ดูแบบคำตอบเดียว
  #40  
เก่า 23-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,345
Default


ถึงแม่บ้านและสาวๆ ... น้ำลดก็จริง แต่ยังมีความจริงซ่อนอยู่ "ใต้ร่มผ้า"



คลินิกสูติ-นรีเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เตือนสตรีลุยน้ำท่วมระยะหนึ่งเสี่ยงเชื้อราในร่มผ้า ชี้สวนล้างช่องคลอดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโรค อั้นปัสสาวะมีผลกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

พญ.วนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการคลินิกสูติ-นรีเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่แม้หลายพื้นที่น้ำจะเริ่มลดแล้ว แต่ยังมีเรื่องเกี่ยวกับโรคที่ผู้หญิงต้องพึงระวังว่า ปัญหาใหญ่ที่พบมากในช่วงน้ำท่วมคือ ความอับชื้นในร่มผ้า ซึ่งเลี่ยงได้ยากสำหรับคนที่ต้องลุยน้ำเป็นประจำ ความอับชื้นของเสื้อผ้า กางเกงยีน ทำให้เกิดเชื้อราในร่มผ้า มีอาการคัน และตกขาวมากตามมา ถึงแม้ความรุนแรงของโรคติดเชื้อกับผู้หญิงอาจไม่มาก โอกาสลุกลามเข้าไปถึงมดลูก ปีกมดลูก ทำให้มีไข้สูงปวดท้องน้อยเป็นไปได้ยาก แต่การย่ำน้ำคลำเป็นเวลานานมีโอกาสเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าไปในช่องคลอดได้ หากภาวะสมดุลของกรด-ด่างในช่องคลอดไม่ดี การติดเชื้อก็จะง่ายขึ้นด้วย

“ปัญหาของเชื้อราที่มากับน้ำท่วมก่อความรำคาญแต่มักไม่มีอันตรายร้ายแรง” พญ.วนิชากล่าวและอธิบายว่าอาการตกขาวจากเชื้อราจะมีอาการคันเป็นหลัก โดยสังเกตได้ง่าย เช่น ตกขาวเริ่มมีสีเหลืองเหมือนนมบูด มีลักษณะเป็นก้อน เป็นแผ่น และมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำหรือลุยเท่าที่จำเป็น ทันทีที่กลับมาบ้านควรรีบถอดกางเกงล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง แม้จะเป็นกางเกงกันน้ำ ก็ทำให้อบเหงื่อ อับชื้นเป็นเชื้อราได้ง่ายขึ้น

พญ.วนิชา แนะว่า การสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ง่าย จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ แต่หากพบอาหารบ่งบอกว่าเป็นเชื้อราในช่องคลอดให้ยาฆ่าเชื้อราเหน็บในช่องคลอด หรือ ใช้ยาทาภายนอกระงับอาการคัน กรณีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เหน็บยาทางช่องคลอดไม่ได้ก็ใช้ยารับประทานฆ่าเชื้อราได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ เพราะตกขาวบางอย่างอาจไม่เกี่ยวกับเชื้อรา แต่มาจาก พยาธิ แบคทีเรียบางชนิด ปากมดลูกอักเสบ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือติดเชื้อโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่เชื้อรา เช่นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของบุคคลนั้น

“ในคนที่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นประจำ คนไข้เบาหวาน คนไข้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน มีความเสี่ยงติดเชื้อราได้มากกว่าคนทั่วไป การรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อมีผลทำลายแบคทีเรียปกติที่เป็นมิตรกับช่องคลอดของผู้หญิงแบคทีเรียเหล่านี้ช่วยรักษาภาวะกรดในช่องคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อของแบคทีเรียก่อโรค จึงไม่ควรใช่ยาปฏิชีวนะบ่อยๆโดยไม่จำเป็น” พญ.วนิชากล่าว

ปัญหาเรื่องตกขาว และอาการคัน เป็นเรื่องที่พบบ่อยมากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการรักษาอนามัยของคนเปลี่ยนไป จากปกติช่องคลอดมีแบคทีเรียที่เป็นมิตรช่วยรักษาสภาพช่องคลอดให้เป็นกรด ป้องกันแบคทีเรียก่อโรค แต่พฤติกรรมของผู้หญิงรุ่นใหม่มักนิยม ใส่แผ่นรองอนามัยทุกวัน ด้วยเกรงว่ากางเกงในจะสกปรก แม้ทำให้รู้สึกแห้ง แต่ในความเป็นจริงทำให้อบ และเกิดการหมักหมมเป็นเหตุให้มีเชื้อราได้ง่ายขึ้นมากกว่าใส่กางเกงในผ้าฝ้ายเพียงอย่างเดียว ผู้หญิงบางคนชอบสวนล้างช่องคลอดเพราะคิดว่าสะอาดกว่า แต่ความจริงการสวนล้างช่องคลอดเป็นการทำลายแบคทีเรียปกติในช่องคลอด ทำให้สมดุลย์ของช่องคลอดเปลี่ยนไป ร่ายกายไม่สามารถต่อสู่กับแบคทีเรียแปลกปลอมได้ ทำให้เกิดช่องคลอดอักเสบตกขาวเป็นสีเหลือง มีกลิ่น หรือคันบ่อยๆ

ทั้งนี้นอกจากอาการคันจากเชื้อราในร่มผ้าแล้ว ในภาวะน้ำท่วมที่น้ำสะอาดมีน้อย น้ำใช้น้ำกินมีน้อย การเข้าห้องน้ำไม่สะดวก ทำให้คนดื่มน้ำน้อยและไม่ยอมปัสสาวะ ซึ่งเสี่ยงทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะมีอาการปัสสาวะแสบคัด ปัสสาวะบ่อยกระปริดประปรอยได้

สถานการณ์แบบนี้ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่ากลั้นปัสสาวะ อาจต้องยอมเข้าห้องน้ำที่ไม่สะอาดนัก ดีกว่ากลั้นปัสสาวะจนเทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปวดเวลาปัสสาวะและแสบขัดทรมานมากกว่า” ผู้อำนวยการคลินิกสูติ-นรีเวชกรุงเทพกล่าว และว่า การล้างทำความสะอาดอวัยวะในที่ร่มของผู้หญิงที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องใช้ แอลกอฮอล์ หรือสบู่อนามัย เพียงแค่ทำความสะอาดภายนอกด้วยน้ำสะอาดทั้งในซอกหลืบ แต่ไม่ต้องสวนล้างเข้าไปในช่องคลอดและเช็ดให้แห้งเท่านี้ก็เพียงพอ

สำหรับคนที่มีปัญหาช่องคลอดอักเสบง่าย มีตกขาวเป็นประจำ และมีอาการคันช่องคลอดอยู่เรื่อยๆ แสดงว่าภาวะในช่องคลอดอาจไม่แข็งแรงพอ ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ รวมถึงสตรีในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งเชื้อโรคเข้าไปได้ง่ายขึ้นเพราะปากมดลูกเปิด อีกทั้งเลือดเป็นอาหารที่ดีของเชื้อโรค ดังนั้นสตรีที่มีประจำเดือนควรเลี่ยงที่จะเดินลุยน้ำ ถ้าจำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าที่กันน้ำได้ และหมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ

คนที่มีแผลควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลได้โดยตรง ผู้ป่วยเบาหวานมีแผลติดเชื้อง่าย คนไข้ภูมิต้านทานต่ำควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง ดื่มน้ำมากๆ ไม่กลั้นปัสสาวะ และอย่าย่ำน้ำสกปรกเพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคที่มากับน้ำ

คุณหมอย้ำว่า ความต้านทานผิวหนังแต่ละคนต่างกัน บางคนย่ำน้ำไม่นานก็เกิดอาการคัน ผื่นขึ้น บางคนลุยน้ำทั้งวันได้โดยที่ไม่เป็นอะไรอย่างไรก็ตามเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่มาจากการย่ำน้ำกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ก็ควรป้องกันให้น้ำโดนผิวหนังน้อยที่สุด โดยสวมใส่รองเท้าบูท กางเกงพลาสติกที่ยาวมาถึงเอว ถึงอกในที่น้ำลึก เพื่อไม่ให้สัมผัสกับน้ำโดยตรง ซึ่งนอกจากจะป้องกันเชื้อราในร่มผ้าได้แล้วยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคเท้าเปื่อยจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน โรคแผลพุพองเป็นต้น




จาก ................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม