ดูแบบคำตอบเดียว
  #61  
เก่า 25-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default


'ปะการังฟอกขาว' สัญญาณเตือน'อันดามัน' เสื่อม!



หลังจากนักวิจัยของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยผลสำรวจสถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" ซึ่งทำกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534 ถึงปี 2553 ว่า

"ฝั่งทะเลอันดามัน" อันสวยงามของประเทศไทยกำลังเกิดสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั่วท้องทะเลไทย กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง 70% ของท้องทะเลทั้งหมด!

สาเหตุเนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติจากปกติ 29 องศาเซลเซียส สูงขึ้นกว่า 30 องศาเซลเซียส ตั้งแต่เดือนมี.ค.2553 ต่อเนื่องกันถึง 3 เดือน

รวมทั้งของเสียจากเรือที่พานักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำจอดอยู่จำนวนมาก มีการถ่ายเทลงน้ำทะเล หรือของเสียที่ไหลซึมผ่านชั้นดิน เพราะปะการังที่เสียหายในหลายพื้นที่อยู่ไม่ไกลจากที่พักนักท่องเที่ยวหรือจากการท่องเที่ยวที่มีนักดำน้ำไปยืนเหยียบปะการัง แม้แต่ทะเลอ่าวไทยก็เกิดปะการังฟอกขาวไม่แพ้กัน

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึงปัญหาปะการังฟอกขาวดังกล่าว ว่า

จากรายงานที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ได้สำรวจในหลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2553 โดยเฉพาะหมู่เกาะสุรินทร์ -สิมิลัน จ.พังงา รวมทั้งหมู่เกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง เช่น เกาะยูง เกาะไผ่ เกาะไข่นอก จ.กระบี่ เกาะราชา จ.ภูเก็ต พบว่า

ในแหล่งแนวปะการังได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายจากการฟอกขาวจำนวนมาก

เช่น เกาะสุรินทร์เหนือ อ่าวแม่ยาย มีปะการังตายถึง 99.9% เกาะสุรินทร์เหนือ หน้าช่องแคบตอนใน ปะการังตายถึง 93.6% เกาะป่าชุมบา ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 95% เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 84% เกาะสุรินทร์ใต้ฝั่งตะวันออก (อ่าวเต่า) ตาย 85%

นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนเกาะสิมิลันตะวันออก หน้าประภาคาร ตาย 89.3% เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ตาย 84% เกาะบางงูทิศใต้ ตาย 60.8% อ่าวต้นไทร ตะวันตก ตาย 94.9% เกาะยูง ตาย 88.5% เกาะไข่นอก ตาย 68.5% เกาะแอว ตะวันตกเฉียงเหนือ ตาย 69.9% เป็นต้น

ขณะที่เกาะพีพีและเกาะใกล้เคียง อาทิ เกาะพีพีดอน เกาะพีพีเล เกาะไผ่ เกาะยูง เกาะบิต๊ะใน และเกาะบิต๊ะนอก พบว่า แนวปะการังส่วนใหญ่ของทุกๆ เกาะอยู่ในสภาพเสียหาย มีปะการังตายมากกว่าปะการังมีชีวิตประมาณ 2-3 เท่าและเสียหายมาก


1.นายชัยมงคล แย้มอรุณพัฒนา

โดยเฉพาะจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น อ่าวมาหยา อ่าวต้นไทร หาดยาว อ่าวรันตี แหลมตง มีปะการังเขากวางเป็นชนิดเด่น อยู่ในแนวปะการังน้ำตื้นพบว่า ปะการังเขากวางกว่า 90% ได้ตายลงเช่นเดียว ในหลายพื้นที่ไม่พบปะการังวัยอ่อนเลย

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ความเสียหายของแนวปะการังจากการฟอกขาวในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงมากกว่าความเสียหายจากสึนามิ เมื่อเดือนธ.ค.2547

"ควรมีการลดกิจกรรมท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง รวมทั้งผลักดันให้เรือท่องเที่ยวปรับปรุงเรือด้วยการให้มีถังกักเก็บของเสียในเรือไม่ให้ปล่อยลงน้ำ ควรปิดพื้นที่ไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ในแนวปะการังที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากไม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโอกาสที่แนวปะการังในท้องทะเลไทยจะกลับมาสวยงามสมบูรณ์ดังเดิมคงเป็นได้ยากหรืออาจต้องใช้เวลานานมาก" อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ไทยถาวร เลิศวิทยาประสิทธิ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยา ศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่สถาบัน วิจัยของทช. ได้สำรวจและรายงานนั้นอยู่ในขั้นวิกฤตจริงๆ

สิ่งที่ "รัฐ" ต้องทำมี 2 ส่วน คือ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องการจัดการกลุ่มคน นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปพื้นที่ หากเห็นว่าพื้นที่ไหนเสื่อมโทรมมากๆ จำเป็นต้องปิดเพื่อให้ฟื้นตัวก็ต้องทำ

ถ้าปิดแล้วทำอะไร ปิดเฉยๆไม่ได้ อันดับแรกต้องชี้แจงเหตุผล และต้องบอกว่าขั้นตอนต่อไปในพื้นที่ปิดนั้นเราจะทำอย่างไรให้มันฟื้นฟูเร็วยิ่งขึ้น ปะการังเสียหายเสื่อมโทรมมันไม่ได้กระทบแค่การท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่มันกระทบระบบนิเวศในทะเล ซึ่งเป็น "แหล่งอาหารของมนุษย์" ด้วย

"การที่ ทช.ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะก็ช่วยทรัพยากรของชาติอยู่แล้ว และนี่เป็นจังหวะดีที่เขาจะได้เห็นข้อเท็จจริง ส่วนผู้ประกอบการบางคนปฏิเสธไม่สนใจ ผมคิดว่าคนพวกนี้เราคงไปพูดอะไรเขาไม่ได้ แต่ต้องให้ข้อคิดว่าต่อไปอาชีพของเขาจะไม่ยั่งยืน ผมคิดว่าตอนนี้สิ่งสำคัญต้องเร่งให้การศึกษาให้การชี้แจงมากที่สุด" รศ.ดร.ไทยถาวรให้คำแนะนำ

ส่วนมาตรการระยะยาวคือการทำวิจัยในการฟื้นฟูและขยายพันธุ์โดยเทคนิควิธี ต่างๆ หรือการควบคุมบางบริเวณที่ทำได้หรือบางบริเวณปิด เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์วิจัยเพื่อให้สภาพของปะการังอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ อาจจะทำได้หลายกรณี เช่น การฟื้นตัวของปะการังแหล่งเสื่อมโทรมอาจจะปิดบางจุด เปิดบางจุด แต่ไม่ได้ปิดทั้งอ่าวซึ่งคนที่รู้ดีที่สุด คือ ทช.

ขณะนี้ทางคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังมีการศึกษาการสืบพันธุ์ของปะการังแบบยั่งยืนแพร่พันธุ์ปะการังโดยอาศัยเพศหรือธรรมชาติ เราต้องเข้าใจก่อนว่าปะการังฟอกขาว เกิดจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปกติแค่ 1-2 องศา ตัว "ซูแซนเทลลี" หรือสาหร่ายที่อาศัยร่วมกับปะการังหลุดออกมาปะการังจึงมีสีขาว การที่ปะการังจะกลับฟื้นขึ้นมาทั้งสองตัวนั้นอาศัยอยู่แบบพึ่งพา ถ้าตัวหนึ่งหลุดไปปะการังก็จะตายไม่มีตัวช่วย

ดังนั้น การศึกษาต้องศึกษาควบคู่กันไปตัวปะการังและตัว "ซูแซนเทลลี" หรือสาหร่ายที่อยู่ร่วมกับปะการัง

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ทำงานเรื่องนี้มาเป็นเวลา 10 ปี ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ปะการังตายมากที่สุด เรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเรื่องปะการังที่รุนแรงอย่างที่เราไม่เคยเจอมาก่อน

จริงๆแล้วควรที่จะทำอะไรก่อนหน้านี้ไม่ใช่ปล่อยไว้ 3-4 เดือนแล้วถึงมาทำ รวมทั้งต้องมีระบบที่ชัดเจน ส่วนแรกคือการอนุรักษ์การฟื้นฟู หมู่เกาะแต่ละแห่งได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ไม่ควรจัดการคนแบบนโยบายเดียวครอบจักรวาล เรื่องการอนุรักษ์ปิดอ่าว ผมคิดว่าไม่ควรปิดอุทยานฯทั้งหมด ต้องดูว่าอันไหนที่มันหนักและพื้นที่ไหนควรปิดและควรเปิด

"ส่วนที่นอกเหนือจากกรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลคิดว่าทางจังหวัดต้องเข้ามาดูแลด้วย ถ้าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้รับทราบแล้วให้นักท่องเที่ยวจากเมืองจีนมาเหยียบปะการังในประเทศไทย ผมไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์เราสามารถตัดสินใจได้เมื่อเห็นเหตุการณ์อย่างนั้น แล้วควรทำอย่างไร สถานการณ์แบบนี้คิดว่าถ้าคนร่างกายดีๆมายืนเหยียบ ตอนนี้มันไอซียูแล้ว ยังไปยืนทับมันอีก ถ้านอกเขตอุทยานฯก็ต้องเป็นผู้ว่าฯ ดังนั้นหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาและต้องทำอย่างจริงจังด้วย ซึ่งท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่อยู่แล้ว อาจจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วนและต้องตรวจตราดูแลอย่างจริงจังและเข้มงวด

"ส่วนข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหา คือ
1.ปลูกปะการัง
2.สร้างปะการังเทียม ซึ่งต้องมีการศึกษาและพัฒนาให้ชัดเจน
3.แหล่งดำน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อให้คนออกจากแนวปะการังรวมทั้งต้องมีการ จำกัดคนหรือนักท่องเที่ยวด้วย" ดร.ธรณ์ ระบุ

นายชัยมงคล แย้มอรุณพัฒนา นักวิชาการประมง กลุ่มชีววิทยาและนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

หลังจากที่ทางสถาบันวิจัยฯ ได้รายงานถึงผลกระทบปะการังฟอกขาวรุนแรงไปแล้ว ตนได้พาสื่อมวลชนไปดูสถานการณ์ปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะเฮและเกาะแอล ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต และอยู่ใกล้กับสถาบันวิจัยฯ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวมากเช่นกัน

โดยมีปะการังที่ยังมีชีวิตประมาณ 10%

"เกาะเฮ" จัดว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวจะมาดำดูปะการังหนาแน่นมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย มีสภาพปะการังในอ่าวที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวเยอะมาก ส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด ปะการังเขากวาง ส่วนปะการังอ่อนก็มีแต่จะน้อยกว่า

ส่วนเกาะเฮและเกาะแอล จะอยู่ใกล้ชายฝั่ง ค่อนข้างตื้น นักท่องเที่ยวมาเที่ยวบางครั้งก็ลงไปเหยียบย่ำ รวมไปถึงการให้อาหารปลาต่างๆก็มีส่วนทำให้เกิดปะการังฟอกขาวได้เช่นกัน บางครั้งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเหนื่อยก็จะถือโอกาสยืนบนแนวปะการัง

นายชัยมงคล กล่าวว่า การฟอกขาวของปะการังมีหลายสาเหตุ โดยเฉพาะปัจจัยอุณหภูมิสูงขึ้นหรือจากมนุษย์

ปะการังเกิดการฟอกขาวถ้าไม่มีปัจจัยรบกวนอาจจะใช้เวลาแค่ 1 ปี หรือ 6 เดือนฟื้นสภาพ

แต่พอมีปัจจัยต่างๆจากฝีมือมนุษย์ทำ ก็ทำให้กระบวนการฟื้นของปะการังช้าลงแบบน่าใจหาย

อย่างปีนี้ทะเลฝั่งอันดามันของประเทศไทย การฟอกขาวของปะการังคาดการณ์ไว้ว่าการที่จะฟื้นกลับมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งถือว่าเร็วแล้ว

ส่วนเรื่องการปิดอุทยานฯหรือปิดอ่าวนี้ควรจะ "ปิด" มานานแล้ว เพราะเริ่มเกิดและวิกฤตอย่างหนักและรุนแรงมากมาตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค.2553 แต่ตอนนี้เป็นช่วงไฮซีซั่นของฝั่งอันดามัน ที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะมาเที่ยวกันจำนวนมาก ถ้าจะปิดก็คงจะมีผลกระทบ

ในความเห็นของผมคิดว่าน่าจะมีมาตรการอะไรสักอย่างออกมาชัดเจนในเรื่องของการฟื้นฟู เพราะปะการังนั้นมันมีส่วนสำคัญต่อระบบนิเวศในทะเลเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เพิ่มรายได้ดึงเงินจากต่างประเทศเข้าประเทศไทยสูงมาก หากเราไม่เร่งฟื้นฟูหรือจัดการที่ดีแล้วมัน เหมือนกับเราทุบหม้อข้าวตัวเอง" นายชัยมงคล กล่าว




จาก ..................... ข่าวสด วันที่ 25 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม