสูงเหนือพื้นน้ำ ผมนำภาพต่อเนื่องมาให้พวกเราลองชมกันครับ

เรือลงสู่พื้นแล้ว ฟองอากาศยังพรั่งพรูอยู่นานพอควร พวกเรารีบใส่ชุดเพื่อลงดำน้ำให้เร็วที่สุด เนื่องจากผมไม่ไว้ใจว่าเรือลงในสภาพนี้ กล้องที่ติดตั้งอยู่จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ฟ้าที่มืดครึ้มทำให้ใต้ทะเลแทบไร้แสง ขืนรอไปถึงช่วงเย็นย่ำ มีหวังเราต้องคลำหากล้อง จะทิ้งไว้ข้ามคืนก็ใช่ที่ พวกเราจึงรีบดำดิ่งตามเรือลงไปในเวลาคล้อยหลังเพียงไม่กี่นาที ยังคงเห็นฟองอากาศผุดออกมาจากเรือเป็นสายพรั่งพรู มองลึกไปอีกนิด เห็นกราบเรือสัตกูดพร้อมตัวเลข 742 ชัดเจน แต่พอลงไปถึงกราบเรือ ปรากฏว่าเรืออยู่ในสภาพเอียงกว่าปรกติเล็กน้อย ส่วนท้องอยู่ที่ความลึกราว 22 เมตร ถือเป็นจุดที่ตื้นสุดของเรือสัตกูด ส่วนอื่น ๆ จะลึกกว่านั้น ที่สำคัญคือตะกอนยังคงฟุ้งกระจาย ทำให้ทีมงานมองไม่เห็นแม้กระทั่งมือตัวเอง ต้องใช้วิธีค่อย ๆ คลำเพื่อตามหากล้องที่ติดตั้งไว้

หนึ่งตัวครับ ! ลูกศิษย์ผมตอบด้วยเสียงแหบแห้งหลังจากนับจำนวนกล้องที่เราสามารถนำขึ้นมาได้ ผมกลืนน้ำลายเอื๊อก ติดลงไปห้าตัวได้คืนมาหนึ่งตัว งานนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง Mission Gunship จึงต้องเปลี่ยนเป็น Mission เอากล้องข้อยคืนมา แต่ผมยังไม่ห้าวพอส่งทีมงานที่เหลือลงน้ำ แม้พวกนั้นจะเคยดำน้ำศึกษาวิจัยมานับร้อยครั้ง แต่การลงไปคลำหากล้องในเรือที่อยู่สภาพตะแคงจนเกือบคว่ำที่ความลึกร่วม 30 เมตร ในทะเลที่แทบไม่มีแสงเหลือ แถมยังมีแต่ตะกอนเต็มไปหมด งานนี้เสี่ยงเกินไป เราจึงจำเป็นต้องปล่อยให้กล้องสี่ตัวมูลค่าราคาแสนกว่าแช่อยู่ในน้ำตลอดคืน พอตื่นเช้าปุ๊บ เราลงไปในน้ำอีกครั้ง ตะกอนมีน้อยลง เราวางแผนดียิ่งขึ้น จึงสามารถกู้กล้องทั้งสี่ตัวคืนมาได้ทั้งหมด แม้จะไม่สามารถบันทึกภาพไว้เนื่องจากการ์ดเต็มเสียก่อน อย่างน้อยก็มีภาพจากกล้องตัวแรกที่ไส่การ์ดความจุเยอะกว่ากล้องอื่น สามารถบันทึกเหตุการณ์ระหว่างเรือลงสู่ท้องทะเล

(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม