ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 18-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์


ชาวประมงชลบุรีรวมตัวเตรียมพร้อมรับมือโครงการถมทะเลแหลมฉบังในพื้นที่ 3,000 ไร่



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวประมงชายฝั่งชลบุรี รวมตัวหารือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หลังภาครัฐสั่งให้มีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการถมทะเลแหลมฉบังในพื้นที่ 3,000 ไร่

นายรังสรรค์ สมบูรณ์ ชาวประมงชายฝั่งชลบุรี เผยว่า ขณะนี้ตัวแทนชาวบ้าน และประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง จ.ชลบุรี ได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการถมทะเล 3,000 ไร่ ตามที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติให้การนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว เพื่อรองรับการลงทุนส่วนขยายโครงการปิโตรเคมีของกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น

"พวกเราเชื่อว่า ถ้ามีการถมทะเลก็เท่ากับหายนะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจะสูญเสียทรัพยากรทางทะเลอย่างถาวร ตอนนี้ชายฝั่งทะเลที่นี่ไม่สามารถรับอะไรได้อีกแล้ว อ่าวบางละมุง แหลมฉบัง อ่าวอุดม ถือเป็นผืนน้ำแหล่งสุดท้ายของอาชีพพวกเรา ที่เราถอยไม่ได้อีกแล้ว ที่ผ่านมา ชุมชนและชาวบ้านรอบพื้นที่ที่มีการพัฒนาจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด พวกเราต้องเผชิญต่อผลกระทบทั้งในด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม มาเกือบ 30 ปีแล้ว โดยที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการชดเชย เยียวยาที่ชัดเจน"

นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะอาชีพการทำประมงพื้นบ้านที่หลายครอบครัวต้องสูญเสียไป เพราะในอดีตแนวเขตทะเลชายฝั่งอ่าวบางละมุง-อ่าวอุดม ถือว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์ทะเล และที่นี่ยังถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ที่ขึ้นชื่อ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเฉลี่ย 280 ล้านบาทต่อปี และหากรวมกับสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่จับส่งขาย สามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนสูงถึงกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ตลอดช่วงที่ถูกคุกคามจากอุตสาหกรรมอย่างหนัก พื้นที่หากินทางทะเลลดลง อีกทั้งสัตว์น้ำชายฝั่งหายไปจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่เคยได้รับการเหลียวแลและเยียวยาอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ ดังนั้น หากมีโครงการถมทะเลเกิดขึ้นอีก ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่ชาวบ้านที่นี่แบกรับกันมาตลอด

ขอยืนยันอีกครั้งว่า ภาครัฐควรยุติแนวคิดที่จะสร้างปัญหาซ้ำเติมชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม หากภาครัฐยังไม่สนใจเสียงของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ ที่ต้องสูญเสียอาชีพทำกิน พวกเราจะไม่ยอมอีกต่อไป จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็นของชาวประมงเลย และเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา พวกเราได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งถึงความเดือดร้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น

สำหรับพื้นที่ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังศึกษาความเหมาะสม มีทั้งหมด 4 แห่ง คือ พื้นที่ที่ 1 เป็นพื้นที่บนบก เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ พื้นที่นี้มีผู้ถือกรรมสิทธิ์การเช่ารวม 7 ราย จำนวน 14 แปลง ปัจจุบันเป็นคลังสินค้า ลานจอดรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อการส่งออกและอู่ต่อเรือ สิทธิการเช่าเหลือตั้งแต่ 1-15 ปี

พื้นที่ที่ 2 เป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประกอบไปด้วย โรงกลั่นน้ำมัน และชุมชนที่กระจายตัวและแทรกตัวอยู่ระหว่างโรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน และคลังก๊าซ พื้นที่รวมประมาณ 5 พันไร่

พื้นที่ที่ 3 พื้นที่ถมทะเลในบริเวณเขาบ่อยาและเขาภูไบ ด้านทิศเหนือของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง หรือบริเวณอ่าวอุดม เบื้องต้น กำหนดพื้นที่เป้าหมายการถมทะเลประมาณ 2,500-3,000 ไร่

พื้นที่ที่ 4 เป็นพื้นที่การก่อสร้างแหล่งเก็บตะกอนในอนาคต ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการการก่อสร้างขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 1,875 ไร่ บริเวณนี้คือด้านหลังของเกาะสีชัง


https://mgronline.com/local/detail/9630000005343


*********************************************************************************************************************************************************


จีนเดินหน้าพัฒนาวิถีสู้นานามลพิษ หลังเห็นผลลัพธ์ดีในปี 2019


จีนได้กำหนดให้ปี 2020 เป็นปีที่ต้องบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการเพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศระยะ 3 ปี (ภาพซินหวา สื่อทางการจีน)

สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน (15 ม.ค.) หน่วยงานสังเกตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ของจีนได้ตอกย้ำปณิธานในการต่อสู้กับมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมปี 2020 หลังเห็นผลบวกจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปีที่ผ่านมา

"การลงมือปฏิบัติจริงในปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ทิศทางและเส้นทางการควบคุมมลพิษในปัจจุบันนั้นถูกต้อง และควรได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไปในระยะยาว" หลี่กั้นเจี๋ย รัฐมนตรีกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมกล่าวเมื่อวันจันทร์ (13 ม.ค.) ในการประชุมประจำปีของกระทรวงที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน

หลี่กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ควรหลีกเลี่ยงการนำ "วิธีเดียวสำหรับทุกด้าน" (one-size-fits-all approach) มาใช้ในการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งยังควรส่งเสริมการนำวิธีการที่แม่นยำและเป็นวิทยาศาสตร์มาใช้ในการควบคุมมลพิษ

ด้านการควบคุมมลพิษทางอากาศ จีนได้กำหนดให้ปี 2020 เป็นปีที่ต้องบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิบัติการเพื่อต่อสู้กับมลพิษทางอากาศระยะ 3 ปีที่เผยแพร่โดยคณะรัฐมนตรีในปี 2018

แผนดังกล่าวกำหนดเป้าหมายว่า การปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์โดยรวมจะลดลงมากกว่าร้อยละ 15 ภายในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2015

ความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ส่งผลให้เกิดหมอกควัน ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานระดับแคว้นต่างๆ ของจีน จะลดลงมากกว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2015

อีกทั้งในระดับแคว้น อัตราส่วนของวันที่คุณภาพอากาศดีจะแตะที่ร้อยละ 80 และอัตราส่วนของวันที่มีมลพิษรุนแรงจะลดลงมากกว่าร้อยละ 25 ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2015

ด้านการควบคุมมลพิษทางน้ำ กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม (MEE) จะดำเนินการสอบสวนแหล่งบำบัดน้ำเสียต่างๆ ที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเหลือง อีกทั้งจะดำเนินการเพื่อให้โรงบำบัดน้ำเสียที่อยู่ตามแนวแม่น้ำแยงซีและใกล้ทะเลโป๋ไห่สามารถตรวจสอบได้มากขึ้น

"ในปีนี้ จีนจะบรรลุเป้าหมายการนำเข้าขยะมูลฝอยเป็นศูนย์" หลี่กล่าวพร้อมเสริมว่าจีนจะเสริมสร้างการควบคุมและการแก้ไขปัญหามลพิษทางดินในพื้นที่ก่อสร้าง และจัดให้มีการตรวจสอบพิเศษและการบำบัดของเสียอันตราย

หลี่ชี้ว่า ในปี 2019 การต่อสู้กับมลภาวะของจีนคืบหน้าอย่างยิ่ง โดยมีสถิติการปล่อยมลพิษสำคัญๆ ที่ลดลง อีกทั้งความหนาแน่นของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในเมืองที่ไม่ได้มาตรฐานก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงฯ ระบุว่า เมืองส่วนใหญ่ในจีนรายงานผลการปรับปรุงคุณภาพอากาศเป็นบวก โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2019 ความหนาแน่นของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในแคว้น 337 แห่งหดตัวลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบปีต่อปี มาอยู่ที่ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

การควบคุมมลพิษทางน้ำก็ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นของปีก่อน โดยหลี่ให้ข้อมูลว่า ในปี 2019 พบการฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ได้รับการแก้ไขแล้ว 3,626 กรณีในมณฑล 899 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสรรแหล่งน้ำดื่มของผู้คน อีกทั้งกระทรวงฯ ยังได้จัดการทำความสะอาดแหล่งน้ำที่สกปรกจนมีสีดำและกลิ่นเหม็น 2,513 แห่งในแคว้นต่างๆ

ด้านการต่อสู้กับมลพิษทางบกก็ก้าวหน้าอย่างมั่นคง โดยเมื่อปี 2019 จีนได้ดำเนินการสำรวจเกี่ยวกับมลพิษทางดินในพื้นที่เกษตรกรรมโดยละเอียดจนเสร็จสิ้น

หลี่กล่าวว่า การห้ามนำขยะต่างประเทศเข้ามาในจีนทำให้ปริมาณการนำเข้าขยะมูลฝอยจริงทั่วประเทศลดลงร้อยละ 40.4 เมื่อเทียบระหว่างปี 2019 กับ 2018

นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2019 กระทรวงฯ ประกาศไว้ว่า จีนจะเปิดตัวกองทุนเพื่อการพัฒนาสีเขียวแห่งชาติอย่างเป็นทางการในปี 2020 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงระบบนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการปกป้องระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

สวีปี้จิ่ว เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ระบุในการแถลงข่าวเกี่ยวกับกองทุนว่า นโยบายเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อมสามารถกระตุ้นพลังภายใน (endogenous power) บรรดาผู้ประกอบการสำหรับการควบคุมมลพิษ ทั้งยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

หลี่ทิ้งท้ายว่า ปี 2020 เป็นปีเป้าหมายในการบรรลุการสร้างสังคมมั่งคั่งระดับปานกลางในทุกด้าน ปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 และปีชี้ขาดผลการต่อสู้กับมลพิษของจีนด้วย


https://mgronline.com/china/detail/9630000005123

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม