ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 01-02-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


เรื่องนี้มีที่มา! ทำไมถึงห้ามปล่อย 'ปลาดุก' ลงแหล่งน้ำธรรมชาติ?



"ปล่อยนกปล่อยปลา" เป็นวลีที่คนไทยในฐานะ "ชาวพุทธ" คุ้นเคยมาช้านาน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการ "ทำบุญ" ในโอกาสต่างๆ ควบคู่กับการตักบาตรและถวายสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศมากขึ้น การปล่อยนกปล่อยปลา (หรือปล่อยสัตว์ต่างๆ) จึงต้องทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น ดังกรณีล่าสุดเมื่อนักร้องสาวคนดัง "กระแต อาร์สยาม" ต้องออกมาขอโทษสังคม หลังถูกติงเรื่องการ "ปล่อยปลาดุก" ด้วยเหตุว่าปล่อยไปแล้วจะทำลายระบบนิเวศ

- ทำไมปลาดุกถึงห้ามปล่อยลงสู่ธรรมชาติ? : ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า แม้ไทยจะมีปลาดุกพันธุ์ท้องถิ่น คือ ปลาดุกอุย ปลาดุกด้าน ปลาดุกดัก ปลาดุกมอด และปลาดุกลำพัน แต่ที่น่าห่วงคือ "ปลาดุกบิ๊กอุย" ปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกากับปลาดุกอุย มีลักษณะภายนอกคล้ายปลาดุกอุย แต่มีขนาดใหญ่ มีกะโหลกท้ายทอยจะแหลมเป็นหยัก มีการเจริญเติบโตเร็ว เป็นหมัน กินได้ทุกอย่างที่ขวางหน้าทั้งพืชและสัตว์ จนกลายเป็นการแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำท้องถิ่น

- ปลาดุกบิ๊กอุยมาจากไหน? : ข้อมูลจากคู่มือ "การเพาะเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย" จัดทำโดย กรมประมง ระบุว่า ปลาดุกบิ๊กอุยเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างแม่ปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) ซึ่งเป็นปลาดุกพื้นบ้านของไทย มีจุดเด่นคือเนื้อมีสีเหลืองรสชาติอร่อย กับพ่อปลาดุกเทศ (Clarias Gariepinus) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา จุดเด่นคือมีขนาดใหญ่ เติบโตได้รวดเร็ว กินอาหารได้แทบทุกชนิด มีความต้านทานโรคสูงและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทั้งนี้ เดิมกรมประมงได้ตั้งชื่อปลาดุกผสมนี้ว่า ปลาดุกอุย-เทศ แต่ประชาชนทั่วไปจะนิยมเรียกว่าปลาดุกบิ๊กอุยมากกว่า


- อะไรคือ Alien Spicies? : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ อธิบายคำว่า Alien Species (เอเลียน สปีชีส์) หรือ "ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น" ว่า หมายถึง สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ที่ไม่เคยปรากฏในถิ่นฐานนั้นๆ มาก่อน แต่ถูกนำเข้ามาโดยวิธีใดๆ จากถิ่นฐานอื่น บางชนิดสามารถดำรงชีวิตและมีการแพร่กระจายได้ดีในธรรมชาติ เรียกว่า ชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (Dominant Species) จนกลายเป็น ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species) ทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากโรคและสารพิษที่ติดมากับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน และอาจทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

- Alien Species ทุกชนิดต้องสร้างปัญหาหรือไม่? : ต้องบอกว่า "ไม่เสมอไป" อย่าง ?พริก? เครื่องปรุงอาหารที่คนไทยขาดไม่ได้และเป็นภาพจำว่าด้วยส่วนประกอบของอาหารไทยในสายตาชาวโลก รวมถึง "ยางพารา" พืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคใต้ ต้นกำเนิดไมได้อยู่บนแผ่นดินไทย แต่เดินทางมาไกลจากภูมิภาคลาตินอเมริกา (ทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้)

ในขณะที่ "ผักตบชวา" ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคลาตินอเมริกาเช่นกัน แต่กลับก่อปัญหาให้กับระบบนิเวศต่างถิ่นที่มันไปอยู่ เพราะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติคอยควบคุมจำนวนอย่างในถิ่นกำเนิดทำให้แพร่พันธุ์ได้อย่างไม่จำกัด อย่างในประเทศไทย มีรายงานการเข้ามาของผักตบชวาตั้งแต่ปี 2444 และมีความพยายามกำจัดตั้งแต่ปี 2456 แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่สำเร็จ เช่นเดียวกับ "จอกหูหนูยักษ์" โดยพืชทั้ง 2 ชนิด ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนกีดขวางการไหลของน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย

- มีกฎหมายอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง? : หากเป็นการนำเข้าพืชจากต่างประเทศ จะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ.2507 ซึ่งการนำเข้าทั้งเพื่อการศึกษา เพื่อการค้า สิ่งกำกัด (ที่มีกฎหมายกำหนดว่าหากจะมีการนำเข้า-ส่งออกหรือผ่านราชอาณาจักรจะต้องได้รับอนุญาตหรือปฏิบัติให้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้นๆ) และสิ่งที่ไม่ต้องห้าม ขณะที่หากเป็นการนำเข้าสัตว์ (รวมถึงซากสัตว์) จะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 แต่หากเป็น สัตว์น้ำ" จะอยู่ในส่วนของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560

แน่นอนว่าการทำบุญ มีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ต่างๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล สร้างขวัญกำลังใจแก่ตนเองเป็นสิ่งดีไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ก็ต้องทำด้วยความเข้าใจ เพื่อไม่ให้กลายเป็นการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์!!!


https://www.naewna.com/likesara/784162

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม