ดูแบบคำตอบเดียว
  #82  
เก่า 01-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,355
Default


วิตกจริตทำจิตใจร้าย 'ไทยตื่นน้ำ' ธรรมดาแต่อย่าฝังลึก



กลางกระแสวิกฤติน้ำท่วม ในเมืองไทยก็เกิดภาพดีๆมากมาย อย่างภาพแห่งจิตอาสาของคนไทยเพื่อคนไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภาพความแตกตื่นโกลาหล รวมไปจนถึงภาพไม่ดีอันไม่น่าพึงประสงค์ ก็ไม่น้อย!!

อาจกล่าวได้ว่า...ไทยกำลังอยู่ในยุค ’ตื่นน้ำ“

ก็เป็นธรรมดา...ทว่า ’บางอย่างก็ไม่น่าเลย...“

’ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เรามองได้ว่าสังคมมีภาพใหญ่ 2 ภาพซ้อนกัน ทั้งในแง่บวก และแง่ลบ“...ที่ปรึกษาฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ระบุถึงภาพปรากฏการณ์ต่างๆในวิกฤติน้ำท่วม พร้อมทั้งบอกอีกว่า...มุมดีๆเรื่อง จิตอาสา-จิตสาธารณะ เป็นเรื่องดีมาก ขณะที่การแตกตื่นข่าว กักตุนอาหาร เอารถไปจอดบนทางด่วนซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จากเหตุที่ไม่คาดคิด ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น

“แง่ลบ เรื่องความขัดแย้ง การทำลายคันดินคันทราย สะท้อนให้เห็นถึงการดูแลแก้ไขน้ำในระดับจังหวัดและระดับเขตที่ต่างคนต่างทำ ไม่มีความเป็นเอกภาพ การจัดการทำได้ไม่ดี ไม่ปรึกษาหารือ ไม่ช่วยเหลือกันและกัน ที่สุดก็ทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นธรรมดา” ...ศ.ดร.อดิศร์ ระบุ

และยังบอกด้วยว่า...ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งดีและไม่ดี สะท้อนชัดว่าเราไม่ได้มีการเตรียมตัว วางแผน ประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ให้ความสำคัญเรื่องอุทกศาสตร์ต่ำมาก และมีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำโดยรวม ที่สำคัญสภาพภูมิประเทศของไทยในปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่มากได้ สะท้อนถึงป่าต้นน้ำของเราที่ถูกทำลายจนไม่มีที่ชะลอความแรงและความเร็วของน้ำฝน ที่ปีนี้มีมากกว่าเดิม 3 เท่าตัว

ด้าน รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการ และวิจัย และอาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า...ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งการแตกตื่นข่าว ทะเลาะเบาะแว้ง ห่วงรถ ก็เป็นปรากฏการณ์ที่สมกับเหตุ คนเห็นภาพน้ำท่วมหลายจังหวัดไล่มาเรื่อยๆ จึงกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตนบ้าง เรื่องต่างๆก็จึงเกิดขึ้น อย่างเรื่องรถก็เป็นธรรมดาที่ทุกคนจะต้องห่วง เพราะรถมิดทั้งคันไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งต้องเสียค่าซ่อมหลายแสน คงไม่มีใครอยากจ่าย

การแตกตื่นข่าวสารที่เกิดขึ้น ก็เพราะข่าวจริงของรัฐบาลเชื่อไม่ค่อยได้ เพราะบอกว่าควบคุมได้ ป้องกันได้ แต่ไม่จริง ขณะที่ข่าวลือที่บอกว่ามาแน่ ท่วมแน่ กลับจริง คนจึงเชื่อข่าวลือมากกว่า และเพราะความรุนแรงของน้ำครั้งนี้มีมาก จึงไม่แปลกที่คนจะปริวิตกเดือดเนื้อร้อนใจถึงขนาดทะเลาะกัน พึ่งรัฐไม่ได้ ก็ต้องพึ่งตัวเอง เมื่อพึ่งตัวเอง ก็ต่างคนต่างทำ ความโกลาหลอลหม่านต่างๆก็เกิดให้เห็น

“การรื้อกระสอบทราย พังคันดิน ในระดับชาวบ้าน ถือว่าไม่แปลก เพราะเครียด ฝั่งเราเปียก อีกฝั่งแห้ง ที่ทำเพราะอยากบรรเทาความเดือดร้อนของชีวิตตัวเองมากกว่าที่จะคำนึงถึงภาพรวม ไม่ได้มีเจตนาร้าย แต่ภาพนักการเมืองท้องถิ่นพาชาวบ้านไปพังกระสอบทรายอีกด้าน เป็นเรื่องที่ไม่น่าดู ไม่ควรทำ”…รศ.พรชัย ระบุ

พร้อมทั้งกล่าวถึงเรื่องจิตอาสาว่า...เป็นเรื่องดี เป็นอีกมุมดีของพลังโซเชียลเน็ตเวิร์ก ทำให้ได้เห็นว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้ถูกใช้แค่ประท้วงรัฐบาล คราวนี้เราได้เห็นเด็กวัยรุ่นอายุไม่มาก ที่บ้านก็ยังไม่ปลอดภัย แต่ก็ออกมาช่วยคนอื่น เพราะการบอกข่าวกันในโซเชียลเน็ตเวิร์ก นี่เป็นพลังด้านดีอีกด้านที่ควรขยายความต่อ

นอกจากมุมมองของนักวิชาการ 2 ราย ดังที่ว่ามาแล้ว ทาง ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานโครงการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็วิเคราะห์และแบ่ง คนไทยกลางวิกฤติน้ำท่วม ได้น่าพิจารณา โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่ม ซึ่งโดยสังเขปคือ... กลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ตั้งสติ เตรียมพร้อมรับมือ แต่ไม่ได้ตื่นกลัวหรือทำให้แตกตื่น, กลุ่มที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผวา วิตกกังวล แตกตื่นหรือตื่นตูม จิตเตลิดตลอดเวลา, กลุ่มที่ต้องทำตามหน้าที่ เก็บเรื่องราวของตัวเองไว้ก่อน ยึดภาระรับผิดชอบเป็นหลัก

กลุ่มที่เข้าช่วยเหลือเผื่อแผ่ แบ่งปัน แม้บุคคลที่ช่วยจะไม่ใช่ญาติพี่น้องหรือเป็นคนที่ไม่ชอบหน้า, กลุ่มที่ร่วมด้วยช่วยกัน แม้จะทุกข์ก็ช่วยประคับประคองกันและกัน ช่วยอะไรได้ก็จะช่วย ทำอะไรได้ก็จะทำ, กลุ่มที่มือไม่พายแต่เอาเท้าราน้ำ หาเรื่องตำหนิได้เสมอ สนุกกับการทำให้ผู้อื่นตื่นตระหนก ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้นมีแต่จะนั่งดูและพูดถึงคนอื่นในด้านลบ, กลุ่มที่เอาตัวเองให้รอด คนอื่นเป็นอย่างไรไม่สนใจ ถ้ามีใครเข้ามาช่วยก็จะขอบคุณ แต่ถ้าใครรุกล้ำก็จะเดือดดาล หากตัวเองเป็นอะไรไปหรือต้องประสบชะตากรรม จะไม่ยอมและจะพยายามให้คนอื่นเป็นอย่างตนเองด้วย ทั้งนี้ จาก 7 กลุ่มที่ว่ามา กลุ่มใดถือว่าดี-ถือว่าไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใดมองก็ย่อมมองออก แต่ ’ประเด็นสำคัญจริงๆ“ อยู่ตรงที่ ดร.จิตรา ทิ้งท้าย คือ...

’สำคัญมากในช่วงนี้สำหรับทุกคนทุกกลุ่มคือ กายต้องรอดต้องไม่เจ็บป่วย ใจต้องแกร่งคือจิตไม่ตก รู้จักตื่นตัวแทนการตื่นกลัว ตั้งสติให้ได้แทนสติแตก มองปัญหาว่าสามารถคลี่คลายได้เสมอ

เพื่อให้สามารถมองไกลไปถึงวันข้างหน้าได้“.




จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม