ดูแบบคำตอบเดียว
  #4  
เก่า 17-01-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,241
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เขื่อนโขงทำแม่โขงแล้งวิกฤต ประมงทั้งลุ่มน้ำเสี่ยงล่มสลาย ทำลายแหล่งข้าวปลาของภูมิภาค

สถานการณ์ความแปรปรวนของแม่น้ำโขงยังคงวิกฤตต่อเนื่อง หลังระดับน้ำในแม่น้ำโขงหลายจุดลดลงจนมีระดับน้ำต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ กระทบวิถีความเป็นอยู่ของประชาชน และสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศแม่น้ำอย่างร้ายแรง ด้านนักวิชาการเผย ผลกระทบเขื่อนยิ่งซ้ำเติมปัญหาภัยแล้ง เสี่ยงทำลายความมั่นคงทางอาหารของภูมิภาคในอนาคต

เมื่อวันที่ 16 มกราคม นริศ อาจหาญ คณะกรรมการภาคประชาสังคมเครือข่ายลุ่มแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน จ.บึงกาฬ เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ จ.บึงกาฬ ลดต่ำอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเกษตรกร และชาวประโมงริมโขง จากสภาวะขาดแคลนน้ำ และความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศแม่น้ำโขง


สภาพแม่น้ำโขงที่ลดระดับจนเห็นแก่งหินใต้น้ำ ที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย //ขอบคุณภาพจาก: Malee Wizel

"นับตั้งแต่เกิดมา ผมยังไม่เคยเห็นแม่น้ำโขงลดต่ำจนถึงขั้นนี้มาก่อน ทั้งๆที่ยังอยู่ในเดือนมกราคม ระดับน้ำลดต่ำมากจนเครื่องสูบน้ำของเกษตรกรริมโขงเกยตื้น ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นไปทำการเกษตรได้ เช่นเดียวกับแพสูบน้ำดิบจากแม่น้ำโขงเพื่อทำน้ำประปาสำหรับในพื้นที่ จ.บึงกาฬ ก็กำลังประสบปัญหาว่าระดับน้ำโขงลดต่ำจนเสี่ยงไม่สามารถสูบน้ำดิบได้ แม้กระทั่งการแข่งเรือยาวประจำปีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ต้องย้ายสถานที่ เพราะแม่น้ำโขงแห้งจนไม่อาจแข่งเรือได้" นริศ กล่าว

จากรายงานสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่า จากการที่เขื่อนจิ่งหง ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ลดระดับการปล่อยน้ำจากเดิมที่ 1,200 ? 1,400 ลูกบากศ์เมตร/วินาที เหลือราว 800 ? 1,000 ลูกบากศ์เมตร/วินาที เพื่อทำการทดสอบอุปกรณ์ปั่นไฟของเขื่อน ระหว่างวันที่ 1 ? 3 มกราคม ส่งผลให้นับตั้งแต่วันที่ 6 ? 20 มกราคมนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในประเทศไทย ตั้งแต่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เรื่อยไปจนถึง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลงราว 0.67 เมตร

จากปัจจัยดังกล่าว ประกอบกับผลกระทบภัยแล้งในภูมิภาค ทำให้ระดับน้ำหลายพื้นที่เช่น จ.หนองคาย มีระดับน้ำลดต่ำจนทำลายสถิติระดับน้ำต่ำสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่จ.หนองคาย ลดลงเหลือเพียง 0.682 เมตรเท่านั้น เมื่อเทียบกับระดับน้ำต่ำที่สุดเท่าที่เคยตรวจวัดได้ ณ ช่วงเวลาดังกล่าวที่ 1.35 เมตร ข้อมูลระดับน้ำของ MRC ยังเผยว่าระดับน้ำโขงที่กรุงพนมเปญ และโตนเลสาป ในประเทศกัมพูชา ก็มีระดับลดต่ำจนเป็นประวัติการณ์เช่นกัน


กราฟแสดงระดับน้ำแม่น้ำโขงช่วงฤดูแล้งที่ จ.หนองคาย เทียบรายปี ชี้ให้เห็นว่าระดับน้ำแม่น้ำโขงในขณะนี้เหลือเพียง 0.682 เมตร ลดต่ำลงกว่าระดับน้ำต่ำสุดที่เคยวัดได้ //ขอบคุณข้อมูลจาก: MRC

นอกจากระดับน้ำแม่น้ำโขงที่ลดระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นริศ ยังสังเกตว่า ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงยังแปรปรวนผิดธรรมชาติ จากการที่น้ำในแม่น้ำโขงใสผิดปกติ จนแม่น้ำกลายเป็นสีฟ้าคราม สร้างความกังวลให้กับชาวประมงตลอดฝั่งแม่น้ำโขงว่า วิกฤตการณ์ในแม่น้ำโขงครั้งนี้จะนำไปสู่ความล่มสลายของระบบนิเวศแม่น้ำและทรัพยากรประมงในที่สุด

"ภูมิภาคแม่น้ำโขงประสบกับสภาวะฝนแล้งมาตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2562 แล้ว สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้แม่น้ำโขงก็มีสภาพแห้งขอดผิดปกติ แม้ในช่วงฤดูน้ำหลาก ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำโขงไม่เอ่อท้นเข้าไปยังลำน้ำสาขาดังเช่นทุกปี ทำให้ปลาแม่น้ำโขงไม่สามารถว่ายน้ำเข้าไปวางไข่ ขยายพันธุ์ในพื้นที่ชุ่มน้ำตามลำน้ำสาขาได้" เขากล่าว

"นอกจากนี้ สภาวะความผันผวนของระดับน้ำที่ขึ้นลงอย่างฉับพลัน อันเป็นผลมาจากเขื่อน ยังทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงอันเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำถูกทำลาย จนในที่สุดชาวประมงสองฝั่งโขงจะไม่มีปลาแม่น้ำโขงให้จับอีกต่อไป"

เขาเน้นย้ำว่า แม้ว่าตอนนี้กรมประมงได้เข้ามาบรรเทาผลกระทบจากความเสียหายของทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขง โดยการนำพันธุ์ปลามาปล่อยทดแทนลงในแม่น้ำโขงแล้วก็ตาม แต่นั่นยังเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงให้ ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนใหม่บนแม่น้ำโขงทั้งหมด และร่วมกันฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

อนึ่ง ประมุข ฤาแก้วมา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จังหวัดขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ กรมประมงมีความกังวลผลกระทบต่อการประมงน้ำจืดในแม่น้ำโขงอย่างยิ่ง เพราะสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นไวและรุนแรงกว่าทุกปี จนทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำลดจำนวนลง และส่งผลให้ปลากระชังในแม่น้ำตายเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวประมงท้องถิ่นอย่างมาก

"ด้วยเหตุนื้ กรมประมงจึงออกมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรประมงในแม่น้ำโขง โดยการส่งเสริมชุมชนริมแม่น้ำโขงให้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย ในการจัดตั้งและดูแลเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในพื้นที่ของตน เพื่อเป็นที่หลบภัยให้กับสัตว์น้ำ นอกจากนี้กรมประมงยังส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์ป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งเป็นป่าน้ำท่วมตามลำน้ำสาขา ให้ยังคงสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นแหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน" ประมุข กล่าว


สถานการณ์การก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าในลุ่มแม่น้ำโขง ณ เดือนมกราคม พ.ศ.2563 //ขอบคุณภาพจาก: Pai Deetes

เช่นเดียวกับรายงาน MRC และข้อสังเกตของ นริศ ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำ Stimson Center Brian Eyler วิเคราะห์ถึงสาเหตุของวิกฤตแล้งในแม่น้ำโขงครั้งนี้ว่า เป็นผลมาจากสภาวะฝนแล้งอย่างหนักในช่วงฤดูมรสุมที่ผ่านมาในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับผลกระทบจากโครงการเขื่อนในแม่น้ำโขง

อย่างไรก็ดี Brian เตือนว่า วิกฤตน้ำโขงแห้ง และการที่น้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนเป็นสีคราม อาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าที่คิด ถึงขั้นทำลายอู่ข้าวอู่น้ำ และความมั่นคงอาหารของภูมิภาค

เขากล่าวว่า ในสภาวะปกติ ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะมีฝนตกชุกในช่วงฤดูมรสุม ซึ่งนอกจากจะช่วยเติมน้ำให้กับแม่น้ำ น้ำฝนยังชะล้างตะกอนจากผืนดินลงสู่แม่น้ำ และนำตะกอนที่อุดมไปด้วยธาตุอาหารเหล่านี้ไปเติมความสมบูรณ์ให้กับพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเขตประเทศเวียดนาม อันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค

น้ำโขงปริมาณมหาศาลช่วงฤดูมรสุมยังเอ่อท้นเข้าไปยังทะเลสาบเขมรในประเทศกัมพูชาทุกๆปี นำพาธาตุอาหาร และปลาจำนวนมาก เข้าไปเติบโตและขยายพันธุ์ จนทำให้ทะเลสาบเขมรเป็นพื้นที่ประมงน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในโลก สามารถจับปลาได้ถึง 500,000 ตัน/ปี เป็นแหล่งผลิตโปรตีนราคาถูกสำหรับชาวกัมพูชาเกือบทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี เขากล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรง และผลกระทบจากการลดการปล่อยน้ำของเขื่อนในจีน ส่งผลให้ในปีนี้ทะเลสาบเขมรแทบไม่มีน้ำจากแม่น้ำโขงไหลพาตะกอนธาตุอาหาร และพันธุ์ปลาเข้าไปเติมในทะเลสาบเลย โดยจากการสังเกตการณ์พบว่า ในปีที่ผ่านมาช่วงระยะเวลาที่น้ำจากแม่น้ำโขงจะไหลเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาหดลงอย่างมากจาก 5 เดือน เหลือเพียง 5 สัปดาห์


ชาวประมงกำลังจับปลาในทะเลสาบเขมร

นอกจากนี้ ภาวะฝนแล้ง และการขัดขวางการไหลของตะกอนจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ ยังทำให้แม่น้ำโขงในปีนี้เกิดสภาวะขาดแคลนตะกอนอย่างรุนแรง จนแม่น้ำเปลี่ยนสีจากสีปูนหม่นกลายเป็นสีคราม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงตลิ่งพังตลอดลำน้ำแล้ว ภาวะขาดแคลนตะกอนยังอาจส่งผลให้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงขาดปุ๋ยธรรมชาติมาเติมความอุดมสมบูรณ์ และถูกคลื่นทะเลกัดเซาะมากขึ้น

เขาเสนอว่า สนธิสัญญาแบ่งปันน้ำในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่าง 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จีน พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สามารถเป็นวิธีแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงเช่นที่เกิดในขณะนี้ โดยจะต้องมีการกำหนดมาตรการให้เขื่อนในแต่ละประเทศต้องปล่อยน้ำออกมาบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง หากสถานการณ์การขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงถึงขั้นที่กำหนดไว้

"จีนมีเขื่อนที่ดำเนินกิจการแล้ว 11 เขื่อน กั้นแม่น้ำโขงตอนบน กักเก็บน้ำไว้รวมกว่า 47,000 ล้านลูกบากศ์เมตร น้ำเพียงจำนวนหนึ่งจากเขื่อนเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาวิกฤตภัยแล้งในแม่น้ำโขงได้ทันที เช่นเดียวกับลาวที่มีแผนสร้างเขื่อนกว่า 100 แห่ง กระจายในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในเขตประเทศลาว เช่นเดียวกับ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ซี่งต่างก็มีเขื่อนในเขตลุ่มแม่น้ำโขงเช่นกัน" เขากล่าว

"สัญญาการปั่นไฟขายไฟฟ้าของแต่ละเขื่อนควรที่จะระงับไว้ก่อนชั่วคราว เพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งเร่งด่วนเฉพาะหน้า เช่นเดียวกัน แม้ว่าสนธิสัญญาเช่นนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนก็จริง หากแต่การปกป้องระบบนิเวศแม่น้ำให้มีความสมบูรณ์ เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งความยั่งยืนของทรัพยากร และความมั่นคงของนับหมื่นชุมชนตลอดสองฝั่งโขง ก็มีความจำเป็นอย่างมาก"


https://greennews.agency/?p=20087

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม