ดูแบบคำตอบเดียว
  #3  
เก่า 25-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,355
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


น้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกละลายเร็วกว่าเดิม 3 เท่า เมืองชายฝั่งเตรียมรับผลกระทบ



ดูเหมือนปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะเริ่มออกฤทธิ์ให้เราได้เห็นกันเรื่อย ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อสัตว์ ผลกระทบต่อมนุษย์ หรือธรรมชาติ และล่าสุดอย่างธารน้ำแข็ง ละลายเร็วกว่าเดิม 3 เท่า ทำน้ำทะเลสูงขึ้น 5 เมตร
งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ทาง NATURE CLIMATE CHANGE พบว่า การละลายของชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกตะวันตกเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้แล้ว สืบเนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นั่นทำให้ผลกระทบที่ตามมาคือ ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และแม้เราจะช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขนาดไหน ก็จะไม่ทำให้น้ำแข็งละลายช้าลง

การศึกษาดังกล่าวนำทีมโดย Kaitlin Naughten ในการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เราเห็นว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในทะเลอามุนด์เซนที่แอนตาร์กติกตะวันตกจะเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าในช่วงศตวรรษนี้

แม้ว่าโลก จะร่วมกันทำข้อตกลงปารีสในเรื่องการรักษาระดับอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น แม้เราจะช่วยกันลดความร้อนของโลกลง ณ ตอนนี้ก็ช่วยสถานการณ์นี้ได้แค่เล็กน้อยเท่านั้น ที่จะหยุดน้ำในมหาสมุทรไม่ให้อุ่น จนไปละลายน้ำแข็งที่แอนตาร์กติกตะวันตก

เป็นที่ทราบดีว่า แอนตาร์กติกตะวันตกเป็นภูมิภาคสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น และแอนตาร์กติกตะวันตกก็มีปริมาณน้ำแข็งมากเพียงพอที่จะทำให้น้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 5.3 เมตร

นอกจากนี้ แอนตาร์กติกตะวันตกยังเป็นที่ตั้งของธารน้ำแข็ง THWAITES หรือที่รู้จักกันในชื่อ ?ธารน้ำแข็งแห่งวันโลกาวินาศ? เนื่องจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นหลายเมตรจากการละลายของธารน้ำแข็ง ทำให้ประเทศแถบชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมมีผลกระทบถึงประเทศไทยด้วย เพราะกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลแค่ 1.5 เมตร หมายความว่า ถ้าระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นถึง 5.3 เมตรจริง กรุงเทพฯ ก็มีโอกาสสูงทีเดียวที่น้ำจะท่วม รวมถึงพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลในส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทยด้วย

เท็ด สคัมบอส นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจก็เพราะ

"ผู้คนในปัจจุบันจะทันได้เห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่จะเพิ่มสูงขึ้นในประเทศแถบชายฝั่งทะเลทั่วโลก"

ผู้เชี่ยวชาญอีกหนึ่งท่านที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อการศึกษาครั้งนี้คือ TIAGO SEGABINAZZI DOTTO นักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ศูนย์สมุทรแห่งชาติในสหราชอาณาจักร โดยกล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ควรต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการศึกษาหรือสรุปอะไรออกมา

ทางด้านของ NAUGHTEN และผู้ร่วมศึกษาได้แจ้งว่า เธอเข้าใจว่าการศึกษานี้มีข้อจำกัดอยู่ และการจะทำนายอัตราการละลายในอนาคตของแอนตาร์กติกตะวันตกนั้น เป็นเรื่องซับซ้อนมาก แต่ทาง NAUGHTEN ก็ยังยืนยันว่า 'ขณะนี้การละลายของน้ำแข็งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว'

"คำถามเรื่องความเศร้าและหายนะเป็นสิ่งที่ฉันใช้เวลาครุ่นคิดอยู่มากเหมือนกันกับการศึกษาครั้งนี้ เพราะฉันไม่รู้จะสื่อสารข่าวร้ายนี้ออกไปอย่างไร" NAUGHTEN กล่าว

"ถ้าเป็นวิธีตามขนบ ฉันก็ควรจะต้องให้ความหวังกับผู้คนบ้าง แต่กับเรื่องนี้ฉันไม่เห็นว่าเราจะมีหวังกันได้อย่างไร แต่นี่คือสิ่งที่วิทยาศาสตร์บอกฉัน และฉันต้องบอกให้ทุกคนรู้"

"การละลายของชั้นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกตะวันตกถือเป็นผลกระทบหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วเราทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากปรับตัวให้อยู่รอดให้ได้ เพราะถึงยังไง เราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นได้แล้ว" NAUGHTEN กล่าว


https://www.nationtv.tv/gogreen/378934117


******************************************************************************************************


โลกเสี่ยงเดือดหนัก ผลวิจัยเผยโลกปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้น 1.5% ในปี 66



ต้นเหตุของสภาวะโลกร้อน มนุษยชาติสอบตก เพราะแทนที่โลกจะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงตามเป้าหมาย 5% แต่กลับพบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับสูงขึ้นถึง 1.5% คาดว่าระดับการปล่อยคาร์บอนจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลภายในสิ้นปีนี้

สถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศ CICERO ในนอร์เวย์เผย โลกกำลังพลาดเป้าแก้โลกร้อน หลังจากพบว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น 1.5% สวนทางกับแนวทางสู่เป้าหมายความตกลงปารีสที่ในปีนี้เราควรจะต้องลดอัตราการปล่อยคาร์บอนลง 5%


โลกเดินสวนทางแก้วิกฤตโลกเดือด

ผลตรวจการบ้านด้านการแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกแล้ว และผลประเมินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอัน เป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนในปีนี้ มนุษยชาติสอบตก เพราะแทนที่โลกจะเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และลดการปลดปล่อยคาร์บอนลงตามเป้าหมาย 5% แต่กลับพบว่า อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกลับสูงขึ้นถึง 1.5% และคาดว่าระดับการปล่อยคาร์บอนจะขึ้นสู่ระดับสูงสุดตลอดกาลภายในสิ้นปี 2566 นี้

Glen Peters ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันวิจัยสภาพภูมิอากาศ CICERO ในนอร์เวย์ กล่าวว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีสในการจำกัดภาวะโลกร้อนและหลีกเลี่ยงผลกระทบวิกฤตภูมิอากาศ โลกจำเป็นที่จะต้องลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งภายในทศวรรษนี้ ดังนั้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปี 2566 ควรจะต้องลดลงประมาณ 5%

อย่างไรก็ตาม จากผลการประเมินโดยทีมวิจัย กลับพบว่า

โลกยังคงอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าปีนี้ เราจะเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5% - 1.5%

"มีความเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งที่เราจะเห็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงในปี 2566" Peters กล่าว

เขาระบุว่า ผลการประเมินขั้นสุดท้ายจะเปิดเผยระหว่างการประชุมโลกร้อนประจำปี COP28 ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วงปลายปีนี้ เพื่อเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ประชาคมต้องเร่งเจรจากรอบการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วที่สุด ก่อนที่เราจะพลาดเป้าหมายในการป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศตลอดกาล


ทำไมเราต้องรีบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็ว

ก๊าซเรือนกระจกอย่าง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ รวมถึงก๊าซพิษอื่นๆ อันเกิดจากกิจกรรมมนุษย์ ถือเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์สภาวะโลกร้อน เพราะก๊าซเหล่านี้พอสะสมตัวมากเข้าในชั้นบรรยากาศ จะทำหน้าที่กักเก็บความร้อนที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้กระจายออกสู่อวกาศ ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จากการประชุมความตกลงโลกร้อน COP21 ที่กรุงปารีส ประชาคมโลกได้ตกลงกันว่า เราจะต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้พุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เพราะนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจนเกินเกณฑ์ดังกล่าว อาจก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนอันตรายต่อระบบภูมิอากาศโลก นำไปสู่ภัยธรรมชาติร้ายแรงจนอารยธรรมมนุษย์ไม่อาจรับมือไหว

อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงทะลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ กำลังน้อยลงเรื่อยๆ จากการที่โลกยังคงปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นๆ ดังนั้นผลการประเมินชิ้นนี้ จึงอาจเป็น final call ก่อนที่มนุษยชาติจะพลาดเป้าหมายลดโลกร้อน และต้องเผชิญกับพิษการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสุดขั้วในอนาคตอันใกล้


https://www.nationtv.tv/gogreen/378934118

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม