ดูแบบคำตอบเดียว
  #7  
เก่า 26-12-2014
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


ถอดบทเรียน 10 ปี ‘สึนามิ’!!! เช็ค ‘ระบบเตือนภัย’ พร้อมแค่ไหน?



ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จนถึงวันนี้เท่ากับ 10 ปีพอดิบพอดีที่ “คลื่นยักษ์สึนามิ” ถาโถมเข้าถล่มเอเชียอาคเนย์ รวมถึงประเทศไทย กลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ก่อให้เกิดความเสียหายเหลือคณานับ

แม้เหตุการณ์ “สึนามิ” จะผ่านมานานจนใครหลายคนอาจลืมเลือนไปแล้ว แต่เชื่อว่าสำหรับชาวบ้านที่ “สูญเสีย” ภาพแห่งความโศกเศร้าจากมหันตภัยครั้งนั้นคงยังติดตรึง กลายเป็น “ความทรงจำ” อันเลวร้าย โดยเฉพาะที่ จ.พังงา

“เราจัดงานรำลึกเหตุการณ์สึนามิทุกปี เพื่อให้ประชาชนตระหนักว่าภัยพิบัติธรรมชาติอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ความทรงจำอันเลวร้ายของผู้ประสบภัยและญาติของผู้เสียชีวิต ยังไม่เลือนรางไปตามกาลเวลา ซึ่งการเยียวยาทางจิตใจ การช่วยเหลือจากภาครัฐและคนไทยด้วยกัน ก็ช่วยบรรเทาความทุกข์ของผู้สูญเสียลงไปได้บ้าง” ประยูร รัตนเสนีย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด(ผวจ.) พังงา ซึ่งได้รับผลกระทบเต็มๆจากสึนามิเมื่อ 10 ปีก่อน กล่าว

“พ่อเมืองพังงา” ย้อนไปถึงความสูญเสียของ จ.พังงา ในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ว่า ความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งนั้นรุนแรงเกินกว่าที่จะคาดการณ์ได้ โดย จ.พังงา มีผู้เสียชีวิตทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ รวม 4,225 คน , สูญหาย 1,753 คน และบาดเจ็บ 5,597 คน ธุรกิจท่องเที่ยว อาชีพประมง ปศุสัตว์ และการเกษตรได้รับความเสียหายจนประเมินค่าไม่ได้ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ บริเวณชายทะเล “เขาหลัก” อ.ตะกั่วป่า ซึ่งนับเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวเสียชีวิต และบาดเจ็บมากที่สุด

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากการจัดงานรำลึกถึงความสูญเสียครั้งสำคัญแล้ว ทาง จ.พังงา ยังได้ “เตรียมพร้อม” เพื่อให้ผู้คนมี “ศักยภาพ” มากพอต่อการระแวดระวัง “ภัยพิบัติ” ที่อาจเกิดขึ้นควบคู่กันไปด้วย โดย “ผวจ.พังงา” บอกว่า ณ ปัจจุบัน ทางจังหวัดมีระบบเตือนภัยสาธารณะ หรือ “หอเตือนภัย” จำนวน 18 หอ ติดตั้งในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่า, ท้ายเหมือง และคุระบุรี นอกจากนี้ยังสร้างหอกระจายข่าว 4 หอ สร้าง “อาคารหลบภัย” เพื่อใช้เป็นที่หลบภัยชั่วคราวก่อนที่จะส่งต่อไปยังพื้นที่ปลอดภัย 8 หลัง สามารถรองรับผู้อพยพได้ตั้งแต่ 200-500 คน สามารถดำรงชีวิตได้ประมาณ 5-7 วัน

นอกจากนี้ ยังมีการอบรม “ทีมกู้ชีพ” และกู้ภัยประจำตำบล ตำบลละ 10 คน รวมทั้งจังหวัดมีทั้งหมด 573 คน, ฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) เพื่อเป็นเครือข่ายช่วยแจ้งเตือนภัย และช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่, จัดทำแผนปฏิบัติการฉุกเฉินป้องกันและช่วยเหลือกรณีแผ่นดินไหว อาคารถล่มและคลื่นสึนามิ โดยกำหนดซ้อมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้ในแผนป้องกันระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และท้องถิ่น
อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ผู้คนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสึนามิมากขึ้น ชุมชนมีศักยภาพและความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติมากขึ้น” ผวจ.พังงา กล่าว

จ.พังงา เป็นหนึ่งในตัวอย่างของหลายๆ จังหวัด “เสี่ยง” ที่มีความพยายามเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสึนามิที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ดูเหมือนประชาชน “ไม่มั่นใจ” มากนัก โดยเฉพาะกับเรื่อง “ความเร็ว” ในการเตือนภัย และศักยภาพของ “หอเตือนภัย” ในหลายพื้นที่ทั้งที่พังงา และภูเก็ต ที่มีข้อท้วงติงถึงเรื่อง “เสียง” ว่าอาจไม่ดังพอที่จะทำให้พวกเขา “หนี” ได้ทัน เป็นต้น.....



“ยืนยันว่าหอเตือนภัยสึนามิมีความพร้อมสมบูรณ์ เพราะเราทดสอบเสียงสัญญาณเตือนภัยด้วยการเปิดเพลงชาติทุกวันที่ 1 และ 15 ของทุกเดือน เมื่อมีแผ่นดินไหว หรือสึนามิเกิดขึ้น เสียงสัญญาณจะช่วยให้ผู้ประสบภัยหนี หรือหาที่หลบภัยได้ทัน” นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยัน

ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังยืนยันว่า จากการทำงานในทุกขั้นตอน พบว่า ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยจะได้รับคำเตือนเรื่องแผ่นดินไหว หรือสึนามิ อย่างช้าที่สุดไม่เกิน 20 นาที แต่ถ้าเป็น “พื้นที่ล่อแหลม” ไม่เกิน 7 นาที ก็จะได้รับข้อมูลข่าวสาร เพื่อเตรียมความพร้อมในการอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรฯ กล่าวว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหว และเสี่ยงต่อการเกิดสึนามิ ทางศูนย์เตือนภัยนานาชาติในมหาสมุทรอินเดียจะส่ง “ข้อมูลข่าวสารฉบับแรก” มาให้เรา เพื่อให้ทราบว่าเกิดแผ่นดินไหวที่ใด ความแรงเท่าไร และคาดว่าจะเกิดสึนามิหรือไม่ ขั้นตอนตรงนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อเราได้ข้อมูลแล้วก็ต้องนำมาประเมินใช้เวลาอีก 10-20 นาที กว่าข้อมูล และ “คำเตือน” จะส่งถึงชุมชนใช้เวลาประมาณ 30 นาที ดังนั้นถ้าสึนามิเกิดใกล้ ก็อาจจะมีปัญหาได้

นอกจากนี้เมื่อย้อนไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ครั้งนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี 2547 ก็ได้ทำงานครั้งแรก หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเกาะสุมาตรา ความแรง 8.9 ริกเตอร์ ซึ่งครั้งนั้นเสียงประกาศเตือนจากหอเตือนภัยในจังหวัดเสี่ยงต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว น่าชื่นชม

แต่การอพยพหนีภัยกลับเกิดความ “โกลาหล”!!!

โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต นั่นเพราะผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถยนต์ส่วนตัวหนีออกจากชายฝั่ง ไปในเส้นทางเดียวกัน ทำให้จราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุขึ้น รวมถึง “เส้นทางหนีภัย” แคบ ซึ่งประชาชนในพื้นที่กำลังรอให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขในเรื่องนี้

“สมมุติสึนามิเกิดที่เดิมเช่นปี 2547 เราจะมีเวลาหนีประมาณชั่วโมงกว่าๆ แต่ถ้าเกิดจุดอื่นตรงนี้คือปัญหา เพราะระบบที่เรามีอยู่ในปัจจุบันใช้เวลากว่าจะเตือนภัยถึงชุมชนก็ 30 นาที ถ้าสึนามิเกิดในจุดที่ใกล้ตัวเกินไป จะมีปัญหาได้ ซึ่งทำให้เรามีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบเตือนภัยต่อไป อย่างไรก็ตามไม่ว่าระบบการเตือนภัยจะดีอย่างไร หรือมากขนาดไหน แต่คงสู้ความตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมของประชาชนไม่ได้” รศ.ดร.เสรี กล่าวทิ้งท้าย

“โศกนาฏกรรมสึนามิ” ผ่านมา 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ ซึ่งระบบเตือนภัยของไทยก็มีการ “พัฒนา” มากขึ้นในหลายๆ ด้าน แต่ก็ยังมีอีกหลายๆด้านเช่นกันที่ต้องมีการ “แก้ไข” ซึ่งประชาชนในพื้นที่คาดหวังว่าการบูรณาการ “การเตือนภัย” และการ “อพยพ” หลังสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นจะมีทิศทางที่ชัดเจนมากกว่านี้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำ “บทเรียน” ต่างๆมาเรียนรู้ และพัฒนาการทำงาน เพื่อให้เกิดความ “สูญเสีย” น้อยที่สุด


จาก ................ แนวหน้า วันที่ 26 ธันวาคม 2557
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 28-12-2014 เมื่อ 09:22
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม