ดูแบบคำตอบเดียว
  #85  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default

GREENPEACE
30-6-15

เมนูเอ็นหอยจอบ กับรอยแผลบาดลึกใต้ท้องทะเล

สะดือหอย หรือเอ็นหอยจอบที่เราชอบกินกัน มีที่มาจากการประมงที่ทำร้ายท้องทะเลมากที่สุด และสร้างความขัดแย้งมากที่สุดระหว่างผู้ทำการประมงอย่างรับผิดชอบและไร้ความรับผิดชอบ หากคุณรู้ว่าการทำประมงเอ็นหอยจอบนั้น ต้องแลกมาด้วยระบบนิเวศทางทะเลที่พังทลายต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัว มาจากการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และทำให้ผู้บริโภคเป็นปลายเหตุของปัญหาโดยไม่รู้ตัว .. คุณยังจะอยากกินเอ็นหอยจอบอยู่อีกไหม




ประมงหอยจอบ เปลี่ยนทะเลเป็นซากหอยและตะกอนดิน

การทำประมงหอยหอยจอบ เพื่อเอาเอ็นหอยมีเบื้องหลังที่ทำร้ายท้องทะเล ด้วยการดำเอาหอยขึ้นมา เลือกตัดเฉพาะเอ็นของหอยจอบเพียง 2 เซนติเมตรเท่านั้น แล้วทิ้งเนื้อหอยและเปลือกกลับลงสู่ท้องทะเล ส่งผลให้น้ำทะเลเน่าเสีย เหมือนกับการรื้อบ้านของสัตว์น้ำวัยอ่อน และปะการัง ทิ้งให้ทะเลเต็มไปด้วยเศษซากของเปลือกหอยและตะกอนดิน

“หอยจอบมีความยาวสูงสุดประมาณ 30-50 เซนติเมตร ฝังตัวอยู่ในดินแนวชายฝั่งทะเลไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล โผล่ขึ้นมาเพียงนิดเดียว ถ้าดินบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์สูง ในหนึ่งตารางเมตรจะมีประมาณ 10 ถึง 20 ตัว ยิ่งหนาแน่นจะมีหมึกกล้วย หมึกกระดอง เพรียง และแพลงก์ตอน อาศัยอยู่เยอะ ถือเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเมื่อเราขุดหอยจำนวนมากขึ้นมานั่นหมายถึงการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำวัยอ่อนและระบบห่วงโซ่อาหาร เกิดปัญหาน้ำขุ่นน้ำเสีย สัตว์น้ำจะต้องอพยพ รวมถึงไม่สามารถทำประมงอื่นได้ อีกทั้งเศษซากเปลือกหอยส่งผลทำให้เครื่องมือประมงพื้นบ้านได้รับความเสียหาย” นายปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย ประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

ผืนทะเลอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กำลังถูกรุกรานด้วยการประมงหอยจอบ ตั้งแต่ปากน้ำปราณ สามร้อยยอด บ้านปากคลองเกลียว โพธิ์เรียง บ่อนอกและทุ่งน้อย ซึ่งอยู่ในแนวเขตอนุรักษ์ของจังหวัดที่ประกาศไว้ 5 ไมล์ทะเล เพื่อสร้างความมั่นคงภายในจังหวัดเพื่อยุติแก้ไขความขัดแย้งเรื่องหอยจอบ จนกว่าจะมีข้อตกลงหรือกฏหมายร่วมกัน แต่ยังถือไม่ใช่กฎหมายประมง โดยการเคลื่อนไหวของการประมงที่ทำลายท้องทะเลเพียงเพื่อสะดือหอยขนาด 2 เซนติเมตรนี้อยู่ภายใต้การจับตามองของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากการสังเกตุพบว่าเรือประมงหอยจอบอาจมีมากถึง 180 ลำต่อวัน ซึ่งแต่ละลำนั้นจะทำการประมงครั้งละ 3-5 ตันต่อลำ ส่วนมากจะเป็นเรือมาจากจังหวัดอื่น โดยที่แม้ชาวประมงพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์นั้นรู้ว่าตลอดแนวชายฝั่งของจังหวัดมีหอยจอบอาศัยอยู่จำนวนมากก็ตกลงร่วมกันในชุมชนว่าจะไม่ทำการประมงที่ทำลายล้างระบบนิเวศ และทำลายวิถีชีวิตชุมชน




ชีวิตและน้ำตาที่ต้องสังเวยเพื่อสะดือหอย

นายปิยะ เทศแย้ม อธิบายเพิ่มว่า “การประมงหอยจอบทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชน เนื่องจากมีการละเมิดกติกาข้อตกลงระหว่างกลุ่มดำหอยจอบ และพี่น้องประมงพื้นบ้านของปราณบุรี ซึ่งเรารับไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อชีวิตของผู้ดำหอย กล่าวคือ กระบวนการดำหอยนั้นจะใช้เรือทอดสมอไว้เฉยๆ มีปั๊มลมบนเรือคล้ายปั๊มลมปะยาง เพื่อให้คนอยู่ในน้ำใช้เป็นออกซิเจน และใช้ตะกั่วลูกละกิโลกรัมจำนวน 30 ลูก เป็นน้ำหนักรวม 30 กิโลกรัม ถ่วงไว้ที่เอว คนงานมีอัตราเสียชีวิตสูงเพราะเมื่อเครื่องดับหรือสายยางรั่ว ก็จะไม่สามารถกลับขึ้นมาบนผิวน้ำได้ เนื่องจากถูกตะกั่วที่หนักถึง 30 กิโลกรัมถ่วงอยู่ โดยในปีที่ผ่านมามีการเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 25 คน ยังไม่นับรวมผู้ที่สูญหายในท้องทะเลอีกประมาณ 40 คน และมีบางกรณีที่เรือแกล้งทำสายยางแตก หรือเครื่องดับ เพื่อให้การเกิดสายยางรั่วทำให้เสียชีวิตได้ เพียงเพราะไม่สามารถจ่ายค่าแรงได้ นอกจากนี้แรงงานที่จับหอยโดยส่วนมากจะเป็นแรงงานต่างชาติอีกด้วย เนื่องจากคนไทยรับรู้ดีว่ามีความเสี่ยงที่จะจับหอยจอบด้วยวิธีนี้”

ยากที่จะคาดคิดว่าก่อนที่จะได้มาซึ่งเอ็นหอยนั้น ต้องมีผู้เดือดร้อนได้รับผลกระทบจำนวนมาก นอกจากชาวประมงพื้นบ้านผู้อนุรักษ์ท้องทะเลจะไม่สามารถทำการประมงในบริเวณนั้นได้แล้ว ยังมีประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกจ้างจนกระทั่งมีกรณีเสียชีวิต ซึ่งยังไม่รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลที่ต้องเสียหายไปจนยากจะฟื้นฟู



“ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่หมู่บ้านม่องล่าย ในชุมชนอนุญาตให้ดำหอยจอบอยู่ 2 เดือน ในพื้นที่ 5 ตารางกิโลเมตร จนกระทั่งหอยหมด ขณะนี้ผ่านมา 2 ปีแล้วแต่ยังไม่มีสัตว์น้ำให้ทำการประมง จนต้องมาทำการประมงที่หมู่บ้านคั่นกระได กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งเพิ่มเนื่องจากแต่พื้นที่มีกฎกติกาแตกต่างกันออกไป และแต่ละพื้นที่ไม่สามารถรองรับเรือประมงที่อพยพมาได้ทั้งหมด” นายปิยะ เทศแย้ม เสริม

ล่าสุดได้มีกฎหมายห้ามทำการประมงหอยจอบห่างจากชายฝั่งในระยะ 5 ไมล์ทะเล จากข้อเรียกร้องของประมงพื้นบ้านแล้ว เนื่องจากการดำหอยจอบเป็นการประมงที่ทำลายระบบนิเวศอย่างร้ายแรง จากการสำรวจตัวอย่างจากจังหวัดตราดพบว่า ต้องใช้ระยะเวลากว่า 5 ปีในการฟื้นสภาพความอุดมสมบูรณ์ของหอยจอบในท้องทะเล

ยังมีอาหารทะเลอีกมากให้เราได้เลือกทาน และเอ็นหอยจอบไม่ควรเป็นเมนูที่เราส่งเสริม ไม่ว่าจะมองในมุมไหน หากพื้นที่บริเวณที่หอยจอบอาศัยอยู่นั้นคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้ เราจะยังมีบ้านให้สัตว์น้ำได้อยู่อาศัย และมีปลาอร่อยๆ เติบโตให้เราได้กินอีกมาก เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเลชายฝั่งได้อีกมาก โดยที่ไม่ทำลายจนสิ้นเพียงเพื่อการขุดเอาเอ็นของหอยจอบ

ก่อนสั่งเมนูเอ็นหอยจอบครั้งหน้า ลองคิดถึงที่มาของหอยจอบอีกครั้งว่าคุ้มแล้วหรือกับสิ่งที่เราต้องแลกมาเพื่ออาหารหนึ่งจาน เพื่อที่คุณจะไม่เป็นปลายทางของปัญหาการประมงหอยจอบอย่างไร้ความรับผิดชอบ ทำร้ายทั้งท้องทะเลจนยากจะฟื้นฟู และทิ้งคราบน้ำตาไว้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านผู้อนุรักษ์ทะเล

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม