ดูแบบคำตอบเดียว
  #8  
เก่า 12-03-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,234
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


"รับหลักการ" สนธิสัญญาทะเลหลวง เป้าเกิดเขตคุ้มครองทะเลหลวง 30%

"รับหลักการแล้ว" สนธิสัญญาทะเลหลวง ข้อตกลงสหประชาชาติที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปี ท่าทีไทย "หนุนบรรลุข้อตกลงให้เร็วที่สุด"

คาดเหมืองใต้ทะเลในน่านน้ำสากล "เกิดยากมากขึ้น" หลังสนธิสัญญา เบื้องต้นคาดไทยได้ประโยชน์เชิงข้อมูล วิชาการ ความร่วมมือและเสริมสร้างศักยภาพ ยังไม่ชัดถึงประชาชนอย่างไร

ด้าน Greenpeace ประกาศหนุนให้เกิดเขตคุ้มครองในทะเลหลวงให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ? ชวนสาธารณะจับตาการบังคับใช้ตามสนธิสัญญา


(ภาพ : Diane Keough / Moment / Getty Images)


"เห็นชอบ" หลังเจรจายาว 38 ชั่วโมง

"การประชุมที่เพิ่งจบไปคือประเทศสมาชิกรับหลักการที่ประธานในที่ประชุมนำเสนอซึ่งเป็นตัว draft ขั้นตอนต่อไปคือจะต้องแปลเป็นภาษาทางการของ UN อีก 5 ภาษา ซึ่งหลังจากแปลเสร็จชาติสมาชิกก็จะต้องลงนามรับรองสนธิสัญญาแล้วนำไปสู่การ adoptation และ implement ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเขตคุ้มครองทางทะเลในทะเลหลวง

ตัว final text ของสนธิสัญญายังไม่มีประกาศออกมาค่ะ ว่าจะได้เมื่อไร แต่ไม่ควรนานเกิน 1 เดือน

ซึ่งตัวสนธิสัญญาถือว่าเป็นหมุดหมาย แต่การจะไปสร้างเขตคุ้มครองก็จะต้องถูกผลักดันต่อไปว่าพื้นที่ตรงนี้ ชาติสมาชิกจะต้องนำเสนอให้กับสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญา และต้องให้ cop รับรองว่าจะต้องมีการใช้พื้นที่ตรงนี้ในการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

ตอนนี้เรามีหลักการของสิ่งที่จะนำไปใช้เพื่อปกป้องท้องทะเล ขั้นต่อไปก็คือเลือกพื้นที่ที่จะทำเป็นเขตคุ้มครองทางทะเล และให้ประเทศที่อยู่บริเวณนั้นทำแผนเพื่อเสนอไปที่กลุ่มประเทศสมัชชาภาคี

การประชุมในครั้งนี้แต่ละประเทศเห็นชอบร่วมกัน ขั้นต่อไปคือรับรองหลักการทุกอย่างที่คุยกัน ทั้งในเรื่องการจัดการพื้นที่ การทำ EIA ของพื้นที่ทะเล การพูดคุยว่าใครจะเป็นคนลงเงิน และการแบ่งปันความรู้ในด้านเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยก็ต้องเข้ามา share ทั้งข้อมูล และเงินให้กับประเทศที่ยากจนกว่า"

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซประเทศไทย ตัวแทนจากกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เดินทางเข้าร่วมสังเกตการณ์ การประชุมหารือเพื่อลงมติรับรองสนธิสัญญาทะเลหลวงที่ นิวยอร์ก ประเทศอเมริกา เปิดเผยกับ GreenNews วันนี้ (8 มี.ค. 2566)

การบรรลุข้อตกลงดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 21:30 น. ของวันเสาร์ที่ผ่านมา (4 มี.ค. 2566) ณ อาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN headquarters) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 9:30 น. ของวันอาทิตย์ที่ 5 มี.ค. 2566 ตามเวลาประเทศไทย)

หลังจากที่คณะผู้เจรจาจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติกว่า 100 ประเทศ ใช้เวลาพูดคุยกว่า 38 ชั่วโมง จนเห็นชอบร่วมกันในหลักการของ สนธิสัญญาทะเลหลวงของสหประชาชาติ (UN High Seas Treaty) ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาการปกป้องทะเลหลวงฉบับแรกที่ได้บรรลุข้อตกลงนี้ หลังจากต้องใช้เวลาในการหารือ ปรับแก้ไขต่าง ๆ มาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี ซึ่งสนธิสัญญาฉบับนี้มีการพูดคุยกันครั้งแรกเมื่อปี 2004 (พ.ศ. 2547)

สนธิสัญญานี้ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์ผืนดิน และมหาสมุทร 30% ของโลกภายใน พ.ศ. 2573 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นการป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลตามที่รัฐบาลโลกเห็นชอบในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ลงนามที่เมืองมอนทรีออลในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา

สนธิสัญญาฉบับใหม่ เมื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ลงนาม และให้สัตยาบันโดยประเทศต่าง ๆ เพียงพอแล้ว จะอนุญาตให้มีการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากลเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมที่เสนอในทะเลหลวงอีกด้วย

นักกิจกรรมจากกรีนพีซถือป้าย OCEAN TREATY NOW หน้าสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ที่กำลังประชุมเกี่ยวกับสนธิสัญญาทะเลหลวง เมื่อ 27 ก.พ. 2566


ท่าทีไทย ในที่การเจรจา

"ที่ผ่านมาประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมมาโดยตลอด โดยกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ทั้งการประชุม IGC5 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมถึงครั้งนี้ด้วย

ซึ่งไทยค่อนข้าง active (กระตือรือร้น) ในการแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการจัดตั้งเขตคุ้มครองทางทะเล รวมถึงการแบ่งปันองค์ความรู้ เทคโนโลยีเกี่ยวกับ marine genetic resources

เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ทะเลหลวง แต่ว่าถ้ามีการตั้งเขตคุ้มครองขึ้นมา ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกแบ่งปันให้กับประเทศอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้ทางทะเลของไทยกว้างมากขึ้น

ทำให้ท่าทีของไทยในการประชุมมีความโอนอ่อนผ่อนปรนค่อนข้างมาก เพื่อที่จะทำให้บรรลุข้อตกลงได้เร็วที่สุด ขณะที่มีบางประเทศที่มีเรื่องที่จะต้องปกป้อง ท่าทีก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง" ณิชนันท์ กล่าวถึงท่าทีของตัวแทนจากรัฐบาลไทยต่อสนธิสัญญาทะเลหลวง


ประโยชน์ที่คาดว่าไทยจะได้รับ

"สำหรับประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ ในเชิงระหว่างประเทศก็จะเป็นความร่วมมือ ได้รับองค์ความรู้ ประเด็นทางวิทยาศาสตร์ การเสริมสร้างงานทาง capacity building (การเสริมสร้างขีดความสามารถ) ที่ประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับจากการลงนาม เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ใกล้กับทะเลหลวงมากขนาดนั้น

แต่ในเชิงระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะทะเลหลวงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นพื้นที่ที่เรายังศึกษาไม่หมดว่า ในพื้นที่ใต้ทะเลที่อยู่ลึกลงไปมีอะไรบ้าง ในเชิงระบบนิเวศสนธิสัญญานี้จะช่วยให้พื้นที่ทางทะเลของไทยยังเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

แต่ถ้าเป็นผลประโยชน์อย่างประชาชนกับประชาชนยังไม่ชัดขนาดนั้นในตัวสนธิสัญญา" ณิชนันท์กล่าว


"เกิดยากมากขึ้น" เหมืองใต้ทะเลในน่านน้ำสากล

หลังจากพบว่าใต้ท้องทะเลมีแหล่งแร่ที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเช่น แบตเตอรี่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโทรศัพท์ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า (ShipExpert)

จากการค้นพบนั้นทำให้การทำเหมืองแร่ใต้ทะเลมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถ้ามีการทำเหมืองแร่ใต้ทะเลขึ้นมาก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล (Greenpeace)

ตัวแทนจากกรีนพีซจึงกล่าวว่า การเกิดขึ้นของสนธิสัญญาทะเลหลวงจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เหมืองใต้ทะเลเกิดยากขึ้นในน่านน้ำสากล

"ตัวสนธิสัญญากำหนดไว้ว่าให้มีการศึกษาผลกระทบ EIA ด้วย ซึ่งถ้ามันจะเกิดขึ้น (เหมืองใต้ทะเล) อย่างน้อยก็ยังมีหลักการว่าจะต้องทำ EIA ก่อน" ตัวแทนจากกรีนพีซกล่าว

"ทาง Greenpeace เราต้องการผลักดันให้เกิดเขตคุ้มครองในทะเลหลวงให้ได้ 30% ภายในปี 2573 ซึ่งทางเราได้ทำการศึกษาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อดูว่าพื้นที่ทะเลหลวงตรงไหนกำลังมีปัญหา และต้องได้รับการปกป้อง

โดยพื้นที่ที่เราต้องการทำให้เกิดขึ้นเป็นที่แรกจะอยู่ที่ทะเลซาร์กัสโซ ที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหมืองใต้ทะเล

จากผลการประชุมที่ผ่านมาที่มีการเห็นชอบร่วมกันในตัวสนธิสัญญาจะมีผลกระทบแน่ ๆ ต่อการพิจารณาว่าจะให้มีการทำเหมืองใต้ทะเลหรือไม่ ต่อการประชุมที่จะเกิดขึ้นในอาทิตย์หน้าของ International Seabed Authority ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับพื้นที่ใต้ท้องทะเล" ณิชนันท์ กล่าว

จากรายงานข่าว สนธิสัญญาใหม่นี้จะจำกัดปริมาณการทำประมง เส้นทางการเดินเรือ และกิจกรรมการสำรวจ อาทิ การทำเหมืองแร่ทะเลลึก หลังจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกังวลว่ากระบวนการทำเหมืองแร่อาจรบกวนพื้นที่การผสมพันธุ์ของสัตว์ สร้างมลพิษทางเสียง และเป็นพิษต่อสัตว์ทะเล


วิกฤต-ทะเลโลก

ทะเลโลกหรือทะเลหลวง หมายถึง พื้นที่ห่างจากฝั่งมากกว่า 200 ไมล์ทะเล โดยเป็นพื้นที่ของทะเลที่ไม่ได้อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) ในทะเลอาณาเขต หรือน่านน้ำภายในของรัฐใด ซึ่งทะเลหลวง หรือที่เข้าใจอย่างง่ายนั่นคือ "น่านน้ำสากล" มีเสรีภาพ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น เสรีภาพในการเดินเรือ, การบิน, การทำประมง ฯลฯ

ทะเลหลวงครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 43 ของพื้นผิวโลก และเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิด

ที่ผ่านมามีเพียงพื้นที่ 1.2% เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่อยู่ในทะเลหลวงนอกเขตคุ้มครองเหล่านี้ ถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี ส่งผลให้สัตว์ทะเลเกือบ 10% ได้รับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ตามรายงานของ IUCN

และสาเหตุหลักของความเสี่ยงต่อการสูญนั้นเกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรทางทะเลที่มากเกินไป รวมถึงกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งส่วนหนึ่งถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ทำให้มหาสมุทรกำลังกลายเป็นกรดมากขึ้นทีละน้อย

นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น การเกิดพายุต่าง ๆ ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งคาดว่าเกิดจากการเกิดคลื่นความร้อนในทะเลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทะเล

กว่า 20 ปีที่มีการเจรจาเพื่อให้เกิดสนธิสัญญาปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทะเลหลวง ความทุ่มเทของนักวิทยาศาสตร์ นักอนุรักษ์ นักกิจกรรม เพื่อให้เกิดสนธิสัญญาที่จะช่วยปกป้องมหาสมุทรโลก ซึ่งกินพื้นที่กว่า 60% ของพื้นผิวโลก และกำลังเผชิญกับภัยคุกคามรอบด้าน จนในที่สุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการบรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาดังกล่าวแล้ว


ข้อกังวล ประเด็นน่าจับตา

"ไม่เชิงว่าเป็นข้อกังวล แต่ก็ยังต้องจับตาดูต่อไปในเรื่องของการ implement ตัวสนธิสัญญา สำหรับทาง greenpeace เราต้องการผลักดันให้เกิดเขตคุ้มครองในทะเลหลวงแห่งแรกให้ได้ก่อนปี 2573 ซึ่งทาง greenpeace ได้ทำการศึกษาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อดูว่าพื้นที่ทะเลหลวงตรงไหนกำลังมีปัญหา และต้องได้รับการปกป้อง

โดยพื้นที่ที่เราต้องการทำให้เกิดขึ้นเป็นที่แรกจะอยู่ที่ทะเลซาร์กัสโซ ที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหมืองใต้ทะเล ซึ่งตัวสนธิสัญญากำหนดไว้ว่าให้มีการศึกษาผลกระทบ EIA ด้วย ซึ่งถ้ามันจะเกิดขึ้นอย่างน้อยก็ยังมีหลักการว่าจะต้องทำ EIA ก่อน

ซึ่งจากผลการประชุมที่ผ่านมาที่มีการเห็นชอบร่วมกันในตัวสนธิสัญญาจะมีผลกระทบแน่ ๆ ต่อการพิจารณาว่าจะให้มีการทำเหมืองใต้ทะเลหรือไม่ ต่อการประชุมที่จะเกิดขึ้นในอาทิตย์หน้าของ international seabase organization ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเกี่ยวกับพื้นที่ใต้ท้องทะเล" ณิชนันท์กล่าว


https://greennews.agency/?p=33539

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม