ดูแบบคำตอบเดียว
  #2  
เก่า 28-02-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ทช. เปิดภาพการสำรวจสถานภาพ "หญ้าทะเล" ในพื้นที่ จ.ตรัง

กรมทะเลชายฝั่ง เปิดภาพทะเลตรัง หลังสำรวจประเมินชนิด การแพร่กระจาย และสถานภาพของหญ้าทะเล พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับสมบูรณ์เล็กน้อยถึงสมบูรณ์ปานกลาง



วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 19-26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ได้ออกสำรวจประเมินชนิด การแพร่กระจาย และสถานภาพของหญ้าทะเลโดยวิธีวาง Line transect และ Spot check ในพื้นที่เกาะลิบง และบริเวณใกล้เคียง จังหวัดตรัง

ผลการสำรวจสถานภาพหญ้าทะเลในพื้นที่หญ้าทะเลรวมทั้งหมด 19,751 ไร่ พบหญ้าทะเลทั้งหมดที่มีการแพร่กระจายในเขตทะเลอันดามัน ทั้ง 12 ชนิด คือ หญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii), หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major), หญ้าเงาใบเล็ก (Halophila minor), หญ้าใบมะกรูด (Halophila ovalis), หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides), หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii), หญ้าชะเงาปลายใบมน (Cymodocea rotundata), หญ้าชะเงาปลายใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata), หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia), หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis), หญ้าเงาใส (Halophila decipiens) และหญ้าต้นหอมทะเล (Syringodium isoetifolium)

สถานภาพหญ้าทะเลโดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับสมบูรณ์เล็กน้อยถึงสมบูรณ์ปานกลาง ซึ่งพบหญ้าใบมะกรูด หญ้าคาทะเล และหญ้าชะเงาเต่าเป็นชนิดเด่นในพื้นที่สำรวจ และยังพบร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูนกระจายทั่วทั้งบริเวณแนวหญ้าใบมะกรูด โดยเฉพาะบริเวณอ่าวทุ่งจีนและเกาะลิบงด้านเหนือ

ส่วนหญ้าคาทะเลที่พบส่วนใหญ่มีลักษณะใบขาดสั้น ไม่สมบูรณ์ มีสีเขียวและสีน้ำตาลปะปนกัน ราก เหง้า เน่าเปื่อย พื้นทะเลมีลักษณะเป็นทรายปนโคลน คุณภาพน้ำ ความลึกน้ำ 0.1 - 6 เมตร อุณหภูมิ 30-31 องศาเซลเซียส ความเค็ม 30 พีพีที ความเป็นกรด-ด่าง 7.7-8.2 สัตว์น้ำชนิดเด่นที่พบบริเวณแหล่งหญ้าทะเล ได้แก่ ดาวทะเลชนิด Pentaster obtusatus และดาวทราย (Astropecten bengalensis) ปลิงดำ (Holothuria atra) ปลิงสีชมพู (Cercodesma anceps) กลุ่มปลาบู่ และปลาสลิดทะเล ขยะทะเลในแหล่งหญ้าทะเลที่พบส่วนใหญ่ คือถุงและขวดพลาสติก ขวดแก้ว และเศษอวน.


https://www.thairath.co.th/news/local/south/2641028


******************************************************************************************************


หากปกป้องหมู่เกาะกาลาปากอสไม่ได้ แล้วจะสามารถปกป้องส่วนใดในโลกได้?



"หมู่เกาะกาลาปากอส" ได้รับเลือกเป็นเป้าหมายแห่งแรกๆจากโครงการ "Mission Blue" องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการอนุรักษ์มหาสมุทร ภายใต้การสนับสนุนของ "Rolex" ในฐานะที่เป็น "Hope Spot" พื้นที่เปี่ยมไปด้วยระบบนิเวศทางทะเลที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้อง เพื่อความสมบูรณ์และอนาคตของมหาสมุทร โดย "ซิลเวีย เอิร์ล" ผู้ก่อตั้งโครงการตั้งใจแสดงให้โลกเห็นว่าความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ต่อมหาสมุทรนั้นสามารถแก้ไขได้ ซึ่งการสำรวจครั้งใหม่ได้เพิ่มหลักฐานถึงความจำเป็นที่ต้องปกป้องผืนทะเลให้มากยิ่งขึ้น

เป็นเวลาเกือบศตวรรษที่ "Rolex" สนับสนุนเหล่านักสำรวจผู้บุกเบิก กระทั่งมาต่อยอดการสนับสนุนไปสู่การอนุรักษ์โลกธรรมชาติ พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนบุคคลและองค์กรในระยะยาว โดยใช้วิทยาศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและคิดค้นวิธีแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์และไม่เหมือนที่ใดของ "หมู่เกาะกาลาปากอส" เป็นที่อยู่ของพืชและสัตว์นานาชนิด ที่ไม่สามารถพบในที่อื่นใดบนโลก เมื่อนักสมุทรศาสตร์ในตำนานอย่าง "ซิลเวีย เอิร์ล" ไปเยือนหมู่เกาะแห่งนี้ครั้งแรกในปี 1966 ถึงกับเปรยว่า ที่นี่เป็นสถานที่ที่มีปลาฉลามและปลาชนิดต่างๆมากที่สุดเท่าที่เคยไปเยือน แต่สิ่งที่ทำให้หมู่เกาะแห่งนี้มีความพิเศษก็สามารถทำให้เปราะบางเช่นกัน เพราะยิ่งมีคนค้นพบเกาะแห่งนี้มากขึ้นเท่าใด สิ่งมีชีวิตต่างถิ่นก็สามารถรุกรานเข้ามา ทำให้ทรัพยากรในพื้นที่ตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นเท่านั้น

ความพยายามของเธอไม่สามารถรอให้ถึงช่วงเวลาที่วิกฤติไปกว่านี้ แม้ประเทศเอกวาดอร์จะก่อตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเลกาลาปากอสขึ้น เมื่อปี 1998 ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลของเกาะถึง 133,000 ตารางกิโลเมตร ทว่ายังจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่า ชาวบ้าน, นักท่องเที่ยว และชาวประมง จะได้ใช้หมู่เกาะ กาลาปากอสอย่างยั่งยืนต่อไปอีกหลายปี

25 ปี หลังการก่อตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเล กาลาปากอส ถึงเวลาแล้วที่จะประเมินผลลัพธ์ของการคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล ในฐานะ "Rolex Testimonee" ซิลเวียได้ร่วมกับทีมนักวิทยาศาสตร์จากหลายสถาบัน ดำเนินการสำรวจทั่วพื้นที่ "Hope Spot" แห่งนี้ เป็นเวลาสองสัปดาห์เต็ม เพื่อประเมินระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่อย่างครอบคลุม โดยการสำรวจส่วนใหญ่เน้นค้นหาความหลากหลายที่ซ่อนเร้นและถูกลืมเลือนอยู่ภายใต้เกลียวคลื่น เพื่อใช้เป็นคุณค่าพื้นฐานด้านความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ซึ่งการสำรวจในอนาคตสามารถติดตามย้อนรอยได้ มีการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย อาทิ ดีเอ็นเอจากสิ่งแวดล้อม (eDNA) และระบบวิดีโอใต้น้ำ งานนี้ทีมสำรวจค้นพบข้อมูลประชากรที่สำคัญของสัตว์ที่ไม่ค่อยมีผู้ศึกษาวิจัย เช่น ม้าน้ำ และกุ้งก้ามกรามเฉพาะถิ่น

ทีมสำรวจดังกล่าวยังทำการวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานข้ามมหาสมุทรของสัตว์ทะเลนานาชนิด ด้วยวิธีตรวจจับตำแหน่งที่บันทึกการอพยพของฉลามจากสถานที่ที่ไกลออกไปถึงอ่าวเม็กซิโกและชายฝั่งคอสตาริกา พร้อมสำรวจแหล่งที่อยู่ของเต่า ทำแผนที่พื้นที่หาอาหารของฝูงนกเพนกวิน รวมถึงวัดระดับของไมโครพลาสติก ซึ่งการทำงานภาคสนามจะช่วยให้นักอนุรักษ์สามารถคิดให้เหมือนมหาสมุทร และตระหนักถึงความเชื่อมโยงของระบบนิเวศอย่างไม่มีขอบเขตสำหรับสัตว์ทะเล.


https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2638510

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม