ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 04-08-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default

ขอบคุณข่าวจาก มติชน


สนข.ฟื้นแลนด์บริดจ์ใต้ วงเงิน 1 ล้านล้าน เล็งชง ครม.ใหม่ ต.ค.นี้ ยันไม่แข่งสิงคโปร์

ข่าวหน้า 1 ? สนข.ฟื้นแลนด์บริดจ์ใต้ วงเงิน 1 ล้านล้าน เตรียมชง ครม.ใหม่ ต.ค.นี้ ยันไม่แข่งสิงคโปร์ แค่ช่วยระบายเรือขนส่งเข้ามาในอาเซียน-ใกล้เคียง



เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ จ.ชุมพร และระนอง วงเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ว่า ปัจจุบัน สนข.เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็น ภายในเดือนสิงหาคมนี้ สนข.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ในขั้นตอนกำหนดชอบเขตและแนวทางการศึกษา หลังจากนั้น ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในขั้นตอนการประเมิน พร้อมจัดทำร่างรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการ ที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย (EHIA) และในเดือนมีนาคม 2567 จะเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ในการทบทวนร่างรายงาน EHIA ต่อไป หลังจากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ชุดใหม่ รับทราบหลักการของโครงการภายในเดือนตุลาคม 2566

นายปัญญากล่าวอีกว่า สนข.ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564-กันยายน 2566 แต่ปัจจุบันการศึกษา EHIA มีความล่าช้า เนื่องจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การศึกษา EHIA ต้องขยายระยะเวลาของสัญญาออกไป 1 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564-กันยายน 2567 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567

"ที่ผ่านมาโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ตามแผนเดิมจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนยุบสภา แต่เสนอไม่ทัน ส่งผลให้ต้องมีการเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ รับทราบหลักการอีกครั้ง ภายในเดือนตุลาคม 2566" นายปัญญากล่าว

นายปัญญากล่าวว่า ทั้งนี้ สนข.มีแผนเตรียมเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศที่มีสายการเดินเรือขนาดใหญ่ 10 ประเทศ อาทิ ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อดึงนักลงทุนจากต่างประเทศภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้น สนข.จะปรับปรุงรายละเอียด และวิเคราะห์โครงการตามข้อมูลที่ได้จากการโรดโชว์หลังจากนั้น ภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ ภายในเดือนมกราคม 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดประมูลพร้อมกันทั้งโครงการ ภายในต้นปี 2568 และลงนามเอกชนลงทุนในไตรมาส 3 ของปี 2568 คาดว่าจะทยอยเปิดโครงการในระยะแรกได้ ภายในปี 2573

นายปัญญากล่าวอีกว่า ส่วนการประมูลของโครงการ เบื้องต้นเป็นการประมูลรวมทุกแพคเกจ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึก, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟ ซึ่งใช้รูปแบบการลงทุน International
Bidding โดยให้สิทธิเอกชนในไทยและต่างประเทศเป็นผู้ลงทุน 100% ส่วนรัฐจะให้สัมปทานพื้นที่ระยะเวลา 50 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเอกชนรายใดสามารถบริหารพื้นที่ได้น้อยที่สุดตามที่ภาครัฐกำหนดจะได้รับคะแนนการพิจารณาเป็นผู้รับสัมปทานด้วย

"ยืนยันว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ไม่ได้ต้องการสร้างท่าเรือเพื่อมาแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ แต่ต้องการช่วยระบายเรือที่ต้องการเข้ามาขนส่งสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศใกล้เคียง เนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการจำกัดการเดินเรือ
หากไทยสามารถทำให้โครงการเกิดขึ้นได้จะเป็นประตูการนำเข้า-ส่งออก สินค้าในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศในแถบอาเซียน" นายปัญญากล่าว


https://www.matichon.co.th/economy/news_4112397


******************************************************************************************************


ทึ่ง! ซากวาฬดึกดำบรรพ์อายุ 40 ล้านปี ผุดในเปรู คาดล้มแชมป์สัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก


ส่วนหนึ่งของฟอสซิลวาฬดึกดำบรรพ์ "เปรูซีตัส โคลอสซัส" (Perucetus colossus) ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งของเปรูในช่วงกลางยุคเอโอซีน เมื่อประมาณ 39 ล้านปีก่อน ผลงานการค้นพบโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเปรู ที่นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม (REUTERS)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดพบซากวาฬดึกดำบรรพ์ขนาดใหญ่ในเปรูที่มีชื่อว่า "เปรูซีตัส โคลอสซัส" (Perucetus colossus) ในกลุ่มบาซิโลซอรัส (Basilosauridae) ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกเมื่อ 38-40 ล้านปีก่อนในยุคสมัยอีโอซีน (Eocene Epoch) ที่กลายเป็นผู้ท้าชิงรายใหม่สำหรับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกและอาจล้มแชมป์ปัจจุบันอย่างวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งครองตำแหน่งดังกล่าวมาอย่างช้านาน

นักวิจัยคาดการณ์ว่า เปรูซีตัส หรือ "วาฬเปรูขนาดมหึมา" (colossal Peruvian whale) ตามชื่อวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายพะยูน มีความยาวประมาณ 20 เมตร และหนักถึง 340 เมตริกตัน ซึ่งเป็นน้ำหนักที่มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เรารู้จัก รวมทั้งวาฬสีน้ำเงินและเหล่าไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอื่นๆ ด้วย

จีโอวานนี เบียนุชชี นักบรรพชีวินวิทยาของมหาวิทยาลัยปีซ่า (the University of Pisa) ในอิตาลี นักเขียนหลักของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ (Nature) ว่า ลักษณะที่โดดเด่นของสัตว์ชนิดนี้คือน้ำหนักอันมหาศาลของมัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการวิวัฒนาการสามารถสร้างสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษเหนือจินตนาการของเราได้

โดยมีการประเมินมวลร่างกายขั้นต่ำของเปรูซีตัสอยู่ที่ 85 ตัน ส่วนน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 180 ตัน ขณะที่วาฬสีน้ำเงินตัวใหญ่ที่สุดที่เคยถูกสำรวจพบมีน้ำหนักประมาณ 190 ตัน และมีความยาว 33.5 เมตร ซึ่งยาวกว่าวาฬโบราณที่เพิ่งถูกขุดพบ น้ำหนักที่มหาศาลนั้นยังเหนือกว่า อาร์เจนติโนซอรัส (Argentinosaurus) หรือไดโนเสาร์กินพืชสี่ขาคอยาวที่อาศัยอยู่เมื่อประมาณ 95 ล้านปีก่อนในอาร์เจนตินา และได้รับการจัดอันดับในงานวิจันที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคมว่าเป็นไดโนเสาร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีน้ำหนักประมาณ 76 ตัน

โดยโครงกระดูกบางส่วนของเปรูซีตัสถูกขุดพบในทะเลทรายบริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของเปรู ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยฟอสซิลของวาฬ นักวิจัยสามารถขุดกระดูกสันหลัง 13 ชิ้น กระดูกซี่โครง 4 ชิ้น และกระดูกสะโพก 1 ชิ้น ซึ่งกระดูกที่มีขนาดใหญ่อย่างที่ไม่ค่อยพบเจอเหล่านี้มีทั้งความหนาและความอัดแน่นของมวลกระดูกอย่างมาก สอดคล้องกับลักษณะที่เรียกว่า "พาชีโอสตีโอสเคลอโรซิส" (pachyosteosclerosis) ซึ่งพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจำพวกพะยูนและแมนนาที แต่ไม่พบในสัตว์จำพวกวาฬที่มีชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงโลมา และพอร์พอยส์ ขณะที่ลำพังโครงกระดูกของเปรูซีตัสนั้นก็มีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 5 ถึง 8 ตัน มากกว่าของวาฬสีน้ำเงินอย่างน้อยสองเท่า

อย่างไรก็ดี นักวิจัยไม่พบซากกระโหลกศีรษะหรือฟัน ทำให้การศึกษาด้านอาหารการกินและวิถีชีวิตของเปรูซีตัสมีความยากมากขึ้น ด้านนักวิจัยข้อสมมติฐานว่า วาฬดึกดำบรรพ์ชนิดนี้อาจมีวิถีชีวิตคล้ายพะยูน ที่ไม่ใช่นักล่าที่ว่องไว แต่เป็นสัตว์ที่หากินใกล้ท้องทะเลบริเวณน้ำตื้นริมชายฝั่ง

โอลิวิเออร์ แลมเบิร์ต นักบรรพชีวินวิทยาของสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติรอยัลเบลเจียน (the Royal Belgian Institute of Natural Sciences) ในบรัสเซลส์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ปรากฏในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่าเปรูซีตัสเป็นนักว่ายน้ำที่เชื่องช้าจากการที่มันมีโครงกระดูก รวมถึงมวลร่างกายที่มีน้ำหนักมาก ทั้งยังเป็นยักษ์ใหญ่ในทะเลที่รักสันติ คล้ายกับตัวแมนนาทีขนาดมหึมา

เบียนุชชีกล่าวว่า บางทีมันเป็นสัตว์กินพืชแบบพะยูน หรืออาจจะกินหอยขนาดเล็กและกุ้งบริเวณพื้นทรายอย่างพวกวาฬสีเทา ทั้งมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นสัตว์กินซากสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง คล้ายกับฉลามลำตัวใหญ่ที่ยังหลงเหลืออยู่บางประเภท

ทั้งนี้ วาฬมีวิวัฒนาการมาประมาณกว่า 50 ล้านปี จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกีบเท้าที่เคยอาศัยอยู่บนบกและมีขนาดใหญ่พอๆ กับสุนัขขนาดกลาง โดยเปรูซีตัสยังคงมีขาหลังหลงเหลืออยู่


https://www.matichon.co.th/foreign/news_4111245


******************************************************************************************************


อ.ธรณ์ ชี้ โลกเดือดคือ โลกกำลังวิกฤต และยังไม่มีทางออก ก.ค.ที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่เคยบันทึกมา



วันที่ 3 สิงหาคม ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์คลิป อธิบายเรื่องปรากฏการณ์ โลกเดือดว่า โลกเดือดนั้นในแง่วิทยาศาสตร์ ไม่มีถ้อยคำนี้ ถ้อยคำที่เรามีอยู่คือ ภาวะโลกร้อน แต่ถ้อยคำว่าโลกเดือดนี้ออกมาจากเลขาธิการองการสหประชาชาติ หมายถึงว่า โลกเข้าสู่จุดวิกฤต โลกเดือดจึงไม่มีตัวชี้วัดว่า โลกนี้ร้อน โลกนี้เดือด เพียงแต่คือ การเข้าสู่ภาวะวิกฤต และวิกฤตมากๆของโลกร้อน ที่สำคัญคือ ความวิกฤตนี้ ยังไม่มีทางออก และจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ภาวะโลกเดือดอาจจะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่ผ่านมา 4-5 ปีแล้ว เพียงแต่ 3 ปีที่ผ่านมา เป็นปีแห่ง ลานีญา ซึ่งช่วงลานีญานั้นโลกจะเย็นกว่าปกติ นอกจากนี้ยังมีการระบาดของโรคโควิด หลายคนจึงหันไปให้ความสนใจกับเรื่องตรงนั้น แต่มาปีนี้ เข้าสู่ปีแห่ง เอลนีโญ ทำให้โลกร้อนขึ้น แล้งขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อโลกร้อน มาถึงช่วงเอลนีโญ มันจะกลายเป็นปรากฏการณ์ซ้อนทับกัน ทั้งเอลนีโญ ทั้งโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการ

"เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบว่า เป็นเดือนกรกฎาคม ที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกมา และเรายังเชื่อต่อไปว่า ยังมีอีกหลายเดือนที่อุณหภูมิจะร้อนกว่านี้ในอนาคต" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว

รองคณบดี คณะประมง กล่าวว่า ถ้าจะถามว่า ภาวะโลกเดือดคืออะไร ก็จะหมายความว่า เรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่เราจะร้อนขึ้น เป็นสถิติบ่อยขึ้น บ่อยขึ้น และบ่อยขึ้น แสดงให้เห็นว่า โลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ตัวชี้วัดอีกตัวคืออุณหภูมิโลกที่จะเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ที่หลายคนกลัวว่า โลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือไม่นั้น ความจริงแล้ว อุณหภูมิสูงถึงระดับนั้น มีแล้ว เกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ผ่านมาแล้ว แต่เป็นไปในลักษณะ ขึ้นและลง ขึ้นและลง เป็ฯครั้งแรกที่แตะ 1.5 องศาเซลเซียส แต่มันก็ลงมา แล้วขึ้นไปอีก นั่นหมายความว่า โลกนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


https://www.matichon.co.th/local/qua...e/news_4112216

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม