ชื่อกระทู้: ธรรมชาติของพะยูน
ดูแบบคำตอบเดียว
  #1  
เก่า 15-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,248
Default ธรรมชาติของพะยูน


ธรรมชาติของพะยูน ..................... โดย สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.



คนไทยเรียกพะยูน หลายชื่อ เช่น หมูน้ำ วัวแดง เงือก หรือดูหยง ส่วนคนมาเลเซียเรียก ดูกอง คนตะวันตกเรียกพะยูน (Manatee) ว่า วัวทะเล (seacow) และไซเรน (siren) ถึงจะมีชื่อเรียกหลากหลาย นักชีววิทยาก็รู้ว่าพะยูนมิใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลและกินพืชเป็นอาหาร จึงถูกจัดอยู่ในไฟลัม Chordata ชั้น Mammalia อันดับ Sirenia วงศ์ Dugongidae และ Trichechidae

พะยูนมีลำตัวอ้วนกลมเหมือนไส้กรอก หลายคนเห็นมันละม้ายคล้ายปลาโลมา รูปร่างที่กลมช่วยให้ว่ายน้ำได้ดี พะยูนมีตาและหัวเล็ก ลำตัวมีขนประปราย ลำคอกลมปากมีฟันเรียงติดกันเป็นพืด และมี เขี้ยวคล้ายงาช้างโผล่จากขากรรไกรบน แต่เขี้ยวมิได้มีไว้สำหรับต่อสู้ หรือทำร้ายใคร หางมีลักษณะแบนคล้ายหางปลา แต่วางตัวในแนวระนาบมิได้วางตั้งอย่างหางปลา หางที่แข็งแรงช่วยว่ายน้ำได้เร็ว พะยูนมีหนังหนาสีเทาดำ ลำตัวมีขนาดต่างๆกัน ตามสายพันธุ์ เช่น พะยูนที่โตเต็มที่อาจมีลำตัวยาวตั้งแต่ 2.5 ถึง 4.5 เมตร และหนักตั้งแต่ 350 ถึง 1,600 กิโลกรัม เพราะพะยูนหายใจด้วยปอดเหมือนสัตว์บกอื่นๆ ดังนั้นมันจึงต้องโผล่จมูกขึ้นหายใจที่ผิวน้ำทุก 1-5 นาที

พะยูนตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าพะยูนตัวเมีย อีกทั้งมีเขี้ยวและหนวดที่ริมฝีปากบน ครีบคู่หน้าของมันค่อนข้างสั้น ลำตัวด้านหลังมีสีเทาดำและเขียวคล้ำ ท้องพะยูนตัวผู้มีสีดำนวลหรือเทาปนขาว ส่วนตัวเมียมีนมสองเต้า ขนาดเท่านิ้วก้อยให้ลูกพะยูนได้ดูดกิน กะลาสีเรือเดินทะเลสมัยโบราณ ได้เห็นว่าเวลาแม่พะยูนให้นมลูก มันจะลอยตัวขึ้นพ้นน้ำจนสูงระดับเอว แล้วใช้ครีบหน้าโอบอุ้มลูกให้กินนมในลักษณะเดียวกับแม่คนที่ให้นมลูก คนในสมัยโบราณจึงเชื่อว่ามันคือ เงือกในเทพนิยายที่มีครึ่งบนเป็นคน ส่วนครึ่งล่างเป็นปลา ดังในนิทานเรื่องพระอภัยมณี และเทพนิยายของ Hans Christian Anderson แม้ Christopher Columbus ซึ่งได้ออกเดินทางแสวงหาโลกตะวันออกโดยการเดินทางไปทางทิศตะวันตกเมื่อ 500 ปีก่อน ก็เคยกล่าวว่าได้เคยเห็นนางเงือกในมหาสมุทร

ทุกวันนี้เราสามารถพบเห็นพะยูนได้ในทะเลเขตร้อน เช่น แอฟริกาใต้ บราซิล อเมริกาเหนือ ลุ่มแม่น้ำอะเมซอน เอเชียใต้ และออสเตรเลีย ในประเทศไทยมีรายงานการพบพะยูนทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน เช่นที่สตูล ตรัง กระบี่ ภูเก็ต พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และชลบุรี

พะยูนชอบว่ายน้ำตามบริเวณปากแม่น้ำซึ่งน้ำไม่ลึก หรือตามริมฝั่งที่มีหญ้าทะเลมาก เพราะที่นั่นเป็นบริเวณที่น้ำจืดกับน้ำทะเลไหลมาสมทบกัน ดังนั้นเวลากระแสน้ำจืดพัดพาโคลนตมและตะกอนไหลมาปะทะน้ำเค็มในทะเล บริเวณปากน้ำจึงมีอาหารให้พะยูนบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์ น้ำทะเลมีความหนาแน่นสูงกว่าน้ำจืด ดังนั้นเวลาปะทะกัน น้ำจืดจะลอยตัว ส่วนน้ำทะเลจะจมตัวลง ดังนั้นพะยูนในทะเลจึงสามารถว่ายน้ำเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ได้ไกลถึง 300 กิโลเมตร พะยูนชอบกินหญ้าทะเล ดังนั้นบริเวณที่มีหญ้าทะเลมากจะเป็นสถานที่ที่พบเห็นพะยูนง่าย เวลาพะยูนกินอาหาร มันจะใช้ครีบหน้าจับหญ้าป้อนเข้าปากพะยูนที่เติบโตเต็มที่อาจต้องการอาหารถึงวันละ 45 กิโลกรัม คิดเป็น 5-10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว นอกจากหญ้าทะเลที่ขึ้นแล้ว พะยูนอาจกินใบหญ้าหรือใบไม้ที่ลอยตามผิวน้ำรวมทั้งหนอนและแมลงที่ติดอยู่ตามใบไม้เหล่านั้นด้วย

เมื่อถึงหน้าร้อน พะยูนจะว่ายน้ำมารวมกันเป็นกลุ่ม และใช้เวลาส่วนใหญ่พักผ่อนหรือว่ายน้ำเล่น พะยูนชอบชีวิตที่สงบ ไม่เป็นศัตรูของใคร และไม่มีสัตว์อะไรเป็นศัตรู เวลารู้สึกว่าชีวิตจะเป็นอันตราย พะยูนจะว่ายน้ำหนีสถานเดียว ในเวลาปรกติ ลำตัวที่อุ้ยอ้ายทำให้มันว่ายน้ำได้ช้า 1-3 เมตรต่อวินาที แต่เวลาตกใจ มันอาจว่ายน้ำได้เร็วถึง 7 เมตรต่อวินาที



พะยูนมักใช้เวลาว่ายน้ำวนเวียนอยู่ในบริเวณที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์นาน เป็นสัปดาห์ จนกระทั่งอาหารหมดมันจึงอพยพย้ายถิ่น และถ้าอุณหภูมิของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงมาก มันก็จะว่ายน้ำหนีเช่นกัน อุณหภูมิ 22 องศาเซลเซียสคือ อุณหภูมิที่มันชอบมากที่สุด

เมื่อพะยูนมีอายุ 9 ปี มันก็โตเต็มที่และพร้อมจะสืบพันธุ์เมื่อถึงเวลา พะยูนหลายตัวจะว่ายน้ำมาอยู่เป็นฝูง โดยมีเหล่าตัวผู้ว่ายวนล้อมรอบตัวเมียเพียงตัวเดียวเพื่อเกี้ยวพาราสีจนตัวเมียใจอ่อน (หรือบางครั้งก็อ่อนใจ) ขณะมีเพศสัมพันธ์ ตัวผู้จะไม่ควบคุมความรู้สึก คือ จะส่งเสียงร้องดัง และเมื่อเสพสมแล้ว ตัวเมียก็จะมีเพศสัมพันธ์กับตัวผู้ตัวอื่นต่อจนกว่าจะเพียงพอ จากนั้นตัวเมียก็ตั้งท้องนานประมาณ 13-15 เดือน และออกลูกเป็นตัวครั้งละตัว การสืบพันธุ์ลักษณะนี้ทำให้มันแตกต่างจากปลาที่วางไข่ก่อนแล้วจึงฟักไข่เป็นตัวในภายหลัง ลูกพะยูนมีขนาดต่างๆกันตามสายพันธุ์ บางพันธุ์อาจหนักถึง 30 กิโลกรัม และมีลำตัวยาว 1-2 เมตร

ลูกพะยูนที่เกิดใหม่จะว่ายน้ำเคล้าคลอแม่ตลอดเวลา จะกินหญ้าทะเล และนมแม่นาน 1-5 ปี จนโตเต็มที่แล้วจึงว่ายน้ำจากไปแต่จะหวนกลับมาหาแม่บ้างในบางคราว และถ้าลูกพะยูนตายก่อนเวลาอันควร แม่พะยูนก็อาจขโมยลูกพะยูนตัวอื่นมาเลี้ยงแทน เพราะลูกพระยูนต้องการแม่นานประมาณ 2 ปี ดังนั้นแม่พระยูนจึงงดมีเพศสัมพันธ์ใดๆ เป็นเวลานานประมาณ 2 ปี แต่ถ้าลูกน้อยเสียชีวิตก่อน มันก็จะลดเวลาที่คอยลง

ถึงพะยูนจะมีรูปร่างเหมือนปลาโลมา แต่นักชีววิทยาก็พบว่าพะยูนเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับช้างยิ่งกว่าปลาโลมา ข้อสรุปนี้ได้จากการศึกษาตัวอ่อนของช้าง และพะยูนที่ E. Haeckel นักชีววิทยาชาวเยอรมันได้วิจัยเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน โดย Haeckel ได้พบว่าตัวอ่อนของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้มีโครงสร้างทางสรีระที่คล้ายกันมากจนในอดีตเมื่อ 40 ล้านปีก่อน ช้างและพะยูนมีต้นตระกูลร่วมกัน ถึงวันนี้มันก็ยังมีงวงและจมูกที่ใช้หายใจเหมือนกัน มีพฤติกรรมสืบพันธุ์ที่คล้ายคลึงกัน และเลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน ส่วนข้อแตกต่างคือช้างเป็นสัตว์บก และพะยูนเป็นสัตว์น้ำ ณ วันนี้โลกมีพะยูนเหลืออยู่เพียง 4 วงศ์ คือ Trichechus manatus, Trichechus inungius, Trichechus senegalensis และ Dugongidae

ถ้านับวันที่พะยูนถือกำเนิดเกิดบนโลก เราก็จะพบว่ามันดำเนินชีวิตอย่างไม่มีศัตรู แต่บัดนี้ พะยูนกำลังจะสูญพันธุ์เพราะมนุษย์ล่ามันเป็นอาหาร เอาหนังมาทำเครื่องนุ่งห่ม เอาไขมันไปปรุงอาหารและทำน้ำมันบริโภค เอากระดูกไปบดเป็นยา เป็นต้น ดังรายงานที่ปรากฏในปี 2284 ว่าได้เกิดเหตุการณ์เรืออับปางใกล้อลาสก้า ภาวะอาหารขาดแคลนและความหนาวที่ทารุณทำให้เหล่ากะลาสีเรือต้องออกล่าพะยูน (Hydrodamalis gigas) ที่มีขนาดใหญ่กว่าพะยูนปัจจุบันราวสองเท่า เพื่อนำมาบริโภคเป็นอาหาร แต่ในที่สุดพะยูนชนิดนี้ก็สูญพันธุ์

ณ วันนี้พะยูนจึงเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่ได้รับการคุ้มครองให้ปลอดจากการถูก ล่าและฆ่าทิ้ง แต่ในขณะเดียวกัน ถึงจะไม่ถูกฆ่า แต่สภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่กำลังถูกมนุษย์รบกวนอย่างรุนแรง เพราะใช้ทะเลเป็นทางสัญจรของมนุษย์และมนุษย์สร้างเขื่อนและตกปลาโดยใช้แหอวนล่าปลาซึ่งอาจติดพะยูนด้วย นอกจากนี้มนุษย์ยังทิ้งขยะปฏิกูลลงทะเลทำลายถิ่นอาศัยของพะยูนอย่างเลือดเย็น การสร้างโรงแรมหรือสถานตากอากาศริมฝั่ง การนั่งเรือทัศนาจรไปเยี่ยมชมพะยูน แล้วจับต้องตัวมัน ทำให้พะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่รักสงบ ต้องหลบลี้หนีไปอาศัยที่อื่น ซึ่งอาจเป็นอันตรายยิ่งกว่า เหล่านี้คือเหตุผลที่มีส่วนทำให้พะยูนต้องประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิต

นักอนุรักษ์พะยูนในสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นว่าพะยูน 25 เปอร์เซ็นต์มีลำตัวที่เป็นแผลเพราะถูกบาดโดยใบพัดเรือ แต่ละปีมีพะยูนที่ตายด้วยอุบัติเหตุถูกเรือพุ่งชน 70-80 ตัว พะยูนบางตัวอาจถูกเรือชนแล้วชนอีกจนกระทั่งลำตัวมีรอยแผลถึง 16 แผล ในอนาคตการคมนาคมทางทะเลจะมีมากขึ้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่า จำนวนพะยูนที่จะต้องตายด้วยอุบัติเหตุถูกเรือชนก็จะมากตามไปด้วย

เพื่ออนุรักษ์พะยูน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงออกกฎหมายห้ามล่า ฆ่า จับ หรือรบกวนพะยูน แต่ถึงจะมีกฎหมาย การบังคับใช้ก็ใช่ว่าจะมีผลสมบูรณ์ เพราะในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสอดส่องหรือคุ้มครองพะยูนทุกตัวได้ตลอดเวลา ดังนั้นรัฐบาลอเมริกันจึงมีนโยบายให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์พะยูนแก่ประชาชนอเมริกัน ให้ทุกคนเห็นว่าการอนุรักษ์พะยูนเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีนโยบายให้เงินสนับสนุนคนที่ต้องการเลี้ยงพะยูนในทะเลด้วย


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม