ดูแบบคำตอบเดียว
  #27  
เก่า 27-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


ภูเขาไฟฯ ปะทุ... ธารน้ำแข็งละลาย!! จับตาอุทกภัย...ไทยเสี่ยง?



ช่วงนี้ภัยธรรมชาติบนโลกมนุษย์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่ประเทศจีน หรือล่าสุดเกิดเหตุภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล ทางตอนใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ระเบิดปะทุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันและเถ้าละอองปลิวฟุ้งขึ้นเต็มท้องฟ้าก่อให้เกิดอันตรายกับเครื่องยนต์ไอพ่นของเครื่องบินโดยสารจนประเทศในแถบยุโรปประกาศปิดน่านฟ้า สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการบินจำนวนมากจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

การปะทุของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ครั้งนี้ เกิดห่างจากเมืองเรคยาวิกไปทางตะวันออกราว 120 กม. ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึงหนึ่งเดือนจากการปะทุเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา หลังเคยสงบเงียบมานานเกือบ 200 ปี โดยปรากฏการณ์ครั้งนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อการสัญจรทางอากาศครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เหตุวินาศกรรมปี 2544 เป็นต้นมาแล้ว หลายคนยังกังวลว่าการเกิดเหตุดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรง อันเนื่องมาจากความร้อนของลาวาที่ปะทุจะส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลาย!!

สาเหตุหลักของการเกิดระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งที่ไอซ์แลนด์บ่อยครั้งมี 2 สาเหตุ โดย รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้าน ฟิสิกส์ ให้ความรู้ว่า สาเหตุที่หนึ่งเกิดจากการที่เกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนจุดที่เรียก ว่า “จุดร้อน” (Hot Spot) ซึ่งเป็นบริเวณที่แมกมาจากที่ ลึกลงไปจากพื้นโลกมากกว่า 2,000 กิโลเมตร ผุดขึ้นมาที่พื้นผิวและผลักดันให้พื้นดินบริเวณนั้นสูงขึ้นเป็นภูเขาไฟ คล้ายคลึงกับการเกิดที่เกาะฮาวาย แต่มีความแตกต่างกันตรงที่เกาะไอซ์แลนด์ไม่มีร่องรอยของเกาะภูเขาไฟโบราณปรากฏหลงเหลือให้เห็น ในขณะที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ไป

สาเหตุที่สองคือเกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนขอบของแผ่นเปลือกโลกที่แยกออกจากกัน คือแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย และแผ่นเปลือกโลก อเมริกาเหนือ เมื่อทั้งสองแผ่นแยกออกจากกันจะทำให้แมกมาที่กักอยู่ใต้พื้นโลกลึกไม่เกิน 20 กิโลเมตร ผุดขึ้นมาปรากฏที่พื้นโลก ซึ่งโดยปกติแล้วการแยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกจะทำให้เกิดเป็นแนวเทือกเขา ภูเขาไฟใต้น้ำที่ไม่ค่อยโผล่พ้นผิวน้ำมากเท่าไหร่ การปะทุมักจะไม่รุนแรง

ความสลับซับซ้อนทางธรณีของพื้นผิวบริเวณนี้ทำให้พื้นที่บริเวณเกาะไอซ์แลนด์ มีภูเขาไฟมากถึง 130 ลูก และได้ปะทุไปแล้ว 18 ลูก การปะทุของภูเขาไฟบริเวณนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมีการประมาณกันว่าประมาณ 1 ใน 3 ของลาวาที่ออกมาที่ผิวโลกอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้

นอกจากบริเวณเกาะไอซ์แลนด์แล้วยังมีพื้นที่เสี่ยงที่มีความเป็นไปได้อีก เนื่องจากภูเขาไฟมีอยู่หลายแห่งทั่วโลก โดยที่บริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการปะทุของภูเขาไฟบ่อยครั้ง และอยู่ทางภาคใต้ไม่ห่างจากประเทศไทยมากเท่าใด ซึ่งในปี ค.ศ.1991 การระเบิดของภูเขาไฟพินาทุโบ (Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์ ก็เป็นการระเบิดที่รุนแรงและส่งผลต่อสภาพอากาศในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศอินโดนีเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีภูเขาไฟอยู่มาก

อย่างไรก็ตามภูเขาไฟที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็งมีความรุนแรงมากกว่าลักษณะอื่นหรือ ไม่ รศ.ดร.วีระชัย ให้ความเห็นว่า ความจริงแล้วการระเบิดของภูเขาไฟมีความรุนแรงด้วยกันทั้งนั้น การระเบิดของภูเขาไฟมีสองชนิดหลักด้วยกัน คือ การระเบิดที่รุนแรงที่พ่นเอาเถ้า ควัน ฝุ่นต่างๆ ขึ้นไปในอากาศ กับอีกประเภทหนึ่งคือปล่อยเอาเฉพาะลาวาออกมา พวกนี้จะไม่ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศมากเท่ากับชนิดแรก อาจจะดูเป็นแสงไฟสวยงามในตอนกลางคืน

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูลครั้งนี้ถือเป็นการระเบิดที่รุนแรงอยู่แล้วและรุนแรงมากขึ้น เพราะมีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ไปอุดช่องปะทุของมัน ทำให้ความดันที่สะสมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วมจากธารน้ำแข็งละลายอีกด้วย

ดังนั้นจึงต้องรอลุ้นเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสำคัญและศึกษาค้นคว้ากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยเราจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดต่อไป.


ผลกระทบจาก 'เถ้าภูเขาไฟ'

วเรศ วีระสัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง และการฟุ้งกระจายของเถ้าภูเขาไฟว่า เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีฟิสิกส์ที่ซับซ้อนรุนแรง โดยเถ้าภูเขาไฟเกิดจากการที่ลาวาปลดปล่อยก๊าซออกมา เมื่อลาวาร้อนไปสัมผัสกับน้ำจึงทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟปะทุพ่นฝุ่นควันภูเขาไฟออกมาเป็นจำนวนมาก ลาวาร้อนที่พ่นขึ้นมา เมื่อสัมผัสกับความเย็นจะกลายเป็นเศษหินและเศษแก้ว ส่วนฝุ่นควันที่พวยพุ่งขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นขี้เถ้ากับไอน้ำ

ลักษณะการฟุ้งกระจายและการคงอยู่ในชั้นบรรยากาศของเถ้าภูเขาไฟ จะขึ้นอยู่กับลักษณะการประทุ ทิศทางลมที่ชั้นความสูงต่างๆ สภาพทางอุตุนิยมวิทยา แรงโน้มถ่วงของโลก และที่สำคัญคือ ขนาดของมวลสารและความหนาแน่น ซึ่งถ้าเป็นเถ้าภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ก็จะฟุ้งกระจายไม่นาน และจะตกลงสู่พื้นดินหรือมหาสมุทร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เถ้าภูเขาไฟมีขนาดเล็กประกอบกับอิทธิพลของลมที่เคลื่อน ที่ไปทางทิศตะวันออกทำให้เถ้าภูเขาไฟถูกพัดฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่งผลให้หลายประเทศในทวีปยุโรปได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

สำหรับสาเหตุที่เถ้าภูเขาไฟส่งผลกระทบต่อการบิน เนื่องมาจากเถ้าภูเขาไฟเหล่านี้สามารถลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศที่สูง ซึ่งเป็นชั้นที่การบินใช้เป็นเส้นทางจราจร เมื่อเครื่องบินบินผ่านเถ้าภูเขาไฟเหล่านี้ เครื่องบินจึงเปรียบเสมือนถูกทรายพ่นใส่ส่งผลให้ลำตัวเครื่องบินและเครื่องจักรเกิดความเสียหาย



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 27 เมษายน 2553
รูป
   
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม