ชื่อกระทู้: โลกร้อน (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #26  
เก่า 16-12-2009
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


โลกร้อนคุกคามคน อาหารขาด โรคเพิ่ม



ภาวะโลกร้อน...เป็นคำฮิตที่ได้ยินได้ฟังจนคุ้นหู

แต่ความหมายมีหลายระดับในความเข้าใจ

ระดับพื้นๆรู้ความหมาย โลกร้อนอากาศร้อนมากขึ้น แต่ก็ยังข้องใจ โลกร้อนขึ้นน่าจะแห้งแล้งมากขึ้น ทำไมบางฝนกลับตกมากขึ้น อากาศหนาวเย็นมากขึ้น และทำไมบางพื้นที่หิมะไม่เคยตก กลับมีหิมะตกมาได้...แล้วมาบอกว่าโลกร้อนได้อย่างไร

ความเข้าใจอีกระดับ โลกร้อนมาจากมนุษย์ทำลายธรรมชาติ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก โลกถูกใช้งานมาอย่างหนัก ตอนนี้โลกอยู่ในอาการไม่ต่างกับคนผ่านการออกกำลังกายทำงานมาอย่างหนัก ร่างกายร้อนจนเหงื่อแตกท่วมตัว

น้ำแข็งขั้วโลกที่กำลังละลาย อากาศหนาวเย็นและมีฝนตกมากขึ้น เป็นอาการของเหงื่อโลกร้อนที่กำลังพรั่งพรูออกมา




กระนั้นก็ตามความเข้าใจหลายระดับของคนส่วนใหญ่ ยังพุ่งเป้ามองไปที่โลกร้อนทำให้ภูมิอากาศ ฤดูกาลเปลี่ยนไป

ในขณะคนที่เข้าใจในภาวะโลกร้อนระดับที่สูงขึ้น...ไม่ได้มองแค่เรื่องสภาพดินฟ้าอากาศอย่างเดียว

มองลึกละเอียดไปกว่านั้น...แต่ใกล้ชิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ยิ่งนัก

ด้วยวันนี้ ภาวะโลกร้อนได้รุกคืบคุกคามมาถึงความอยู่รอดของมนุษย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว...รุกคืบมาแบบเงียบๆ โดยเราไม่รู้ตัว

" วันนี้มีสัญญาณหลายอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลนขึ้นกับมนุษย์ และอาหารที่มีให้บริโภคจะมีภาวะเป็นพิษมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อโรคต่างๆ ที่ก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่กับมนุษย์ก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน"


ดร.ทรงศักดิ์

รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต ประธานจัดการประชุมพิษวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อน : ปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่อุบัติใหม่ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 17-18 ธ.ค.นี้ ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ ชี้ให้เห็นผลกระทบอีกด้านของภาวะโลกร้อน

ภาวะอาหารขาดแคลน ผลิตได้ไม่พอต่อความต้องการบริโภคของมนุษย์...ภาวะเช่นนี้คนไทยเริ่มได้เห็นกันบ้างแล้ว

จากอุทกภัยฝนตกน้ำท่วมถี่บ่อยกว่าเมื่อก่อน แต่บ้านเรานับว่าโชคดีตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีพายุพัดถล่มไม่รุนแรง แต่ประเทศอื่นๆนั้นโดนกันระนาว ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน เวียดนาม อินเดีย ฯลฯ

อุทกภัยน้ำท่วม ทำไร่นาผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้อาหารขาดแคลน อย่างที่รู้กัน...แต่ที่ไม่ค่อยรู้กัน รศ.ดร. ทรงศักดิ์ บอกว่า...

" โลกร้อนภูมิอากาศเปลี่ยนไป บางพื้นที่ฝนตกมากขึ้น บางพื้นที่อากาศร้อนแห้งแล้งมากขึ้น ฤดูกาลเปลี่ยนไปสั้นยาวนานไม่เหมือนเดิม การเพาะปลูกพืชตามฤดูกาลจะให้ผลผลิตไม่เหมือนเดิม

รายงานการศึกษาวิจัยในอังกฤษและเดนมาร์กพบว่า แค่เพียงอุณหภูมิของฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป สูงขึ้นยาวนานกว่าปกติแค่ 2-3 วัน ส่งผลให้ผลผลิตของข้าวสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสงลดลง"

ส่วนอุณหภูมิสูงยาวนานเพิ่ม 2-3 วัน มีผลให้ข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมธานี 1 ข้าวเจ้า ข้าวเหนียวลดลงหรือไม่...ในบ้านเราไม่มีรายงานการศึกษาในเรื่องนี้

และ ผลของภาวะโลกร้อนทำให้อาหารในอนาคตขาดแคลนอีกอย่างที่คนไทยไม่ค่อยรู้กัน แต่ใกล้ตัวยิ่งนัก...โลกร้อน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น น้ำเค็มจะรุกคืบแย่งชิงพื้นที่น้ำจืดมากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกใกล้ชายฝั่งที่เคยปลูกพืชได้ จะลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

ปัญหานี้เกิดแล้ว โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกา

โลกร้อนขึ้นทำให้อาหารเป็นพิษ...ปลาทะเลแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ วันนี้มีสัญญาณบอกเหตุแล้วว่า ปลาทะเลที่เคยกินได้มีพิษมากขึ้น

" โรคชิกัวเธอร่า โรคที่เกิดจากการกินปลาที่มีสารพิษสะสม กินเข้าไปแล้วคนจะมีอาการปวดหัวคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และมีอาการทางระบบประสาทตามมา ชาวูบวาบ ปวดแสบปวดร้อนไปทั่วตัว หายใจลำบาก เป็นมากๆ อาการรุนแรงจะถึงขั้นโคม่าและก็เสียชีวิต

โรคนี้เดิมจะพบกันในหมู่เกาะฟิจิ กลางมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ กับแถบทะเลแคริเบียน ที่อื่นไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน"

แต่วันนี้...พบแล้วที่อินเดีย...ไม่ห่างไปไกลจากบ้านเราไปเท่าไร



รศ.ดร.ทรงศักดิ์ อธิบายที่มาที่ไปของการพบโรคนี้ผิดแปลกไปจากปกติว่า...เป็นผลมาจากโลกร้อนนี่แหละ

พิษที่สะสมอยู่ในตัวปลานั้น ไม่ใช่สารพิษมาจากไหน...เป็นสารพิษ ควันพิษ มลภาวะต่างๆ ที่มนุษย์ก่อขึ้นนี่แหละ

ควันพิษที่มนุษย์ก่อขึ้นทั้งหลาย ลอยตัวขึ้นไปบนฟ้า ถูกลมพัดพาไปที่ขั้วโลก...เมื่อก่อนโลกยังไม่ร้อนเท่าขนาดนี้ สารพิษก็เลยไปหมักสะสมตัวอยู่ในก้อนน้ำแข็ง

แต่เมื่อโลกร้อนขึ้นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว...สารพิษที่ถูกธารน้ำแข็งเก็บกักไว้พลอยถูกปลดปล่อย ไหลลงสู่ทะเล ให้ปลาได้กินสะสมอยู่ในตัว ให้คนไปจับมากิน

สารพิษจากอีกแหล่ง สารพิษจากบนบกที่มนุษย์อาศัยอยู่ ไม่ว่าสารพิษจากควันรถ จากโรงงาน จากการทำเกษตร สารพิษที่ลมหอบไปได้ไม่ไกลถึงขั้วโลก สะสมอยู่ในดินใกล้บ้านเรา...โลกร้อนขึ้น ฝนตกน้ำท่วมถี่บ่อย

อุทกภัยชะล้างสารพิษบนดินให้ไหลลงไปสะสมทะเลให้ปลาได้กินสะสมสารพิษมากขึ้น

เป็นเหตุผลว่าทำไมโรคชื่อไม่คุ้นหู...ชิกัวเธอร่า (Ciguatera) ถึงได้ลามระบาดกินพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น ใกล้บ้านเราเข้ามาทุกที

ผลของภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้สารพิษได้สะสมในทะเลมหาสมุทรที่เปรียบเสมือน เป็นบ่อเพาะเลี้ยงปลาแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์เท่านั้น รศ.ดร.ทรงศักดิ์ บอกอีกว่า โลกร้อน อุณหภูมิที่อุ่น ช่วยให้เชื้อโรค จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ไวรัสบางตัว เจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ดีขึ้นอีกด้วย

เชื้อโรคเจริญได้ดี การพัฒนากลายพันธุ์ก็จะดีด้วย และจะมีโรคใหม่ๆเกิดตามมา

" ซาร์ส ไข้หวัดนก รวมทั้งไข้หวัดหมู หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ นี่ก็เป็นผลมาจากอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนไปเช่นกัน และที่น่ากังวลก็คือ โรคเก่าที่เราคิดว่าจะหมดไปแล้ว จะกลับมาอุบัติใหม่ด้วย

อย่างวัณโรค ตอนนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ขององค์การอนามัยโลกแล้ว เพราะตอนนี้ได้กลับมาระบาดมากขึ้นในคนปกติ ระบาดใน

วงกว้างไปทั่วโลก ไม่เหมือนในอดีตที่ระบาดไม่กว้างขวางขนาดนี้ เป็นเพราะเชื้อวัณโรคเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้ดีขึ้น"

และโรคเก่าที่ใกล้ชิดคนไทยยิ่งกว่านั้น นั่นคือ โรคท้องร่วง บิด อหิวาตกโรค จะหวนกลับมาอุบัติใหม่ได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน

ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้น อาหารที่เคยเก็บได้นาน จะไม่นานเหมือนเก่า เพราะเชื้อโรคเติบโตได้เร็ว...จะทำให้อาหารบูดเน่าเสียเร็วขึ้น

ปัญหาโลกร้อน ไม่ใช่แค่เรื่องลมฝนฟ้า

วันนี้ได้รุกคืบ ใกล้ตัว ใกล้ปาก คนเราเข้าไปทุกขณะแล้ว.



จาก : ไทยรัฐ คอลัมน์ สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 16 ธันวาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม