ชื่อกระทู้: ธรรมชาติของพะยูน
ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 15-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default


ธรรมชาติของพะยูน ............ (ต่อ)




นักวิทยาศาสตร์เองก็มีบทบาทในการอนุรักษ์พะยูนเช่นกัน โดยมุ่งวิจัยพฤติกรรมของพะยูน เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด เช่นติดเครื่องส่งสัญญาณเสียงที่ส่วนหางของพะยูน เพื่อให้รู้ว่ามันอยู่ที่ใด เครื่องส่งสัญญาณจะแจ้งข้อมูลตำแหน่งของมันให้คนบนเรือรู้เพื่อจะได้หลบหลีกมัน นักวิทยาศาสตร์ยังสนับสนุนให้ชัยสูตรซากพะยูนทันทีที่มันตาย เพื่อให้รู้ชัดว่าตายเพราะอะไร สำหรับพะยูนที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วย เจ้าหน้าที่จะนำส่งโรงพยาบาลสัตว์ให้สัตว์แพทย์รักษาจนหาย จากนั้นจึงปล่อยคืนสู่ทะเล และเวลาประชาชนคนใดเห็นพะยูนบาดเจ็บ เขามีหน้าที่ต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่ทราบ นอกจากนี้รัฐบาลก็ยังมีนโยบายส่งเสริมให้พะยูนสืบพันธุ์อย่างสม่ำเสมอด้วย สำหรับประชาชนทั่วไป ก็ต้องไม่ล่วงเกินโดยจับต้องตัวมันเพราะมันไม่ชอบให้ใครรบกวน และต้องไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงทะเลที่มันอาศัย เพราะสิ่งปฏิกูลจะทำลายหญ้าทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของมัน

ในอดีตเรามีปัญหาหนึ่งที่ทำให้งุนงงพอสมควรคือ เหตุใดพะยูนจึงถูกเรือชนบ่อย ทั้งที่มันว่ายน้ำได้เร็วและมีปฏิกิริยาสนองตอบที่เร็ว หูก็ดี มันไม่ได้ยินเสียงเรือหรืออย่างไร หรือถ้าได้ยินแล้ว เหตุใดจึงไม่ว่ายน้ำหนี หรือว่ายน้ำหนีไม่ทัน ความถี่ใดที่หูมันได้ยินชัดที่สุด และความถี่ใดที่ทำให้หูมันบอด สายตามันเห็นได้ไกลเพียงใด ฯลฯ การรู้คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้จะทำให้นักอนุรักษ์พะยูนสามารถคุ้มครองพะยูนได้ดีขึ้น

ในวารสาร The Journal of the Acoustical Society of America ฉบับที่ 105 เมื่อ 4 ปีก่อนนี้ Edmund Gerstein แห่งมหาวิทยาลัย Florida Atlantic ที่เมือง Boca Raton ใน Florida ได้รายงานว่า ถึงพะยูนจะฉลาดและว่ายน้ำได้เร็ว แต่ประสาทหูของมันก็มีความสามารถในการได้ยินระดับพอใช้เท่านั้น เพราะไม่สามารถได้ยินเสียงทุกความถี่ชัด หูจะได้ยินเสียงชัดที่สุดถ้าเสียงมีความถี่ตั้งแต่ 16,000-18,000 เฮิรตซ์ และดัง 50 เดซิเบลเท่านั้น ดังนั้นเสียงเรือที่มีความถี่ 2,000 เฮิรตซ์ จะทำให้พะยูนไม่ได้ยินเสียงเรือ เมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ การห้ามเรือไม่ให้แล่นเร็วจึงเป็นอันตรายต่อพะยูน เพราะเวลาเรือแล่นช้า คลื่นเสียงจากเรือจะมีความถี่ต่ำ ทำให้พะยูนไม่ได้ยินเสียง แต่ถ้าเรือแล่นด้วยความเร็วสูง ความถี่เสียงก็จะสูงด้วย และพะยูนก็จะได้ยินชัด

ในวารสาร American Scientist ฉบับเดือนมีนาคม-เมษายน 2550 E. Gerstein ได้รายงานเสริมอีกว่า ในขณะที่ใบพัดใต้ท้องเรือหมุน คลื่นเสียงจากใบพัดจะพุ่งกระทบน้ำ แล้วสะท้อนกลับจากท้องน้ำ และเวลาคลื่นสะท้อนรวมตัวกับคลื่นที่พุ่งตรงจากใบพัด มันจะหักล้างกัน ทำให้บริเวณนั้นปลอดเสียง แต่ไม่ปลอดภัย เพราะใบพัดเรือจะหมุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเวลาพะยูนที่โชคร้ายว่ายน้ำเข้ามาในบริเวณดังกล่าว (เพราะไม่ได้ยินเสียงใดๆ) มันจึงถูกใบพัดเรือตัดตามลำตัว

ด้วยเหตุนี้ Gerstein จึงเสนอแนะให้เรือที่แล่นในทะเลที่มีพะยูนอาศัย เดินเครื่องด้วยความเร็วพอเหมาะพอดี เพื่อให้พะยูนสามารถได้ยินเสียงเรือ Gerstein ยังพบอีกว่าถ้าเรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมงพะยูนจะได้ยินเสียงเรือ ถ้ามันอยู่ห่างจากเรือเพียง 3-5 เมตร แต่ถ้าเรือมีความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันก็สามารถได้ยินเสียงเรือขณะอยู่ห่างจากเรือ 200 เมตรได้ Gerstein จึงเสนอให้เรือทุกลำติดตั้งอุปกรณ์เสียงที่มีความถี่ 17 กิโลเฮิรตซ์เพื่อส่งสัญญาณให้เหล่าพะยูนรู้ตัวและระวังตัว

นอกจากนี้ Gerstein ก็ยังพบอีกว่า ถ้าส่วนกว้างของเรือยาวกว่าความยาวคลื่นเสียงจากเครื่องยนต์ ตัวเรือจะบดบังสัญญาณเสียงที่ถูกส่งไปทางหัวเรือหมด ทำให้พะยูนที่ว่ายน้ำตรงบริเวณหัวเรือไม่ได้ยินเสียงเลย ดังนั้นเพื่อลดอุบัติเหตุประเภทนี้ Gerstein จึงเสนอแนะให้เรือมีความกว้างน้อยกว่าความยาวคลื่นเสียงที่เรือส่งออก เพื่อพะยูนที่ว่ายน้ำอยู่ในบริเวณหัวเรือสามารถรู้ว่ามีเรือกำลังจะมาชน มันจะได้ว่ายน้ำหนีทัน

ขณะนี้ประเทศไทยมีพะยูนประมาณ 200 ตัว จึงถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะที่ตรังมีมากถึง 123 ตัว ส่วนที่อื่นๆก็มีเช่น ที่กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล ระนอง และที่อ่าวมะขามป้อม จังหวัดระยอง การสำรวจทำให้เรารู้ว่า พะยูนส่วนใหญ่ตายเพราะติดอวนแล้วจมน้ำตาย หรือตายเนื่องจากได้รับความบอบช้ำจากการพยายามหลบหนีออกจากโป๊ะ ดังนั้นชาวประมงไทยจึงสมควรตรวจตราโป๊ะของตนอย่างสม่ำเสมอ หากมีพะยูนติดอวนก็รีบปล่อยมันกลับลงทะเล และถ้าได้พบพะยูนบาดเจ็บก็ควรนำมันส่งหน่วยงานของกรมประมงหรือสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเลทันที ทั้งนี้เพื่อให้พะยูนอยู่คู่ทะเลไทยตลอดไป





จาก ................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม