ดูแบบคำตอบเดียว
  #5  
เก่า 22-02-2021
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


'โขง' วิกฤติ! น้ำลดต่ำสุดรอบ 10 ปี เกิด 'หิวตะกอน'-ระบบนิเวศพัง-ปลาสูญพันธุ์



21 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนม ว่า ช่วงนี้สถานการณ์น้ำโขงยังวิกฤต โดยลดระดับลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุดมีระดับน้ำเฉลี่ยต่ำสุดที่ประมาณ 1 เมตร ถือว่าต่ำสุดในรอบ 15 ปี ทำให้พื้นที่บางจุดเกิดหาดทรายเป็นบริเวณกว้าง ระยะทางยาวเป็นกิโลเมตร

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบให้น้ำโขงนิ่งไม่ไหลเชี่ยวตามธรรมชาติ เกิดการตกตะกอนหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า "หิวตะกอน" จากน้ำสีขุ่นหรือสีปูนกลายเป็นน้ำสีฟ้าครามคล้ายทะเล ถึงแม้สีของน้ำจะสร้างความสวยงานตื่นตาให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้ามถือเป็นสัญญาณอันตราย ที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ระบบนิเวศเริ่มพัง ระดับน้ำโขงไม่ไหลเวียนตามธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อลำน้ำสาขาแห้งขอด โดยเฉพาะลำน้ำสาขาสายหลัก อาทิ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม และลำน้ำก่ำ มีปริมาณน้ำน้อย

ทั้งนี้ ส่งผลกระทบมากที่สุด คือ อาชีพประมง ชาวบ้านจับปลาได้น้อย และกระทบการขยายพันธุ์ของปลาน้ำโขง ไม่สามารถขึ้นไปวางไข่ได้ตามฤดูกาล เนื่องจาก 2-3 ปี ที่ผ่านมา ในช่วงฤดูฝนถือว่าระดับน้ำโขงต่ำ เมื่อเทียบกับหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณปลาน้ำโขงลดลงเท่าตัว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อาชีพการประมงในพื้นที่

นางสาวศิราณี งอยจันทร์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์น้ำโขงในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมา มีความเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติเป็นอย่างมาก น้ำโขงลดระดับเร็วตั้งแต่ช่วงฤดูฝน ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปกติฤดูในทุกปีจะเป็นฤดูน้ำหลากที่ปลาน้ำโขงจะขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำในลำน้ำสาขา คือ ลำน้ำอูน ลำน้ำสงคราม ลำน้ำก่ำ แต่เมื่อน้ำโขงปริมาณน้ำต่ำ โอกาสที่ปลาจะขึ้นไปวางไข่ ขยายพันธุ์ยาก ทำให้มีการวางไข่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง

นางสาวศิราณี ระบุว่า จากการวิจัยพบว่าการขยายพันธุ์ในลำน้ำโขง ทำให้ปริมาณการเติบโตของปลาลดลงเกินครึ่ง เพราะมาจากปัจจัยของสภาพแวดล้อม ยิ่งในปีนี้ปริมาณน้ำโขงต่ำ เกิดการตกตะกอน ทำให้แพลงก์ตอนในน้ำ รวมถึงสาหร่าย ตาย ปลาน้ำโขงไม่มีอาหาร จากข้อมูลการสำรวจในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน พบว่า ปลาน้ำโขงเดิมมีอยู่ประมาณ 1,000 กว่าชนิด แต่ปัจจุบันเริ่มสูญพันธุ์หายากกว่า 100 ชนิด อาทิ ปลาบึก ปลายี่สกไทย ปลานวลจันทร์ ปลานาง ปลาโจก ปลากาดำ หรือปลาอีตุ๊ ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีราคาแพง ประมาณกิโลกรัมละ 150 -200 บาท เป็นที่ต้องการของตลาด และมีระยะเวลาการขยายพันธุ์ช้า พ่อพันธุ์แม่พันธ์ต้องอายุ 3-4 ปีขึ้นไป ถึงจะสามารถขยายพันธุ์ได้ ทำให้เริ่มสูญพันธุ์ บวกกับสภาพน้ำโขงเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศถูกทำลาย สิ่งที่ตามมาคือ รายได้จากอาชีพประมง เศรษฐกิจด้านประมงลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

สำหรับแนวทางการป้องกันแก้ไข สำคัญที่สุด ทางหน่วยงานประมง ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ และห้ามใช้อุปกรณ์จับปลาที่มีการห้ามในช่วงฤดูปลาขยายพันธุ์ นอกจากนี้ยังได้วางแนวทางในการจัดพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลาแบบธรรมชาติ ในลำน้ำโขง ด้วยการสร้างเขตพื้นที่ห้ามจับปลาตามหน้าวัดเขตอภัยทาน โดยใช้ความเชื่อมาเป็นส่วนในการอนุรักษ์ เพื่อขยายพันธุ์ปลาน้ำโขง ที่สำคัญจะต้องเร่งทำการเพาะพันธุ์ขยายพันธุ์ปลา ลงสู่แม่น้ำให้มากที่สุด แต่มีปัญหาเพราะปลาบางชนิดต้องใช้เวลาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ 3 -4 ปี กว่าจะสามารถขยายพันธุ์ได้ แต่มีปริมาณการจับ และการสูญพันธุ์มากกว่าการขยายพันธุ์ ทำให้ส่งผลกระทบต่อการประมงอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามในอนาคตเชื่อว่าถึงแม้จะมีการเพิ่มการขยายพันธุ์ปลามากขึ้น แต่ปัจจัยหลักคือระบบนิเวศ ระดับน้ำโขง ที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ส่งผลกระทบตามมาขั้นวิกฤติแน่นอนในอนาคต

สำหรับ "แม่น้ำโขง" คือ แม่น้ำนานาชาติที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยได้ชื่อว่าราชาแห่งสายน้ำ เนื่องจากมีความหลากหลายของพันธุ์สัตว์น้ำเกือบ 1,000 สายพันธุ์ และยังมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำอย่างอื่น รวมถึงพืชน้ำ ที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหารของผู้คนกว่า 60 ล้านคน แต่ปัจจุบัน จีนได้มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักที่ไหลผ่านจีนถึง 11 เขื่อน ขณะที่ทุนไทยได้ข้ามแดนไปสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขงในเขตลาว ที่ผ่านมาหายนะของแม่น้ำโขงเห็นได้อย่างชัดเจนจากน้ำโขงขึ้น-ลงผิดธรรมชาติ ปลาอพยพไม่ตรงกับฤดูกาลจากการกระตุ้นของมนุษย์เนื่องจากมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนที่ไม่ตรงกับการขึ้นลงตามธรรมชาติ และการเกิดน้ำโขงสีฟ้าราวกับน้ำทะเลเนื่องจากเกิดภาวะหิวตะกอน (hungry water)


https://www.naewna.com/local/554297


*********************************************************************************************************************************************************


สวยงาม! 'โลมาปากขวด' 5 ตัว กระโดดบิดตัวโชว์นานกว่าชั่วโมง

เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพโชว์ภาพความสวยงามของโลมาปากขวดกระโดดบิดตัวโชว์นานกว่า? 1? ชั่วโมง? ก่อนว่ายน้ำหายไปในน้ำลึก? ขณะออกลาดตระเวนทางทะเล?



21 ก.พ.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ จม.2 (หยงหลิง) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง? ออกตรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol) เฝ้าระวังทางทะเลบริเวณหน้าที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ จม.2 (หยงหลิง) พบโลมาปากขวดจำนวน 5 ตัว? ว่ายน้ำโผล่ขึ้นหายใจและกระโดดบิดตัว เจ้าหน้าที่ได้ติดตามสังเกตการณ์จากหาดหน้าที่ทำการหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ จม.2 (หยงหลิง) ไปจนถึงปากคลองตะเป๊ะ ก่อนโลมากลับออกไปยังน้ำลึก ตั้งแต่เวลา? 17.00 - 18.00 น. วันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา

สำหรับการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ? (Smart? patrol)? มีทั้งการลาดตระเวนทางบกและทางทะเล การลาดตระเวนทางทะเลก็เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย การลักลอบจับสัตว์น้ำเพื่อการค้า การท่องเที่ยวในรูปแบบที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการปล่อยสิ่งปฏิกูลลงในทะเล เป็นต้น


https://www.naewna.com/likesara/554224
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 22-02-2021 เมื่อ 04:52
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม