ดูแบบคำตอบเดียว
  #105  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default


คม ชัด ลึก
12-07-15


เปิดพื้นที่อนุรักษ์ 'วาฬบรูด้า' สัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ ..................... รักชีวิต รักษ์สิ่งแวดล้อม โดย ธนชัย แสงจันทร์



ปัจจุบันสถานการณ์ทะเลไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมา ซึ่งต่างตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ที่น่าสนใจ ชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้พบเห็นสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมา บาดเจ็บ เกยตื้นตายตามชายหาด หรือติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการเก็บและรวบรวมข้อมูลสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากในประเทศไทยรอบ 12 ปี (พ.ศ.2546- 2557) พบว่า สัตว์ทะเลหายากเกยตื้นตาย รวม 2,201 ตัว ประกอบด้วย เต่าทะเล 1,209 ตัว โลมาและวาฬ 851 ตัว และพะยูน 141 ตัว โดยในแต่ละปีมีแนวโน้มของการบาดเจ็บและเกยตื้นตายเพิ่มสูงขึ้น จึงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะ "วาฬบรูด้า" ที่มีอัตราการเกิด และการตาย เท่ากันในอัตราร้อยละ 4-5 น้อยกว่าสัตว์ทะเลกลุ่มเสี่ยงชนิดอื่นๆ

“ก่อนหน้านี้ (ช่วงปี 2557) เกิดกระแส ‘บรูด้า ฟีเวอร์’ โดยนักท่องเที่ยวน้อยใหญ่ ทั้งที่เป็นชาวไทย และชาวต่างชาติ ต่างแห่ออกไปเฝ้าชมวาฬบรูด้าที่เข้ามาหาอาหารในบริเวณอ่าวไทยตอนบน หรือ อ่าวไทยรูปตัวกอ กลายเป็นการท่องเที่ยวทางเลือก สร้างรายได้ให้แก่ชาวเรือ ที่หยุดหาปลา มาพานักท่องเที่ยวชมวาฬไปไม่น้อย และจากความสวยงามของวาฬบรูด้าในยามที่โฉบเฉี่ยวปรากฏตัวเหนือน้ำทะเล เพื่อขึ้นมากินปลาเล็กปลาน้อย ถูกฉาบไว้ด้วย สถานการณ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจ และไม่ได้ตั้งใจของมนุษย์ ก็นับว่าน่าเสียดาย”

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่า กรมเตรียมเสนอให้ “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ซึ่งหากมีการขึ้นทะเบียนสำเร็จ “บรูด้า” จะเป็นสัตว์ทะเลตัวที่ 2 ต่อจากพะยูน ที่จะได้รับการประกาศเป็นสัตว์สงวนในรอบ 23 ปี ทั้งนี้เพื่อยกระดับความสำคัญของวาฬบรูด้า และเป็นการผลักดันให้การอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอข้อมูลต่อกรมประมง เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของสัตว์น้ำ ก่อนที่จะเสนอให้กระทรวงทัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นชอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับจากปลายเดือนมิถุนายน

อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า การคุ้มครองสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์นั้น กรมให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งด้านวิชาการและภาคประชาชน โดยในส่วนของเครือข่ายด้านวิชาการจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางวิชาการ ด้านแหล่งการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลหายากแก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยต่างๆ

นอกจากนี้ กรมยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่น เพราะกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสพบเหตุการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน ด้วยการสร้างความเข้าใจและให้ความรู้การช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นอย่างถูกต้อง ก่อนประสานแจ้งเหตุมายังหน่วยงานของกรม ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของสัตว์เหล่านี้ได้มากขึ้น

ด้าน สุรศักดิ์ ทองสุกดี นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการรักษาสัตว์หายากให้อยู่คู่ท้องทะเลไทยต่อไป อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเนื้อหา พ.ร.บ.ได้กำหนดบทบาทให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้

สำหรับพื้นที่ที่จะประกาศต้องมีสภาพสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชตามธรรมชาติ และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ ดูแล และช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากแล้ว ยังสนับสนุนการทำงานร่วมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่มีอยู่ในท้องถิ่น

ส่วนสาระสำคัญของประกาศ เป็นการป้องกันการสูญพันธุ์ของวาฬบรูด้า ทั้ง 52 ตัว ที่เข้ามาหาอาหารในบริเวณอ่าวไทยตอนบน หรือ อ่าวไทยรูปตัว กอ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีปลาตัวเล็กอาศัยอยู่อย่างสมบูรณ์ เพราะเป็นปากแม่น้ำ 4 สาย ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลอง และท่าจีน ทำให้วาฬบรูด้าปรากฏโฉมให้เห็นอยู่เป็นประจำ กระทั่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บริเวณอ่าวไทยรูปตัวกอ

“และการปรากฏตัวของเจ้าวาฬบรูด้าในบริเวณน่านน้ำไทยนั้น บงบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ท้องทะเล แต่น่าเสียดายความสมบูรณ์ และความงดงามของธรรมชาติลดลง จากจำนวนขยะใต้ท้องทะเลที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 52 ตัน เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไปก็ส่งผลต่อร่างกายและต้องเกยตื้นตาย รวมทั้งการประมงที่ผิดประเภทเช่นกัน”

“ในขณะนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เร่งสำรวจและเก็บดีเอ็นเอของวาฬ พร้อมกับการฝังชิพติดตามพฤติกรรม และการย้ายถิ่นอาศัย นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังกลุ่มประเทศต่างๆ ที่มีน่านน้ำติดกับไทย ให้เกิดความร่วมมือในการดูแลวาฬร่วมกัน” นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กล่าว

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหว ในการผลักดันให้วาฬบรูด้า เป็นสัตว์สงวน เกิดขึ้นโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย โดยการนำเสนอกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น การประกวดภาพวาดและภาพถ่าย สัตว์สงวนและสัตว์คุ้มครอง 24 ชนิด เพื่อชิงรางวัลมูลค่ามากกว่า 3 แสนบาท

ที่สำคัญมีการรณรงค์ให้มีการตระหนักถึงความสำคัญของวาฬบรูด้า และลงชื่อสนับสนุนให้มีการขึ้นทะเบียนวาฬบลูด้าเป็นสัตว์สงวน ผ่านเว็บ http://www.change.org/SaveOurWhale โดยแจ้งวัตถุประสงค์บางส่วนว่า “การผลักดันวาฬบรูด้าให้เป็นสัตว์สงวน จะช่วยยกระดับความสำคัญของวาฬ ทำให้เกิดมาตรการต่างๆ ในการดูแลและช่วยเหลือวาฬ เช่น ศูนย์วิจัยและช่วยเหลือวาฬ การให้ความรู้และสร้างการท่องเที่ยวชมวาฬอย่างยั่งยืน เช่น พิพิธภัณฑ์วาฬ เครือข่ายท่องเที่ยวชมวาฬ ฯลฯ ตลอดจนยกระดับให้วาฬบรูด้าเป็น "สัตว์สัญลักษณ์แห่งอ่าวไทย" ช่วยส่งเสริมให้กรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงกลายเป็นแหล่งดูวาฬเชิงอนุรักษ์ระดับโลก และเกิดพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ในอ่าวไทยไว้ให้จงได้” ซึ่งตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 25,000 คน

อย่างไรก็ตาม นอกจากวาฬบรูด้าแล้ว ยังมีสัตว์ทะเลหายากกว่า 20 ชนิด ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากระบบนิเวศทางทะเล เช่น วาฬบรูด้า โลมา เต่ามะเฟือง กลุ่มปลาโรนัน ปลาโรนิน ซึ่งเกิดจากขยะ ท่องเที่ยว และประมง ที่เราทุกคนต่างมีส่วนกระทำทั้งสิ้น

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม