ดูแบบคำตอบเดียว
  #64  
เก่า 26-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default


ปิดแหล่งดำน้ำ 7 อุทยานฯ ........................ วินิจ รังผึ้ง



ผมเพิ่งกลับมาจากดำน้ำสำรวจแนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน เกาะบอน เกาะตาชัย และกองหินริเชริว จังหวัดพังงา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าน่าเศร้าใจครับที่ปะการังส่วนใหญ่ราวร้อยละ 70-80 ต้องตายไปเนื่องจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอันเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นเกินกว่า 30 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานถึง 2-3 เดือนเมื่อราวกลางเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา ทั้งที่ปรกติมันจะอยู่ราว 27-28 องศาเซลเซียส อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งรุนแรงและกินพื้นที่กว้างขวางมากที่สุดของท้องทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันเท่าที่เคยพบเห็นหรือเคยศึกษากันมา ปะการังเกิดการฟอกขาวเพราะสาหร่ายซูแซนเทลลี่ที่ผสมอยู่ในเนื้อเยื่อปะการัง มีหน้าที่สังเคราะห์แสงให้พลังงานแก่ปะการังเกิดทนอุณหภูมิที่เปลี่ยน แปลงอย่างมากมายไม่ไหว มันก็จะแยกตัวหลุดออกจากตัวปะการัง ที่สุดปะการังก็จะตายลง

ตอนนี้ปะการังที่ฟอกขาวเมื่อ 8-9 เดือนก่อนเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็ตายสนิท เหลือไว้เพียงซากโครงสร้างปะการังที่เป็นหินปูนสีน้ำตาลดำโทรมๆ ดูเหมือนอาคารร้างที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่อาศัย เมื่อหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน เมืองทั้งเมืองเกิดพิบัติภัยจนผู้คนที่อาศัยอยู่ล้มหายตายจากไปเกือบหมด บ้านก็กลายเป็นบ้านร้าง เมืองก็กลายเป็นเมืองร้าง ชีวิตอื่นๆที่อาศัยกิ่งก้านปะการังอยู่ ก็ไม่สามารถจะอาศัยอยู่ได้ในบ้านร้าง ชุมชนร้าง ฝูงปลาเล็กๆ เช่นปลาทอง ปลาบู่ทะเล ปลาสลิดหิน ที่เคยอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่มตามกอปะการัง กุ้ง หอย ปู ปลาขนาดเล็กๆ ที่เคยใช้ปะการังเป็นบ้าน ก็พลอยหายหน้าหายตาไปด้วย ปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยแวะเวียนเข้ามาหาปลาเล็กกินเป็นอาหารก็พลอยหายหน้าหายตา ล้มหายตายจากไปด้วยเพราะไม่มีอาหารจะกิน ทุกอย่างส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงกันไปหมด



ความตายและการเสื่อมโทรมของแนวปะการังครั้งใหญ่ของทะเลไทยครั้งนี้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ศึกษาข้อมูลร่วมกันแล้วก็ได้ประกาศปิดพื้นที่แหล่งดำน้ำบางจุดใน 7 อุทยานแห่งชาติงดกิจกรรมดำน้ำดูปะการัง เพื่อจะได้ไม่เป็นการเข้าซ้ำเติมธรรมชาติให้เสื่อมโทรมมากเข้าไปอีก โดยมีจุดดำน้ำที่ปิดให้ธรรมชาติพื้นฟูมีดังนี้
1. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง บริเวณเกาะเชือก
2. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล บริเวณเกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะบุโหลนรังผึ้ง
3. อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล บริเวณเกาะตะเกียง เกาะหินงาม เกาะราวี หาดทรายขาว เกาะดง
4. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร บริเวณเกาะมะพร้าว
5. อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บริเวณแนวปะการังบริเวณหินกลาง
6. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา บริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน
7. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณอ่าวไฟแว๊ป และอีส ออฟ อีเด็น

ในความเห็นของผมนั้นการจะประกาศปิดพื้นที่ส่วนใด เพื่ออะไร ควรจะมีการศึกษาให้ถ่องแท้เสียก่อนว่า การเข้าไปดำน้ำของนักดำน้ำโดยเฉพาะดำน้ำลึกแบบสกูบานั้น เข้าไปมีผลกระทบหรือสร้างความเสียหายกับแนวปะการังมากน้อยเพียงใด หรือนักดำน้ำและกิจกรรมดำน้ำนั้นเป็นเพียงจำเลย หรือข้ออ้างเพื่อเป็นทางออกของปัญหาเท่านั้น เพราะผมเชื่อว่านักดำน้ำแบบสกูบ้านั้นส่วนใหญ่ล้วนมีจิตใจที่จะช่วยกันดูแลรักษาแนวปะการังและโลกใต้น้ำด้วยกันทั้งนั้น ส่วนที่น่าเป็นห่วงก็คงเป็นทัวร์ดำน้ำตื้นแบบสนอร์เกิ้ลที่มีผู้คนหลากหลาย บางคนมีประสบการณ์ดำน้ำมาบ้าง บางคนไม่เคยลงดำน้ำมาเลย พอสวมเสื้อชูชีพได้สวมหน้ากากสนอร์เกิ้ลได้ก็ลงไปแหวกว่ายดำน้ำดูปะการัง พอเหนื่อยก็หาที่เยียบยืนเพื่อพักหายใจบนก้อนปะการัง บนโขดปะการัง ซึ่งจะทำให้ปะการังตายหรือแตกหักเสียหายได้ ยิ่งเมื่อแนวปะการังป่วยไข้เช่นในปัจจุบัน ก็ยิ่งมีความอ่อนไหวบอบบาง ดังนั้นแหล่งดำน้ำดูปะการังบริเวณน้ำตื้นๆที่นักท่องเที่ยวสามารถเยียบยืนถึงนั้น ก็ควรจะปิดและงดเว้นกิจกรรมบริเวณนั้นเสีย หรืออาจจะทำแนวทุ่นลอยป้องกันไว้ให้นักดำน้ำเข้าไปชมได้เฉพาะแนวระดับน้ำที่ต้องลอยตัวดูเท่านั้น



ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวและล้มตายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้ นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับท้องทะเลไทย ซึ่งสาเหตุเกิดจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์ทุกคนบนโลกมีส่วนร่วมกันสร้าง ร่วมทำมันขึ้นมา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ใหญ่โตและรุนแรงเกินกว่าใครคนใดคนหนึ่ง หรือมาตรการเยียวยาเพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่งจะสามารถแก้ไขได้ นอกจากความร่วมมือของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันลดภาวะโลกร้อนจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ลดการใช้ทรัพยากรของโลกลง ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกอันเป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่วนหนทางที่จะช่วยเหลือฟื้นฟูแนวปะการังที่ดีที่สุดก็คือการให้เวลากับธรรมชาติ เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยารักษาตัวเองเท่านั้น มาตรการฟื้นฟูอื่นๆ เช่นแนวคิดการปลูกปะการัง หรือย้ายปะการังเข้าไปช่วยปลูกซ่อมแซมอย่างที่บางคนเสนอนั้น อย่าทำเลยครับ เพราะคงไม่สามารถช่วยอะไรกับท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลได้ การตัดกิ่งปะการังจากที่หนึ่งเพื่อย้ายมาปลูกก็เหมือนการก่อให้เกิดการทำลายขึ้นใหม่ในจุดนั้น และเมื่อนำมาลงปลูกส่วนใหญ่ก็จะตาย และหากรอดได้ก็จะไม่แข็งแรงเหมือนอย่างที่ไข่ปะการังจากธรรมชาติจะเลือกทำเลฝังตัวและก่อเกิดขึ้นเป็นหมู่ปะการังและแนวปะการังอย่างที่เราเห็นกัน การปลูกปะการังนั้นไม่มีใครทำได้หรอกครับนอกจากท้องทะเลและธรรมชาติเท่านั้น

การเสนอปิดอุทยานทางทะเลแห่งนั้นๆไปเลยตามข้อเสนอของบางฝ่าย ซึ่งเป็นเสมือนการกันคนออกไปจากธรรมชาติอาจจะไม่ใช่หนทางแก้ไขที่ถูกต้อง แต่บางครั้งเมื่อคนไข้อาการหนักก็อาจจำเป็นต้องงดเยี่ยมกันบ้างเพื่อให้คนไข้ได้พักผ่อน ได้พักฟื้นร่างกายให้แข็งแรงเสียก่อน จึงค่อยเปิดให้เยี่ยมเยี่ยน การประกาศปิดเฉพาะจุดที่วิกฤตินั้นน่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมกว่า เพราะการประกาศปิดพื้นที่ทั้งอุทยานไม่ให้คนย่างกรายเข้าไปศึกษาเข้าไปท่องเที่ยวเลยนั้น เป็นการปิดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าไปรู้เข้าไปเห็นปัญหา ปิดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วม ก็อาจจะทำให้คนที่รักและห่วงใยท้องทะเลไม่เห็นความสำคัญของปัญหาและอาจจะลืม เลือนเลิกคิดถึง เลิกห่วงใย เลิกเอาใจใส่ไปเลยก็เป็นได้ เมื่อท้องทะเลเกิดปัญหาเกิดวิกฤติ เราก็ควรจะใช้วิกฤติครั้งนี้สร้างจิตสำนึกให้ทุกฝ่ายร่วมกันมองเห็นความ สำคัญของปัญหา ร่วมกันปกป้องดูแลรักษาแนวปะการังและความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ใช้โอกาสให้นักดำน้ำที่เข้าไปดำน้ำในจุดที่ยังไม่ประกาศปิดมีส่วนช่วยกัน เป็นอาสาสมัครรายงานข้อมูลหรือภาพถ่ายการเปลี่ยนแปลง เพื่อศึกษาวิจัยถึงระยะเวลาของการฟื้นตัวของแนวปะการังและสรรพชีวิตใต้ท้องทะเล เพื่อนำมาเป็นประโยชน์ต่อแนวปะการังและท้องทะเลไทยต่อไปในอนาคตน่าจะเป็นทางออกที่ดีในยามนี้




จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม