ดูแบบคำตอบเดียว
  #92  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default


แนวหน้า
4-07-15


ทช.เร่งผลักดัน‘วาฬบรูด้า’เป็นสัตว์สงวน หวั่นยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลใกล้สูญพันธุ์!



ปัจจุบันสัตว์ทะเลได้รับการคุกคามจากภัยต่างๆ เป็นอย่างมาก ทั้งภัยจากมลภาวะทางน้ำ ขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยวการบุกรุกทำลายถิ่นฐาน รวมถึงปัญหาจากการประมงที่อาจทำให้เกิดการเกยตื้นหรือถูกลากติดอวนจนเสียชีวิต สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางชีวภาพรวมถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลหายากอย่างเป็นวงกว้าง



กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ทะเลหายากและเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จึงได้มีการประกาศเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดเขตคุ้มครองเน้นความปลอดภัยของสัตว์รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน เตรียมเสนอ “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ในรายชื่อสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพื่อพิจารณา พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ที่บ้านท้ายหาดรีสอร์ทและบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก จ.สมุทรสงคราม

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้พบเห็นสัตว์ทะเลหายากจำพวก เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมาเกยตื้นตายตามชายหาด หรือติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งหาวิธีแก้ไข ทางทช. ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นของตัวเอง โดยที่ผ่านมาได้มีการใช้กฎหมายพระราชบัญญัติของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชรวมทั้งได้รับอำนาจบางมาตราจากกรมประมง จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันได้ยกกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2558 จากสาเหตุหลายๆอย่างเราจึงได้พิจารณาว่าในมาตรา 3 ของกฎหมายนั้นต้องดูแลเรื่องของสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งการดูแลก่อนหน้านี้เป็นเพียงเชิงอนุรักษ์ทั่วไป แต่กฎหมายที่แท้จริงของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่ได้มีการร่างอย่างเป็นทางการเมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ทางกรมจึงมีหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงสัตว์ทะเลที่หายาก



ในส่วนของการดูแลสัตว์ทะเลหายากแบ่งเป็น 2 แนวทาง

แนวทางที่ 1 คือการประกาศเขตคุ้มครอง โดยกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศเขตคุ้มครองเพื่อที่จะดูแลระบบนิเวศทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นปะการัง หญ้าทะเล รวมถึงระบบนิเวศของสัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ พะยูน โลมา เต่า วาฬ

แนวทางที่ 2 คือการกำหนดให้สัตว์ทะเลเหล่านี้เป็นสัตว์สงวนคุ้มครอง ไม่ว่าจะออกไปนอกเขตพื้นที่การคุ้มครองก็ยังคงเป็นสัตว์สงวน เราจึงมีการพิจารณาการใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 ทั้งยังพบว่าสัตว์เกือบ 20 ชนิด ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของการสูญพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ วาฬ โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งปีมีอัตราการเสียชีวิตรวมกว่า 800 ตัว และมีการเกิดเพียง 2-4% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 5% หากเรายังเพิกเฉยปล่อยให้วาฬที่มีอยู่ดำเนินชีวิตไปโดยไม่มีการควบคุมอาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์หลงเหลือไว้เพียงแค่รูปถ่าย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องหันมาช่วยกันรณรงค์ปลูกจิตสำนึกประชาชนเพราะการตายของสัตว์ทะเลเกิดจาก “ขยะ”แน่นอนว่าขยะที่พบมากที่สุดเกิดจากการท่องเที่ยวและจากการประมง “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว” โดยเฉพาะในปีนี้เป็นปีที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีกฎหมายบังคับใช้เป็นของตนเอง เราจะดำเนินการและอนุรักษ์ไว้ซึ่งสัตว์ทะเลหายากอย่างเต็มที่

ขณะที่ ดร.ปิ่นสักก์ สรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน มีเป้าหมายอยู่ใน 3 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นที่ 1 เป็นเรื่องของการให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานภาพและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรสัตว์ทะเลหายากโดยกลุ่มงานวิจัยจะช่วยทำให้เข้าใจว่าตอนนี้มีสัตว์กี่ชนิดอยู่ในท้องทะเลไทย กี่ชนิดที่เป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์อีกทั้งยังมีการศึกษาพฤติกรรมและสภาพทางชีววิทยาว่าเป็นอย่างไรเมื่อเข้าใจแล้วจึงมีมาตรการหรือแนวทางในการจัดการที่เหมาะสม

ประเด็นที่ 2 เป็นกลุ่มงานที่ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากและเกยตื้นจากสถิติพบว่าสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้มีการเกยตื้นเป็นจำนวนมาก เราทุกคนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาและงานนี้จะไม่สามารถก่อให้เกิดความสำเร็จได้หากทุกคนไม่ร่วมมือกันประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องของการช่วยชีวิตว่าควรมีการช่วยเหลืออย่างไร ใช้วิธีการรักษาเบื้องต้นที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพที่ดีอย่างไรก็ตามประชากรของสัตว์ทะเลหายากลดลงจนไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ธรรมชาติได้ เราทุกคนจึงมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค

“ผมเชื่อว่าชาวบ้านให้ความสำคัญกับทรัพยากรไม่น้อยไปกว่าภาครัฐ” ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ทาง ทช. ยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่น เพราะกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสพบเหตุการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านหากมีความความรู้ความเข้าใจในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในรอดชีวิตของสัตว์เหล่านี้ได้มากขึ้นและ “วาฬ” ยังถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายากที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเราทุกคนยังจะต้องช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ. การอนุรักษ์ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

หากทางรัฐมีการประกาศให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนก็จะช่วยลดอัตราการสูญพันธุ์ ไม่เพียงแต่วาฬบรูด้าเท่านั้นเพราะสัตว์ทะเลทุกชนิดไม่ใช่ทรัพยากรหมุนเวียนหากแต่เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม