ดูแบบคำตอบเดียว
  #9  
เก่า 09-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,310
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


เศร้า "พะยูน" ตรัง จากโลกตัวที่ 4 ของปี เกิดอะไรขึ้นกับทะเลไทย



สะเทือนใจ! ปีนี้ พบ "พะยูน" ตรังเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว เกิดอะไรขึ้นกับท้องทะเล ด้าน "อ.ธรณ์" โพสต์ 10 ข้อเท็จจริงปัญหา พร้อมเผยข้อมูลน่าตกใจ หรือนี่จะเป็นวิกฤตหมูน้ำของไทย

ภายหลังเพจเฟซบุ๊ก ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้โพสต์ภาพ "พะยูน" เกยตื้น บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ในสภาพลำตัวซูบยาว ผอมโซ ขณะว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้นใกล้เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว

พร้อมระบุข้อความว่า "จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย. ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆสภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ"

ซึ่งเป็นภาพที่ประชาชนทั่วไปเห็นแล้ว ต่างสะเทือนใจ และเป็นห่วงต่อสถานการณ์พะยูนในทะเลตรังเป็นอย่างมาก

ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ บอกว่า พะยูนตัวที่ชาวบ้านพบเกยตื้นตายในวันนี้ สภาพผอม มีเพรียงเกาะตามลำตัวจำนวนมาก แสดงอาการชัดเจนว่าป่วยและขาดอาหาร ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ผ่าพิสูจน์ซากหาสาเหตุที่ชัดเจน

ส่วนการที่ "หญ้าทะเล" ในทะเลตรังเสื่อมโทรมทุกพื้นที่รวมกว่า 30,000 ไร่ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาหารพะยูนขาดแคลน เพราะทะเลตรังมีพะยูนจำนวนมาก พะยูนจึงอยู่ในภาวะวิกฤตหนัก ซึ่งมีสัญญาณมาตั้งแต่ประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว เพราะมีการพบพะยูนเกยตื้นตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย และสาเหตุหลักเกิดจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่มาจากความไม่สมดุลทางระบบนิเวศ

ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมกันหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งเขามองว่าตอนนี้ทุกฝ่ายจะต้องเร่งมือทำงาน มัวแต่หาสาเหตุอย่างเดียวไม่ได้ ไม่ทันการณ์พะยูนจะตายหมด โดยทุกฝ่ายต้องจริงจังในการร่วมมือกันทำงาน

นายภาคภูมิ บอกด้วยว่า ปัจจุบันภาระตกอยู่กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าในภาวะวิกฤตตอนนี้หน่วยงานเดียวทำงานไม่พอ ยังมีกรมอุทยานฯ ซึ่งดูแลอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงถิ่นพะยูนอาศัยอยู่ จะต้องร่วมกันทำงาน

นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะลงมาดำเนินการด้วยตัวเอง เพื่อให้กระทรวงเป็นหน่วยบูรณาการ เพราะลำพังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แม้จะพยายามแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน และงบประมาณ จึงต้องดำเนินการในระดับนโยบาย รัฐมนตรีควรจะมีข้อสั่งการ และต้องเร่งกู้วิกฤตในครั้งนี้โดยเร็ว เพราะอาศัยทั้งคน ความรู้ งบประมาณ และต้องการความเร็วในการทำงาน หากมัวแต่หาสาเหตุเพียงเรื่องเดียวพะยูนคงตายหมด แต่ควรทำด้านการฟื้นฟูควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปี 2566 พะยูนตรังเกยตื้นทั้งหมด 23 ตัว ช่วยชีวิตได้ 4 ตัว ตายทั้งหมด 19 ปี หรือตายประมาณร้อยละ 7 ส่วนปี 2567 พบพะยูนเกยตื้นตายแล้วรวม 4 ตัว


ผลผ่าพิสูจน์ คาดสาเหตุป่วยตาย

เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ได้นำซากพะยูนผอมตัวดังกล่าวมาทำการผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย

เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน ส่วนของทางเดินอาหารพบพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย และยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ และในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย โดยในกระเพาะพบว่ามีหญ้าทะเลชนิดหญ้าใบมะกรูด หญ้าเข็ม (ซึ่งหญ้าเข็มจะพบในระดับน้ำลึกกว่าหญ้ามะกรูด) แต่มีอยู่น้อย

หลังผ่าพิสูจน์นานถึง 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตาย ว่า สัตว์ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร พร้อมทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป

นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทช. บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว โดยที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย.-ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง

จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี พบสาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะซากจะเน่า น้อยมากที่จะเจอซากที่สด เมื่อเจอซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก จะเห็นได้ว่าตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้น ชี้ชัดว่ามันป่วย ,พบหนอง พบก้อนเนื้อที่คล้ายมะเร็งลักษณะผิดปกติในอวัยวะภายใน ซึ่งค่อนข้างจะเจอในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของการเกยตื้น

ส่วนพะยูนตัวดังกล่าวผอม เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ มันป่วยแล้วทำให้มันผอม หรือ มันอดอาหารแล้วเหนี่ยวนำทำให้มันป่วย ซึ่งจากการที่สัตวแพทย์ ชันสูตรในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ซึ่งถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่นี่พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง


ทีมบินสำรวจพบหากินเป็นฝูงน้อยลง

ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง บอกด้วยว่า พะยูนจะย้ายถิ่นฐานหรือไม่ ตัวเลขยังสรุปไม่ได้ หากพบแหล่งหญ้าเสื่อมโทรมสัตว์ก็จะย้าย และที่พบในกระเพาะตัวล่าสุดจะเป็นหญ้าเข็ม ซึ่งแสดงว่าพะยูน ไปหากินในระดับน้ำลึก แต่ก็พบเจอหญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นหญ้าที่พะยูนยังคงหากินในที่แหล่งเดิมอยู่ เพราะหลักๆที่เจอความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล จะเจอในแหล่งน้ำตื้นและเป็นในบริเวณที่หญ้าแห้งระดับน้ำลงต่ำสุด

"ตอนนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ทำการสำรวจพะยูนโดยการใช้เครื่องบินเล็ก ซึ่งร่วมสำรวจตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สิ้นสุดในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพราะฉะนั้น จำนวนตัวเลขพะยูนของจังหวัดตรังในขณะนี้ ยังบอกไม่ได้ เพราะยังสำรวจไม่แล้วเสร็จ แต่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พบพะยูนทั้งหมด 31 ตัว ซึ่งพบตัวแม่ลูก 2 คู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก พบว่าอยู่ในพื้นที่มีการขยายพันธุ์" นายสันติ กล่าวทิ้งท้าย


เศร้าซ้ำ บินสำรวจทะเลตรังเบื้องต้น ไม่พบ "พะยูน" คู่แม่ลูก

เศร้า "พะยูน" ตรัง จากโลกตัวที่ 4 ของปี เกิดอะไรขึ้นกับทะเลไทย
ด้าน นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ หรือโน๊ต ดาราดังร่วมกับทีม อาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกกับทีมข่าวว่า วันนี้เขาได้มีโอกาสร่วมกับทีมที่ทำงานภาคสนาม และบังเอิญเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีพะยูนตายพอดี ทำให้ได้เห็นหมดตั้งแต่การบินสำรวจ บินโดรนและนั่งเรือสำรวจ จนสุดท้ายผ่าซากพะยูน ซึ่งเขามาสำรวจปีนี้เป็นปีแรก แต่จากที่สอบถามทีมงานอื่นๆ ทราบว่าประชากรพะยูนลดจำนวนน้อยลง ซึ่งแต่ก่อนเจอเป็นฝูงเป็นกลุ่ม แต่ปีนี้อยู่แบบกระจัดกระจาย ซึ่งต้องบินหาอยู่พอสมควรกว่าจะเจอ ซึ่งก็ไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าเพราะอะไร และเท่าที่บินสำรวจ ก็ยังไม่พบพะยูนคู่แม่ลูกเลย

ส่วน นายทอม (Tom) ช่างภาพอาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกว่า ได้ร่วมกับคณะบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก เพื่อที่นักวิจัยจะใช้ข้อมูลนี้ไปอนุรักษ์ทะเลหายากในประเทศไทย ซึ่งที่ไปสำรวจมีจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี สตูล ชุมพร ทำเป็นโรดแมพ เชื่อมข้อมูลหาวิธีการอนุรักษ์ให้เป็นภาพใหญ่ขึ้น และในเรื่องของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมนั้นตนเริ่มเห็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเสื่อมโทรมเร็วมากในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะลิบงเริ่มหายไปเยอะมากจริงๆ และจากการบินสำรวจจำนวนประชากรพะยูนในเกาะลิบงน้อยมากจริงๆ แต่ไปเจอพะยูนในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากเคลื่อนตัวหรือกระจายตัว


มีต่อ
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม