ดูแบบคำตอบเดียว
  #106  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,159
Default


greennewstv
12-07-15

ประมงพื้นบ้าน-พาณิชย์ประสานเสียง ต้องหยุดเรือประมงทำลายล้าง ปีหน้ามีปลา 20 ล้านตัน



เวทีราชดำเนินเสวนา นายกสมาคมประมงพื้นบ้านรับ มาตรการหยุดเรือประมงทำลายล้างกระทบเรือประมงพื้นบ้านด้วย ที่ปรึกษาสมาคมเรือประมงไทยขอรัฐเพิ่มขนาดตาอวนลาก-จัดโซนนิ่งขนาดเรือ เผยโรงแรมดังบอยคอร์ตอาหารทะเลไทยมานานแล้ว ระบุหยุดเรือประมงทำลายล้าง ปีหน้าเพิ่มปริมาณปลาน่านน้ำไทย 20 ล้านตัน มูลค่า 2 ล้านล้านบาท

วันนี้ (13 ก.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง “แบนประมงผิดกฎหมายเด็ดขาด…คนทั้งชาติยังมีปลากิน?” ที่ชั้น 3 ห้องอิศรา อมันตกุล โดยมีตัวแทนจากประมงพื้นบ้าน องค์กรภาคประชาชน ตัวแทนประมงพาณิชย์ และตัวแทนจากกรมประมง เป็นผู้ร่วมเสวนา

“นายสะมะแอ เจะมูดอ” นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าวทำความเข้าใจต่อประมงพื้นบ้านว่า มีองค์ประกอบหลายๆอย่าง ทั้งเรื่องของตัวเรือ เครื่องมือประมง หรือแม้กระทั่งแรงงานบนเรือ ซึ่งยอมรับว่าเรือประมงพื้นบ้านส่วนหนึ่งก็มีเครื่องมือประมงทำลายล้างเช่นกัน ซึ่งการออกมาตรการหยุดเรือประมงทำลายล้างก็กระทบกับประมงพื้นบ้านเช่นเดียวกัน ประมงพื้นบ้านเองก็ไม่สามารถขออาชญาบัตรได้ทุกเครื่องมือ

นายสะมะแอระบุว่า การบังคับใช้กฎหมายเด็ดขาดช่วงนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับเรือประมงพื้นบ้านมากนัก เพราะเป็นช่วงเดือนหงายที่ไม่ค่อยมีสัตว์น้ำ และยังมีมรสุม แต่ยังพอจับปลาได้ในทุกพื้นที่ตั้งแต่สตูลจนถึงภูเก็ต ต่างจากเมื่อก่อนที่ออกเรือประมงทุกประเภท ทำให้สัตว์น้ำค่อนข้างหายาก ซึ่งการที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เรือประมงพาณิชย์หยุดทั้งหมด เพราะเราเองก็ต่างประกอบอาชีพประมงเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต้องทำคือทบทวนเครื่องมือที่ใช้ ว่านั่นคือเครื่องมือทำลายล้างหรือไม่ ก็เพื่อความมั่นคงทางอาหาร

นายกสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทยยังฝากทางหน่วยงานรัฐบาลว่า ขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมทำงานอย่างบูรณาการ เพราะการทำการประมงนั้นมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมายของแต่ละแห่ง บางแห่งก็ไม่เข้าใจวิถีชีวิตของชาวประมง อย่างเช่นห้ามเด็กออกเรือไปพร้อมกับพ่อแม่ หรือการที่เรือประมงหลบมรสุมมาขึ้นเกาะ กลับโดนเล่นงานจากกรมอุทยานฯ เป็นต้น



ด้าน “นายนิธิวัฒน์ ธีระนันทกุล” ที่ปรึกษาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้จะยอมรับถึงปัญหาการประมงว่าเราละเลยกันมากว่า 20 ปี ซึ่งในวันนี้เราจะละเลยต่อไปไม่ได้ แต่การบังคับใช้แบบรุนแรงและกะทันหันเช่นนี้เรียกได้ว่าล้มทั้งยืน ซึ่งการที่เรือประมงพาณิชย์ต้องหยุดเรือกันที่ผ่านมานั้นมิใช่เพื่อการประท้วงหรืออย่างใด ที่จริงต่างอยากออกไปจับปลาด้วยกันทั้งนั้น แต่ที่ต้องหยุดเพราะกฎระเบียบเข้มข้นของราชการนั้นหนักหนาสาหัส และการจัดการแบบปุบปับเช่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ทัน

ซึ่งข้อเสนอที่อยากฝากถึงรัฐบาลคือ ให้บังคับใช้กฎเกณฑ์บางประเภทที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น เปลี่ยนขนาดตาอวนลากให้ใหญ่ขึ้น, ลดเครื่องมือประกอบการประมงเช่นเรือปั่นไฟล่อปลา, การขึ้นทะเบียนซั้งล่อปลา ควบคุมและมีการจัดการทางสถิติ, การทำโซนนิ่งให้เหมาะกับขนาดเรือ กำลัง แรงม้า และขนาดเครื่องมือ, การกำหนดเวลาในการทำการประมง, การกำหนดโควตาตามชนิดเครื่องมือการทำการประมง, การกำหนดโควตาปริมาณการจับสัตว์น้ำ, การพัฒนาเพื่อกระจายพื้นที่การทำการประมงเพื่อลดการทำลายพื้นที่เติบโต ไปทำประมงน้ำลึก, การพัฒนาระบบการติดตาม ควบคุม และการเฝ้าระวัง MCS, การพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้าถึง ฐานข้อมูลมากขึ้น และนำไปใช้ในการประเมินปริมาณสัตว์น้ำในอนาคต Stock assessment, การจัดการเพื่อยกระดับการดำรงชีพของชาวประมง การให้ชาวประมงเข้าถึงแหล่งความรู้ในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปสู่อาชีพใหม่ทั้งในท้องถิ่นเดิม และการไปสู่ท้องถิ่นใหม่ Raise up Livelihood and development

“นายมาโนช รุ่งราตรี” ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง กล่าวว่า หากเราย้อนดูตั้งแต่เริ่มแรกจะเห็นได้ว่าทางกรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขการประมงผิดกฎหมายมาตั้งแต่ พ.ร.บ.ประมง พ.ศ.2490 ก่อนหน้าที่จะเกิดกระแสเรื่องของความยั่งยืนที่ทาง FAO ได้เริ่มเข้ามาร่างกฎระเบียบ แต่กฎดังกล่าวนั้นใช้วิธีดำเนินการด้วยความสมัครใจและร่วมมือ เมื่อไม่มีการบังคับก็ไม่เป็นที่สนใจ

หลังจากนั้นทางสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นผู้ซื้ออาหารทะเลรายใหญ่เกิดความกังวลว่าอาหารทะเลที่ส่งไปขายนั้นเกิดจากการประมงที่มีความรับผิดชอบหรือไม่ จึงต้องประกาศกฎการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือ ไอยูยูฟิชชิ่ง ที่ต้องสามารถรับรองได้ว่าอาหารทะเลที่ได้มาจากการประมงที่ไม่ผิดกฎหมาย ปฏิบัติตามระเบียบ มีการรายงาน ควบคุม และตรวจสอบได้

ซึ่งทางกรมประมงเองก็ได้ดำเนินการป้องกันประมงผิดกฎหมายดังกล่าว มีทั้งการตรวจสอบย้อนกลับ มีการขึ้นทะเบียน มีอาชญาบัตร มีการทำรายงานบันทึก นอกจากนี้ยังรวมถึงการควบคุม มีการประกาศกฎระเบียบต่างๆ เช่นการห้ามทำประมงบริเวณแหล่งวางไขหรือแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ หรือการประกาศห้ามเครื่องมือประมงทำลายล้าง ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ถ้ากลับไปดูแล้วจะดำเนินการไว้ค่อนข้างคลอบคลุมทุกด้าน

“แต่ในขณะเดียวกันการควบคุมที่ผ่านมาก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทางกรมประมงเองก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก ด้วยกรมประมงเองก็เป็นกรมวิชาการ การดำเนินงานที่ผ่านมาก็เป็นเรื่องของวิชาการโดยตลอด เมื่อเกิดเรือที่ผิดกฎหมายจำนวนมากมาย พอเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน”



ส่วน “น.ส.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ” ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาการบริหารทรัพยากรประมงเจอปัญหา ก็เพราะลักษณะทางธรรมชาติของทรัพยากรประมงนั้นบริหารจัดการได้ยาก ดำเนินการเหมือนแมวไล่จับหนู เมื่อแมวไม่อยู่หนูก็ร่าเริง จึงเป็นเรื่องที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา แต่เมื่อคนหนึ่งใช้มากแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นที่มีส่วนใช้ทรัพยากร เพราะฉะนั้นเราจึงประสบกับจุดวิกฤตเมื่อประมาณปี พ.ศ.2535-2536 แต่ก็ดีขึ้นเมื่อถึงปี 2538 เพราะหลายคนเริ่มปรับพฤติกรรมเมื่อรู้ว่าสุดท้ายแล้วในอนาคตต้องพึ่งพาทรัพยากร และต้องปล่อยให้ฟื้นฟู แต่หากมองในมิติของการประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เมื่อเขามองว่าต้องหากินในวันนี้ หากปลาที่จับได้วันนี้แล้วอย่าคิดว่าพรุ่งนี้ปลาเหล่านั้นจะมาให้จับอีก นี่คือลักษณะมุมมองต่อการใช้ทรัพยากรที่ต่างกัน

นอกจากนี้ในด้านของผู้บริโภคเองไม่มีทางรู้ว่าอาหารทะเลที่เลือกมาจากการประมงทำลายล้างหรือไม่ เมื่อมาถึงตลาดลักษณะก็เหมือนกันหมด ปัญหาคือระบบตลาดในประเทศมีการผูกขาด เมื่อปลาทุกตัวจะต้องไปเวียนตามสะพานปลาขนาดใหญ่ก่อน กว่าจะมาถึงผู้บริโภคจึงไม่ปลอดภัยต่อสารเคมี รวมถึงผู้กำหนดราคากลางกลับไม่ใช่พ่อค้าแต่เป็นตลาดปลา เรามีระบบที่เพี้ยนมาตลอด เราจึงต้องสร้างทางเลือกเส้นทางปลาใหม่ อย่าผูกขาดว่าจะต้องประมูลที่สะพานปลา

“จริงๆแม้เราจะไม่ได้โดนไอยูยูในวันนี้ แต่เราก็โดนฝรั่งแบบอาหารทะเลในประเทศมานานแล้ว โรงแรมห้าดาวหลายแห่งไม่เลือกซื้อปลาไทย หลายรายเลิกซื้อปลาไทยจนกระทั่งได้มาเจอกับตลาดปลาพื้นบ้าน เขาก็ถามว่าจับมาจากไหน มีสารเคมี มีการใช้แรงงานทาสหรือเปล่า จะเห็นได้ว่าคนต่างชาติเองเขาก็สงสัยว่าทำไมเรามีชายฝั่งที่ยาวไกลแต่กลับมีผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ และอยากจะเห็นหน้าตาของการประมงไทยเปลี่ยนจากการส่งออกกุ้งราคาถูก มาเป็นปลาคุณภาพที่มีราคาแพง”



ขณะที่ “นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี” กรรมการสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า พื้นที่จับสัตว์น้ำไทยนั้นมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าทั่วโลก ตามข้อมูลแล้วเราจับปลาได้กว่าล้านตันจากน่านน้ำในประเทศ อีกกว่าล้านตันนอกน่านน้ำไทย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ว่าคนไทยกินอาหารทะเลรวมกันประมาณ 2 ล้านตันหรือ 28-31 กก.ต่อคน/ปี เทียบกับคนอเมริกันที่ 50 กก.ต่อคน/ปี และคนญี่ปุ่นที่ 69 กก.ต่อคน/ปี เมื่อดูปริมาณการส่งออกก็อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน เพราะฉะนั้นจึงสามารถอนุมานได้ว่าหากจะให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศและส่งขายต่างประเทศ เราจึงต้องมีปลาในระบบจากทั้งผลผลิตในประเทศ ส่วนที่นำเข้า และการเพาะเลี้ยง ประมาณ 4 ล้านตัน

หากดูในส่วนข้อมูลของสัตว์น้ำที่จับได้ในประเทศประมาณ 1.1-1.2 ล้านตัน กว่า 80% หรือคิดเป็น 8-9 แสนตันมาจากการประมงพาณิชย์ หากในจำนวนนั้นกว่า 50% หรือประมาณ 4-5 แสนตันเป็นปลาเป็ด หรือลูกปลาที่จะผลิตเป็นปลาป่นป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลปลาเป็ดในระบบจากกรมประมง และในจำนวนนั้นกว่า 30% หรือประมาณ 1.5-2 แสนตันคือปลาเป็ดเทียมหรือปลาเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเป็นปลาทูซึ่งหากปล่อยให้โตหนึ่งปีจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า นั่นเท่ากับว่าหากเราหยุดการประมงทำลายล้างได้ ในหนึ่งปีข้างหน้าเราจะมีจำนวนปลาในท้องทะเลเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านตัน

“เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่าหากเราหยุดอวนลากอวนรุนแล้ว คนในชาติจะยังมีปลากินหรือไม่ อย่าว่าแต่กินเลย ผมขอใช้คำว่าเรามีอาบได้เพราะมันมากมาย หากคิดราคาปลาทูที่กิโลกรัมละ 100 บาท เราจะมีทรัพย์สินของการประมงที่สต็อกอยู่ในท้องทะเลเท่ากับ 2 ล้านล้านบาทในหนึ่งปี แม้การเทียบอย่างนี้จะไม่ถูกนักเพราะยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมาก แต่ต่อให้ลดตัวเลขลงไปอีก 70-80% นั่นก็ยังเป็นจำนวนมหาศาลอยู่ดี”

“นายวรพงศ์ สาระรัตน์” เจ้าหน้าที่ประมงอาวุโสปฏิบัติหน้าที่นิติกร กรมประมง กล่าวว่า เครื่องมือหลักจัดการทรัพยากรในเวลานี้คือกฎหมาย ซึ่งอันเดิมถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 2490 ที่ทรัพยากรในเวลานั้นยังมีมากมาย โดยหลักคิดในเวลานั้นคือการจัดการยังเป็นของรัฐ ต่อมากรมประมงเริ่มทำกฎหมายฉบับใหม่ตั้งแต่ปี 2543 จนมาสำเร็จในปี 2558 ซึ่งความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือเพิ่มกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบ เพราะในมุมของกฎหมายกับการบังคับใช้นั้น หากเรามีตัวกฎหมายที่ดีการบังคับใช้ก็จะดีไปด้วย แต่หากกฎหมายไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นจริงก็จะเกิดปัญหา การที่เราจะทำให้กฎหมายสอดคล้องก็คือการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะต้องมีการตรากฎหมายลำดับรองอีก 70-80 ฉบับ ซึ่งก็อาจไม่ทันกับความเร่งด่วนในปัจจุบัน จึงมีการออกประกาศคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 10 เพื่อใช้แก้ปัญหาไปพลางๆก่อน โดยเน้นการมีส่วนร่วมที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของชาวประมง แล้วมาขึ้นทะเบียนเพื่อสิทธิที่จะสามารถส่งผู้แทนมาเป็นคณะกรรมการประมงจังหวัด สามารถออกแบบกฎในระดับพื้นที่ได้มากขึ้น ซึ่งเรื่องของคณะกรรมการประมงจังหวัดที่ผ่านมายังไม่เคยมี

“บทบาทที่สำคัญคือการมาช่วยกันออกกติกาเรื่องการจับสัตว์น้ำทั้งหลายให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาออกโดนส่วนกลางที่ขาดความเหมาะสมไปบ้าง รวมทั้งความล่าช้า เพราะฉะนั้นในกฎหมายประมงฉบับใหม่เป็นจึงเป็นกฎหมายที่เกิดการมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น การจัดที่ทำสอดคล้องกับพื้นที่ ตอบโจทย์ต่างๆตามที่เราคาดหวังไว้มากขึ้น”

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม