ดูแบบคำตอบเดียว
  #31  
เก่า 21-01-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,158
Default

สวดว่อนเน็ตปิดแหล่งดำน้ำ 7 อุทยานฯไม่ตรงจุดวิกฤติ

นักท่องเที่ยววิจารณ์ว่อนเน็ตปิดแหล่งดำน้ำ 7 อุทยานฯไม่ตรงจุดวิกฤติ ด้าน ทช. ระบุข้อมูลตรงกันแล้วรอดูปะการังฟื้นตัว หากพบทำผิดใช้กฎหมายจัดการทันที แฉไกด์เถื่อนต่างชาติไร้สำนึกเกลื่อนเมืองภูเก็ต

วันนี้ (21 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีมาตรการห้ามดำน้ำใน 7 อุทยานแห่งชาติชื่อดังทั้งฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยเพื่อฟื้นฟูปะการังที่เกิดการฟอกขาวและมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.นั้นปรากฎว่าได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดานักท่องเที่ยวที่ได้เข้าไปโพสต์ข้อความในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ว่า จุดที่กรมอุทยานฯ สั่งปิดห้ามดำน้ำนั้นไม่ตรงหรือสัมพันธ์กับจุดที่เกิดปะการังฟอกขาว เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ บริเวณอ่าวแม่ยายทิศเหนือ เกิดปะการังฟอกขาวถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ เกาะสุรินทร์เหนือ หน้าช่องแคบตอนใน ฟอกขาว 93.6 เปอร์เซ็นต์ เกาะปาชุมบา ตะวันออกเฉียงเหนือ ฟอกขาว 95 เปอร์เซ็นต์ เกาะสุรินทร์ใต้ฝั่งตะวันออก(อ่าวเต่า) ฟอกขาว 85 เปอร์เซ็นต์ เกาะชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ฟอกขาว ฟอกขาว 84 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น

แต่กรมอุทยานกลับสั่งปิดบริเวณอ่าวสุเทพ อ่าวไม้งาม เกาะสตอร์ค หินกอง อ่าวผักกาด และแนวปะการังหน้าที่ทำการอุทยาน ซึ่งเกิดการฟอกขาวของปะการัง ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จุดที่เกิดปะการังฟอกขาว มากคือเกาะสิมิลัน ตะวันออก หน้าประภาคาร ฟอกขาว 89.3 เปอร์เซ็นต์ เกาะตาชัย ตะวันออกเฉียงใต้ ฟอกขาว 84 เปอร์เซ็นต์ เกาะบางู ทิศใต้ ฟอกขาว 60.8 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น แต่กรมอุทยานฯ กลับไปปิดบริเวณอ่าวไฟแว๊บและอีส ออฟ อีเด็นซึ่งเป็นจุดที่เกิดปะการังฟอกขาวไม่มาก

ผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยัง นายเกษมสันต์ จิณณวาโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยนายเกษมสันต์ ชี้แจงว่า การปิดจุดน้ำดังกล่าวเป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ซึ่งจุดดำน้ำใน 7 อุทยานฯ ที่สั่งปิดไปนั้นก็ตรงกับข้อมูลของ ทช. และเป็นไปตามข้อมูลที่นักวิชาการของเราได้เข้าไปชี้แจง โดยสิ่งที่เราต้องการดูหลังจากการประกาศปิดจุดดำน้ำคือการฟื้นตัวของปะการังวัยอ่อน ว่าจะลงเกาะบนซากปะการังที่ตายแล้วหรือไม่ เป็นเรื่องที่คณะทำงานร่วมของทั้ง 2 หน่วยงาน คือกรมอุทยานฯ และทช.จะต้องเข้าไปดู

โดยในส่วนของ ทช. จะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านปะการังเข้าไปร่วมด้วย ทั้งนี้ในพื้นที่นอกเขตอุทยานฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ ทช.นั้น สิ่งที่จะทำคือเร่งประสานกับท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนี้ พร้อมกับมอบหมายให้คณะทำงานจัดทำข้อมูลและสื่อประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับปะการังฟอกขาวของ ทช.เร่งจัดทำป้ายป้ายโปสเตอร์เพื่อประชาสัมพันธ์ตามจุดต่าง ๆ ถ้าพบการทำผิดกฎหมายก็สามารถดำเนินการได้ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

นายเกษมสันต์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนักท่องเที่ยวและบริษัททัวร์นำเที่ยวที่ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นนั้น ตนอยากให้ดูตามสถานการณ็ โดยใช้การทำความเข้าใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเราคงไม่สามารถใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติได้ จึงต้องให้บริษัททัวร์ทำความเข้าใจกับเขาก่อน และเราก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับบริษัททัวร์นำเที่ยวให้ช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจะได้เร่งจัดทำแผนพับประชาสัมพันธ์ เพื่อแจกให้บริษัททัวร์นำเที่ยวและนักท่องเที่ยวแล้ว กรณีดังกล่าวจะใช้วิธีหักด้ามพร้าด้วยมือหรือใช้กฎหมายเข้าไปจัดการทั้งหมดไม่ได้ แต่หากพบพวกลักลอบจับสัตว์น้ำหรือปะการังโดยผิดกฎหมาย คงต้องฟ้องร้องดำเนินคดีและยึดเครื่องมือดำเนินการทันที

ด้าน นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผอ.ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (จ.ภูเก็ต) กล่าวว่า สำหรับกรณีที่นักท่องเที่ยวเข้าไปเหยียบย่ำบนปะการังและหักขึ้นมาถ่ายรูปเล่นนั้น ถือเป็นการขาดความรู้ความเข้าใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งการจะเอาผิดกับนักท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ลำบาก สิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการกับมัคคุเทศน์หรือบริษัททัวร์นำเที่ยวให้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเหล่านั้น ตลอดไปจนถึงการใช้มาตรการทางการกฎหมายเข้าดำเนินการกับบริษัททัวร์หากมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยจับกุมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฝ่าฝืนลักลอบเก็บปะการัง แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ เพราะกระทบกับหลาย ๆ เรื่อง

นอกจากนี้ยังเคยมีโรงแรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักโทรศัพท์มาแจ้งกับทางศูนย์อนุรักษ์ฯ ของเราว่ามีนักท่องเที่ยวลักลอบเก็บปะการังสวยกลับไป แต่พอเก็บไปแล้วปะการังตายและส่งกลิ่นเน่าเหม็นก็ต้องทิ้งไว้ จนพนักงานโรงแรมไปพบและโทรมาแจ้งกับเรา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจิตสำนึกนักท่องเที่ยว ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหรือไกด์ต้องเร่งทำความเข้าใจกัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงในเวลานี้ คือ มัคคุเทศน์หรือไกด์นำเที่ยวไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังมีชาวต่างชาติที่ไม่แน่ใจว่าเป็นไกด์เถื่อนหรือมีใบประกอบวิชาชีพมัคคุเทศน์ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงที่สุด โดยเรื่องนี้ต้องประสานไปยังจังหวัดให้มีการตรวจสอบต่อไป ซึ่งในเรื่องการตรวจสอบหาบริษัททัวร์หรือไกด์นำเที่ยวที่พานักท่องเที่ยวมานั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราทราบอยู่แล้วว่ามีบริษัทใดดำเนินการอยู่ในพื้นที่บ้าง ส่วนของเรือประมงหรือเรืออวนลากที่เข้ามาใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมายในพื้นที่ สั่งผลต่อทั้งสัตว์น้ำและปะการัง ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการขั้นเด็ดขาดแล้ว โดยล่าสุดมีการจับเรือประมงผิดกฎหมายและผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและแรงงานต่างด้าวชาวพม่าได้ 9 ราย

ในส่วนของนายนิพนธ์ พงศ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานการณ์ปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะใน 2541 เกิดขึ้นปะการังฟอกขาวที่หมู่เกาะมัลดีฟ ซึ่งถือเป็นแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยมีการฟอกขาว 80-90 % มัลดีฟก็ได้จัดมาตรการควบคุบการท่องเที่ยว โดยบางจุดห้ามมีการท่องเที่ยวโดยเด็ดขาด โดยมัลดีฟแม้ปะการังเสียหายแต่ก็ยังมีปลาสวยงามที่มีความหลากหลาย เพื่อเป็นจุดขายในการท่องเที่ยว แต่ของไทยปลาสวยงามเริ่มลดน้อยลงแล้ว หากไม่มีการควบคุมก็จะยิ่งลดลงและเสื่อมโทรมไปเรื่อย ๆ

สำหรับประเทศออสเตรเลีย ที่มีเกรทแบร์ริเออร์รีฟ เป็นแหล่งปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เคยเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2541 ซึ่งคล้ายคลึงกับที่เกิดในประเทศไทย เพราะมีการทำทุ่นเพื่อจอดเฮลิคอร์ปเตอร์สำหรับให้นักท่องเที่ยวมาดูปะการัง ทำให้มีฝูงนกมาเกาะที่ทุ่นและขับถ่ายออกมาจำนวนมาก เมื่อฝนตกลงมาก็ชะล้างขี้นลงไปในทะเลทำให้น้ำสกปรกและเกิดการเจริญเติบโตของไซยาโนแบคทีเรียปกคลุมปะการังที่ฟอกขาวจนปะการังไม่สามารถฟื้นคืนได้เช่นเดียวกับในประเทศไทยเวลานี้ อย่างไรก็ตามภายหลังออสเตรเลีย จึงตระหนักว่าการท่องเที่ยวส่งผลกระทบต่อแหล่งปะการัง และหาแนวทางจัดการที่เหมาะสมต่อไปเช่นกัน

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตนขอใช้คำแรง ๆ ไปเลยว่า "กูเตือนแล้ว" เพราะทั้งเขียนบทความ ให้ข่าวและบอกเล่าทุกทางให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตั้งแต่เพิ่งเริ่มเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวใหม่ ๆ ว่า เรื่องนี้จะสร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการท่องเที่ยว แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครสนใจมาก ยังกระหน่ำเที่ยว และเที่ยวแบบไม่ทนุถนอมปะการังเลย ทั้งรู้เท่าถึงการณ์ และไม่รู้เท่าถึงการ เหมือนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เอาปะการังขึ้นมาโยนเล่นที่บริเวณเกาะเฮ จ.ภูเก็ต ที่สื่อมวลชนหลายแขนงเห็นมากับตาตัวเอง

"การที่กรมอุทยานแห่งชาติฯสั่งปิดพื้นที่ดำน้ำบางจุดใน 7 อุทยานฯ ทางทะเลนั้น เป็นข้อเสนอของผมเอง ทำแบบนุ่มนวลที่สุดแล้ว คือกระทบกับทุกฝ่ายให้น้อยที่สุด ใน 7 อุทยานฯที่สั่งปิดพื้นที่ดำน้ำชั่วคราวนั้น ถือว่าเสี่ยงสุด ๆ ต่อการไม่ฟื้นกลับมาเลยของปะการัง หากยังดันทุรังปล่อยให้เข้าไปดำน้ำต่อ เพราะเราไม่รู้ว่าคนดำน้ำแต่ละคนเข้าใจเรื่องการรักษาปะการังมากน้อยแค่ไหน แต่ความจริงแล้วเรื่องการปิดจุดน้ำดำน้ำนั้นเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น สำคัญกว่านั้นของการฟื้นฟูปะการังฟอกขาวคือ เรื่องของน้ำเสียที่ปล่อยลงทะเล"นายธรณ์ กล่าว

นายธรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้นำเสนอเพิ่มเติมไปต่ออธิบดีกรมอุทยานฯ ว่า พื้นที่เกาะที่มีปัญหา โดยเฉพาะ หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ที่ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อความเสียหายแบบไม่กลับคืนมานั้นจะต้องห้ามนักท่องเที่ยวค้างคืน จนกว่าปะการังจะฟื้นตัว เหตุผลก็คือการที่ปะการังจะฟื้นตัวได้ต้องได้รับการรบกวนน้อยที่สุด แต่บนเกาะสุรินทร์มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายของนักท่องเที่ยว มีการปล่อยน้ำเสีย จากห้องน้ำ ห้องครัว ลงทะเลอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน โดยน้ำเสียดังกล่าวจะเป็นตัวรบกวนที่สำคัญที่สุดไม่ให้ปะการังฟื้นตัว และรบกวนมากกว่านักท่องเที่ยวลงไปดำน้ำเล่นเสียอีก ซึ่งเรื่องนี้อธิบดีกรมอุทยานฯ ก็ได้รับปากไปแล้ว

"ที่ผ่านมาตนและกลุ่มผู้หวังดีต่อปะการังหลายคนที่เห็นถึงปัญหานี้ ได้ร่วมกันทำโครงการสร้างทางเลือกแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ เพื่อกระจายนักดำน้ำไปยังจุดอื่น เป็นทางเลือกใหม่ กระจายความหนาแน่นจากพื้นที่เดิม โดยภายในเดือน มิ.ย.นี้ จะนำเอาเรือหลวงปราบ ของกองทัพเรือไปจมที่หมู่เกาะง่าม จ.ชุมพร และเอาเรือหลวงสัตกูด ไปจมที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี" นายธรณ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีหลายจุดที่ปะการังฟอกขาวเกิน 80% แต่ทำไมไม่เสนอให้กรมอุทยานฯ ปิดพื้นที่ดำน้ำ นายธรณ์ กล่าวว่า จ.ภูเก็ต มีอุทยานแห่งชาติที่เดียวคือ "หาดไนยาง" ซึ่งไม่มีปะการัง แต่พื้นที่อื่นที่มีปัญหานั้นเป็นที่ของเอกชน ปัญหาการเข้าไปทำลายปะการังในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จึงต้องให้ทางจังหวัดเข้าไปรับผิดชอบดูแลเอง.

ขอบคุณข่าวจาก .... http://www.dailynews.co.th/newstartp...ntentID=116796
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม