ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 03-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,253
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ไขข้อสงสัย "ปลาเก๋าหยก" เพาะเลี้ยงในไทยถูกกฎหมายหรือไม่?



กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในโลกออนไลน์ เมื่อ "ปลาเก๋าหยก" ถูกตั้งคำถามว่าสามารถเพาะเลี้ยง-ขาย ในไทยได้อย่างถูกกฎหมายหรือไม่? หลังเริ่มมีการทยอยเปิดตัวเป็นเมนูอาหาร พร้อมออกจำหน่ายเร็วๆ นี้

หลังจากมีข่าวการเปิดตัวเมนูอาหารที่ทำจาก "ปลาเก๋าหยก" ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งระบุว่า เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย แต่ไม่นานก็เจอกระแสตีกลับ เมื่อปลาเก๋าหยกปรากฏอยู่ในบัญชี "สัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร" ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ที่มี "ปลาเก๋าหยก" รวมอยู่นั้น เป็นข้อมูลจากประกาศกฎกระทรวงในปี 2564 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำหายาก หรือป้องไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์น้ำและระบบนิเวศ ซึ่งมีสัตว์น้ำทั้งหมด 13 ชนิดที่เข้าข่าย "ต้องห้าม" ไม่ให้เพาะเลี้ยง เนื่องจากเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาเรื่อง "เอเลียนสปีชีส์" หรือ การที่มีสัตว์น้ำต่างถิ่นเข้ามารุกรานสัตว์น้ำในถิ่นอาศัยเดิมทยอยหายไป

เอเลียนสปีชีส์ คือ สัตว์ต่างถิ่นที่เข้ามารุกรานการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ในท้องถิ่นเดิม รวมทั้งยับยั้งการสืบพันธุ์ของสัตว์ท้องถิ่นชนิดนั้นๆ เมื่อสัตว์ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็นำไปสู่การสูญพันธุ์และส่งผลให้ระบบนิเวศล่มสลาย รวมถึงมีผลกระทบในวงกว้างมาถึงมนุษย์

การเข้ามาของเอเลียนสปีชีส์มีทั้งการนำปลาหายากจากต่างประเทศเข้ามาเลี้ยง แล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ไปจนถึงการทำบุญปล่อยสัตว์น้ำต่างๆ ลงสู่แม่น้ำ ส่วนในกรณีของปลาเก๋าหยกนั้น เดิมทีเป็นสายพันธุ์ปลาที่มาจากแถบแอฟริกา แต่ได้รับความนิยมในสังคมชาวเอเชียอย่างมาก ตั้งแต่จีน ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม และ ไต้หวัน เนื่องจากเป็นปลาแข็งแรง เพาะพันธุ์และปรับตัวง่าย นำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย


รู้จัก ปลาเก๋าหยก ก่อนจะฮิตในไทย มันมาจากไหนกันแน่?

"ปลาเก๋าหยก" เดิมชื่อว่า "Jade Perch" ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scortum barcoo เป็นปลาน้ำจืด มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา แต่ต่อมามีการแพร่พันธุ์ไปที่ออสเตรเลียและถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ปลากรันช์จากแม่น้ำบาโค" (Barcoo grunter) ซึ่งเป็นแม่น้ำในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากชื่อไม่เหมาะจะนำมาเป็นเครื่องหมายการค้า ปลากรันช์จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "เจดเพิร์ช" หรือปลาเพิร์ชหยก เนื่องจากมันมีลำตัวที่มีสีเหลือบเขียว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นชื่อ "เก๋าหยก" เมื่อนำเข้ามาขายในไทย เพื่อให้คนไทยเรียกได้ง่ายขึ้น

สำหรับการเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยของปลาเก๋าหยกนั้น เริ่มตั้งแต่ประมาณ 10 ปี ที่แล้ว โดยมันสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่ายเพราะเป็นปลาที่แข็งแรง เนื้อขาวนุ่ม หนังบาง มีไขมันแทรกในเนื้อ มีคุณค่าทางโภชนาการมาก แต่ก็มีราคาค่อนข้างสูง มักนิยมนำไปนึ่งให้สุกก่อนรับประทาน และไม่สามารถกินแบบดิบได้ แต่หลังจากนั้น กรมประมง ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศห้ามเพาะเลี้ยงปลาเก๋าหยกเนื่องจากพบว่าพวกมันเป็นเอเลียนสปีชีส์

ล่าสุดปลาเก๋าหยกถูกเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น "ปลาหยก" และถูกนำเสนอจากทั้งผู้ประกอบการและงานนิทรรศการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นว่า เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ของไทยและเป็นปลาที่เหมาะแก่การทำอาหารได้หลากหลายเมนู


ย้อนสำรวจสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในไทย มีอะไรบ้าง ?

สำหรับสัตว์น้ำที่อยู่ในบัญชี "ห้ามเพาะเลี้ยง" ล่าสุด ตามประกาศกฎกระทรวงในปี 2564 นั้น พบว่าเป็นสัตว์น้ำประเภทปลา 10 ชนิด และสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ อีก 3 ชนิด ดังนี้


สัตว์น้ำประเภทปลา ได้แก่

1. ปลาหมอสีคางดำ

2. ปลาหมอมายัน

3. ปลาหมอบัตเตอร์

4. ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และ ปลาลูกผสม

5. ปลาเทราท์สายรุ้ง

6. ปลาเทราท์สีน้ำตาล

7. ปลากะพงปากกว้าง

8. ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช

9. ปลาเก๋าหยก

10. ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO


สัตว์น้ำประเภทอื่นๆ ได้แก่

1. ปูขนจีน

2. หอยมุกน้ำจืด

3. หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena, Blue-ri nged octopus Hapalochlaena spp.

โดยเหตุผลที่ห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำข้างต้นเหล่านี้ก็เนื่องจากว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือ "เอเลียนสปีชีส์" ยังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นกรณี "ปลาหมอสีคางดำ" ที่หลุดรอดเข้าบ่อเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรเมื่อ 3 ปีก่อน ได้สร้างความเสียหายและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้น กรมประมงจึงมีความจำเป็นต้องเข้มงวดในเรื่องสัตว์น้ำต่างถิ่นมากขึ้น

โดยในประกาศของกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ระบุไว้ว่า "ห้ามมิให้บุคคลใดเพาะเลี้ยงซึ่งสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย"

แต่ในกรณีของ "ปลาหยก" ที่กำลังเป็นกระแสและถูกตั้งคำถามอยู่ในขณะนี้นั้น เบื้องต้น ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง และอาจมีความเป็นไปได้ว่า เป็นปลาคนละสปีชีส์กับที่กฎกระทรวงกำหนด จึงสามารถทำการเพาะเลี้ยงและจัดจำหน่ายในฐานะที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งในไทยได้

อย่างไรก็ตาม ในแง่มุมของผู้บริโภคคงต้องใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลให้รอบด้าน ก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อเลือกหาเนื้อปลาคุณภาพดีชนิดใดๆ ก็ตาม แต่ไม่ว่าจะเลือกซื้อปลาชนิดไหนมารับประทาน ก็ควรเลือกเนื้อปลาที่สดใหม่ สะอาด ปลอดภัย น่าจะเป็นสิ่งดีที่สุด


https://www.bangkokbiznews.com/health/1051145

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม