ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 26-12-2014
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


10 ปีซากขยะสึนามิอยู่ที่ไหน



แม้เวลาจะผ่านพ้นเข้าสู่ปีที่ 10 แล้วกับเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ แต่คราบน้ำตาของผู้สูญเสียยังไม่จางหาย คลื่นยักษ์ที่ถาโถมไม่เพียงแต่กลืนกินชีวิตผู้คนนับแสน แต่ยังกวาดทำลายเมืองริมชายฝั่งอย่างจังหวัดอาเจะห์จนสิ้นซาก เหลือไว้แต่เศษซากปรักหักพังที่กินพื้นที่เข้าไปในแผ่นดินไกลกว่า 6 กม. จากเหตุธรณีพิโรธในครั้งนั้น

เมื่อได้ขับรถลัดเลาะไปตามริมชายฝั่งจังหวัดอาเจะห์ทางตะวันตกบนเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซียในวันนี้ แทบไม่มีกลิ่นอายพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิเมื่อ 10 ปีก่อน จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเศษซากความย่อยยับจากแรงมหาศาลของคลื่นน้ำในครั้งนั้นได้สร้างความพินาศอย่างไรบ้างกับเมืองนี้ แม้เศษซากบางส่วนจะถูกนำไปรีไซเคิลสร้างเป็นถนน วัสดุก่อสร้าง หรือเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ในครัวเรือนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่แล้วก็ตาม แต่ยังมีบางส่วนที่ถูกนำไปเผาและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ขยะส่วนใหญ่มักถูกปล่อยทิ้งลงสู่ทะเล

ถึงแม้ความทรงจำอันโหดร้ายยังตราตรึงอยู่ แต่ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ภาพชาวประมงอาเจะห์นำเรือออกทะเลหาปลา และชาวนาที่เตรียมดินสำหรับปลูกข้าว สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงนับจากวันนั้น วันที่ 26 ธ.ค. 2547 ที่คลื่นยักษ์โถมเข้าใส่จังหวัดอาเจะห์ ขณะที่ป่าโกงกางถูกปลูกขึ้นเพื่อใช้เป็นที่กำบังคลื่นสึนามิในอนาคต

อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ยังเป็นกังวลแม้เวลาจะผ่านไป 1 ทศวรรษแล้วก็ตามคือ เศษซากขยะปริมาณมหาศาลราว 10 ล้านคิวบิกเมตร ที่ทิ้งไว้ให้เหยื่อที่รอดชีวิตได้ดูต่างหน้า รวมทั้งขยะส่วนใหญ่ที่ไหลลงกลับคืนสู่ทะเล ซึ่งนายคุนโตโร มังคุสุโบรโต หัวหน้าสำนักเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างอาเจะห์เผยว่า การกำจัดขยะจากเศษซากสึนามิที่หลงเหลืออยู่อย่างไม่ถูกวิธี ทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายในระยะยาว และหากนำขยะทั้งหมดมากองรวมกันบนพื้นที่ขนาด 10,000 ตร.ม. จะสามารถสุมตัวขึ้นเป็นหอคอยขยะที่มีความสูงถึง 1,000 เมตรได้เลยทีเดียว

การกำจัดเศษซากปรักหักพังจากบ้านเรือน ต้นไม้ ที่ฝังทับร่างเหยื่อไร้ลมหายใจนับแสนคน ถือเป็นงานสุดหินหลังจากระดับน้ำลดลง หนึ่งในวิธีที่ผู้รอดชีวิตเลือกใช้กำจัดขยะก็คือการเผา ที่มาพร้อมกับควันรวมถึงมลพิษปนเปื้อนจากน้ำมันและสารเคมีลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำลายระบบทางเดินหายใจ จนครั้งหนึ่งไฟเกิดลุกลามควบคุมไม่อยู่ กินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง แม้ทางการจะพยายามห้ามปรามประชาชนแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้ถนนสายหลักถูกเก็บกวาดเรียบร้อย มีขยะหลายตันต่อวันที่ถูกลำเลียงไปทิ้งยังพื้นที่ทิ้งขยะ ขณะที่ขยะบางส่วนถูกนำไปทิ้งอย่างสะเปะสะปะในพื้นที่รอบเมือง ซึ่งบางชิ้นเป็นขยะที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน และแร่ใยหิน รวมถึงขยะอันตราย ที่สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) เผยว่า มีกากของเสียทางการแพทย์ ส่วนหนึ่งเป็นยาที่หมดอายุเกือบ 50 ตัน ซึ่งได้รับบริจาคมา และกำลังรอนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

ในระยะเวลา 3 เดือนหลังสึนามิพัดถล่ม ยูเอ็นดีพีได้เริ่มโครงการรีไซ เคิลขยะมูลค่าถึง 40.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,296 ล้านบาท) พร้อมกับระดมอาสาสมัครชั่วคราว 400,000 คน เพื่อนำซากต้นไม้ ก้อนอิฐ เศษหิน เศษเหล็ก กลับมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างถนน บ้านเรือน รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งโครงการจัดการขยะจากภัยสึนามิของยูเอ็นดีพีสามารถกำจัดขยะได้ราว 1 ล้านคิวบิกเมตร เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 400 สระ และได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รัฐบาลเพื่อให้ดูแลสานต่อโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนราว 1,300 ราย

แม้ภัยธรรมชาติครั้งนี้จะทิ้งร่องรอยมากกว่าความสูญเสียให้แก่ชาวอาเจะห์ แต่สำหรับทางการอินโดนีเซียต่างรู้สึกซาบซึ้งในน้ำใจและเผยว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นไปได้ เพราะความช่วยเหลือจากนานาชาติ ที่ทำให้งานกำจัดขยะแห่งความสูญเสียนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และรู้ว่าโลกไม่เคยทอดทิ้งดินแดนอาเจะห์.


......................................................................................

ตัวเลขข้อมูลภัยพิบัติสึนามิปี 2547


ข้อมูลและตัวเลขจากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 จากการรวบรวมข้อมูลและประเมินความเสียหายจากคลื่นสึนามิและองค์การยูเนสโก

-เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางนอกชายฝั่งทางตะวันตกของเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย และก่อให้เกิดสึนามิตามมา ถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดเป็นอันดับ3 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา

-คลื่นยักษ์สึนามิที่ซัดขึ้นฝั่งที่มีความสูงที่สุดคือ 20 เมตร ในจังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย

-ความรุนแรงของพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากแผ่นดินไหวครั้งนี้มากกว่าพลังงานของระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นถึง 23,000 เท่า

-ประชาชนราว 230,000 คน เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้

-3 เหตุการณ์ภัยพิบัติในช่วงปลายศตวรรษที่ผ่านมาซึ่งมีคนเสียชีวิตมากกว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้แก่ 1. เหตุอุทกภัยในจีนเมื่อปี 2474 มีผู้เสียชีวิตกว่า1ล้านคน 2. ภัยพิบัติจากพายุไซโคลนพัดถล่มบังกลาเทศเมื่อปี 2513 มีผู้เสียชีวิตกว่า 3 แสนคน 3.เหตุแผ่นดินไหวในจีนเมื่อปี 2519 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 255,000 คน

-เรียงลำดับ14 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจากคลื่นสึนามิ 1.อินโดนีเซีย (167,540 ศพ) 2.ศรีลังกา (35,322 ศพ) 3.อินเดีย (16,269 ศพ) 4.ไทย (8,212 ศพ) 5.โซมาเลีย (289 ศพ) 6.มัลดีฟส์ (108 คน) 7.มาเลเซีย (75 ศพ) 8.เมียนมาร์ (61ศพ) 9.แทนซาเนีย (13 ศพ) 10.บังกลาเทศ (2 ศพ) 11.เซเชลส์ (2 ศพ) 12.แอฟริกาใต้ (2 ศพ) 13.เยเมน (2 ศพ) และ14. เคนยา (1ศพ)

-มีพลเมืองจาก 38 ประเทศที่เสียชีวิต ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ในจำนวนนี้เป็นชาวเยอรมันและสวีเดนประเทศละ 500 คน

-1.7 ล้านคนไร้ที่อยู่อาศัย

-9,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (316,800 ล้านบาท) มูลค่าความเสียหายโดยประมาณในประเทศที่ได้รับผลกระทบ

-4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (144,000 ล้านบาท) ความเสียหายโดยประมาณในจังหวัดอาเจะห์เพียงแห่งเดียว ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 97 ของจีดีพีของภูมิภาค

-13,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (432,000 ล้านบาท) ยอดเงินบริจาคจากทั่วโลกที่ระดมทุนช่วยเหลือเหยื่อประสบภัยสึนามิ

-7,100 ดอลลาร์สหรัฐ (227,200 บาท) จำนวนเงินบริจาคเฉลี่ยที่ผู้ประสบภัยต่อคน
ได้รับ

-3 ดอลลาร์สหรัฐ (96 บาท) คือจำนวนเงินบริจาคเฉลี่ยที่ผู้ประสบภัยต่อคนได้รับจากเหตุภัยพิบัติอื่นเมื่อปี 2547 ที่เกิดอุทกภัยในบังกลาเทศมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 766 ศพ และมีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 30 ล้านคน

-16,000 คือ จำนวนบ้านถาวรที่สร้างขึ้นในจังหวัดอาเจะห์ภายในเวลา 1 ปีให้หลัง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าความต้องการ เนื่องจากปัญหาความซับซ้อนในการจัดตั้งระบบราชการใหม่ และภาวะเงินเฟ้อ

-130,000 คือ จำนวนบ้านถาวรที่สร้างขึ้นในจังหวัดอาเจะห์ ภายใน 3 ปีหลังเหตุภัยพิบัติผ่านไป

-0,4 และ13 ตัวเลขตามลำดับคือ จำนวนเครื่องตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรระดับลึก เครื่องมือวัดระดับน้ำทะเลแนวชายฝั่ง และเครื่องมือตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่คลื่นสึนามิซัดเข้าหาฝั่ง

- ในปี 2557 จำนวนเครื่องตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรระดับลึกเพิ่มขึ้นเป็น 9 เครื่อง จำนวนเครื่องมือวัดระดับน้ำทะเลแนวชายฝั่งเพิ่มขึ้นมากกว่า100 เครื่อง เครื่องมือตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวเพื่อประเมินปัจจัยคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาฝั่งในมหาสมุทรอินเดียเพิ่มขึ้นมากกว่า 140 เครื่อง.


จาก ................ เดลินิวส์ วันที่ 26 ธันวาคม 2557

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:18
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม