ชื่อกระทู้: แผ่นดินที่หายไป (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #30  
เก่า 16-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


สรุปบทเรียนจากปัญหาการกัดเซาะหาดทรายของไทย


ข้อสังเกตุเกี่ยวกับกฎหมายไทยที่ควรปรับปรุง

จากการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลควบคุมการใช้ประโยชน์ชายฝั่งของไทยนั้น พบว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงดังนี้

1) กฎเกณฑ์การควบคุมดูแลและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางน้ำของไทยเป็นกฎเกณฑ์กว้างเกินไป เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกันทุกพื้นที่ทั้งประเทศ และทุกประเภทของทรัพยากร (เช่น แม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเล หรือชายหาด) ซึ่งหากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าทรัพยากรมีความแตกต่างกันทั้งพื้นที่ และประเภทของทรัพยากร เช่น กายภาพของทะเล และแม่น้ำจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก กฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดขึ้นใช้อาจเหมาะสมสำหรับแม่น้ำแต่อาจจะไม่หมาะสมสำหรับทะเล

2) การไม่มีมาตราการทางกฎหมายการจัดการ การสงวน การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน ในส่วนของปากแม่น้ำ สันทราย ซึ่งเป็นรอยต่อทางธรรมชาติระหว่างแม่น้ำและทะเล ระหว่างทะเลและแผ่นดินที่มีความสำคัญมาก และไม่มีการกำหนดแนวถอยร่นในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีแต่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเท่านั้นที่เข้มงวด

3) การอนุญาตสิ่งปลูกสร้างที่มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมอย่างเป็นวิชาการประกอบการพิจารณา เช่น จาก พรบ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ข้อ 5. ที่กำหนดว่า อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ ให้ผ่านการอนุญาตโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี จากนั้นให้ประกาศลักษณะของอาคารหรือลักษณะของการล่วงล้ำลำแม่น้ำนั้นในราชกิจจานุเบกษาและให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการอนุญาตต่อไปได้ โดยมิได้ระบุถึงมาตราการการส่งเสริมการใช้กระบวนการทางวิชาการประกอบการตัดสินใจ

4) ความไม่เหมาะสมของข้อกำหนดในบางกรณี เช่น โครงสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างล่วงล้ำเข้าชายฝั่งได้บางประเภทที่ระบุใน พรบ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ข้อ 4 เป็นโครงสร้างที่กระตุ้นการกัดเซาะชายฝั่ง กรณีตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน ข้อ 4 (5) ที่ว่า “การสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะ ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง” จากการทบทวนเอกสารพบว่า โครงสร้างแข็งจะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่แทรกแซงระบบธรรมชาติ และเป็นสาเหตุหลักของการกัดเซาะ ชึ่งพบได้ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของไทย ในทางวิชาการนั้น การป้องกันน้ำเซาะมีวิธีการหลากหลายวิธี วิธีการสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะด้วยโครงสร้างแข็งแรง เป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลกระทบบริเวณข้างเคียงรุนแรงต่อเนื่องยากที่จะสิ้นสุดและจะยิ่งรุนแรงขึ้นมากในกรณีของชายฝั่งทะเล

อีกกรณีตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน ข้อ 4 (7) ที่ว่า “โรงที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำต้องอยู่บนฝั่งหรืออยู่ใกล้ฝั่งมากที่สุด” จากข้อกำหนดนี้ โรงติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่สร้างขึ้นจะเป็นโครงสร้างที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะรุนแรงได้ เพราะการอยู่ใกล้ฝั่งมากก็จะล่วงล้ำแนวถอยร่นของชายหาดและเกิดปัญหาการกัดเซาะตามมา ดังปัญหาที่เกิดขึ้นที่ ตำบลเก้าเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่มีโรงสูบน้ำเสียตั้งอยู่ชายฝังบนหาดเก้าเส้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาการกัดเซาะที่หาดเก้าเส้งอย่างรุนแรงเนื่องจากโรงสูบน้ำเสีย เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ลุกล้ำแนวถอยร่น จึงแทรกแซงระบบของธรรมชาติ

5) การกำหนดโทษปรับต่ำมากเกินไป เช่น โทษปรับห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท กรณีการกระทำใดๆ ที่เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ทางเดินเรือ โทษปรับดังกล่าวจะไม่มีผลยับยั้งการสร้างปัญหา โทษปรับควรจะครอบคลุมถึงการสูญเสียดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมด้วย





จุดอ่อนในการบริหารจัดการอนุรักษ์หาดทรายของไทย

ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยมีความเสียหายรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1) การมองข้ามองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับระบบนิเวศหาดทรายและชายฝั่ง อาจเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญ ทำให้การใช้ประโยชน์และการแก้ปัญหาการกัดเซาะที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความไม่เข้าใจไม่สอดคล้องกับระบบทางธรรมชาติของชายฝั่ง ทำให้กิจกรรมต่างๆของมนุษย์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพังทลายของหาดทราย

2) กฎหมายที่มีอยู่ไม่เป็นปัจจุบัน กฎหมายที่มีอยู่ให้อำนาจในการก่อสร้างที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 โดยมีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้มีการก่อสร้างที่เป็นการแทรกแซงระบบทางธรรมชาติของชายหาดมาตลอด ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังและมีอำนาจหน้าที่ในการดูแล ฟื้นฟู ซึ่งพบว่าแผนงานส่วนใหญ่ยังคงใช้แนวคิดการใช้สิ่งก่อสร้างเข้าแก้ปัญหาการกัดเซาะเช่นเดียวกับกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี

3) กฎหมายในการอนุรักษ์ชายหาดและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งยังไม่ครอบคลุมชัดเจน กฎหมายที่มีอยู่กว้างเกินไป มีความไม่เหมาะสมในบางกฎเกณฑ์ และการไม่มีการกำหนดแนวถอยร่นอย่างชัดเจนในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นวิชาการและ เป็นปัจจุบันเพียงพอ ตลอดจนการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เช่นทำให้มีการลักลอบดูดทรายเกิดขึ้นเสมอ

4) ขาดผู้รับผิดชอบโดยตรงในการบังคับใช้กฎหมาย และยังมีความเห็นไม่ตรงกันในแนวคิดการสงวน อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชายหาดและชายฝั่งของประเทศ

5) การไม่มีวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การไม่ประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้มีการทำงานทั้งส่วนที่ซ้ำซ้อนกันและส่วนที่ขัดแย้งกัน

6) การมองข้ามความสำคัญในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างชัดเจน ทำให้มีการใช้ประโยชน์ไปอย่างไร้ทิศทาง และทำให้เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ศักยภาพของหาดทรายในอนาคต เช่น กรมเจ้าท่า (หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบดูแลชายฝั่งในอดีต ได้ใช้ประโยชน์ชายฝั่งไปในด้านการขนส่งทางน้ำเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงศักยภาพหรือคุณค่าชายหาดในด้านอื่นๆ เช่น การเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตสัตว์นานาชนิดและคุณค่าด้านนันทนาการ ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาส่งผลให้เสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรชายฝั่งในด้านอื่นๆ

7) การไม่มีกระบวนการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกระดับ


ภัยคุกคามต่อหาดทรายธรรมชาติของไทย

1) สังคมขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในระบบนิเวศของหาดทรายตามธรรมชาติ ข่าวสารที่ระบุสาเหตุปัญหาการกัดเซาะหาดทรายที่ไม่ถูกต้อง ได้รับการเผยแพร่ต่อสารธารณะอยู่เสมออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั่วไปและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดทาง ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการกัดเซาะหาดทรายเกิดจากคลื่น ซึ่งความเป็นจริงแล้วทรายจะเคลื่อนที่มาและเคลื่อนไปตามธรรมชาติโดยคลื่น การเคลื่อนที่ไปอาจจะมากในฤดูมรสุมและคลื่นจะช่วยซ่อมแซมในช่วงคลื่นลมสงบ ที่ชาวบ้านเรียกว่าคลื่นแต่งหาด

2) ไม่มีการควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายทะเลอย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดแนวการใช้ประโยชน์ที่ไม่รุกล้ำระบบธรรมชาติ ประกอบกับการมองข้ามองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายทะเลทั้งของโครงการของรัฐบาลและประชาชน แทรกแซงระบบของธรรมชาติทั้งโดยเจตนาและการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัญหาการกัดเซาะจึงรุกลามไปเป็นลูกโซ่ในทุกวันนี้

3) ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง เช่น การกัดเซาะชายฝั่งมักจะสร้างความกังวลให้กับชุมชนชายฝั่ง ดังนั้นเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักใช้งบประมาณไปกับการใช้โครงสร้างแข็งเพื่อแก้ปัญหา โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะใช้กระบวนการทำความเข้าใจอย่างเป็นวิชาการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแทรกแซงธรรมชาติโดยไม่จำเป็น และเกิดการกัดเซาะหาดทรายในพื้นที่ถัดไปโดยไม่ทราบจุดสิ้นสุด เป็นการเลือกวิธีแก้ที่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ในพื้นที่ข้างเคียง

4) การแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงทำให้เกิดช่องทางแสวงหาประโยชน์ของคนบางกลุ่มจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนการใช้โอกาสในฤดูมรสุมลมแรงและการอ้างกระแสข่าวภาวะโลกร้อนในการเสนอโครงการก่อสร้างป้องกันชายฝั่ง โดยขาดการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มสิ่งแปลกปลอมแทรกแซงระบบธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างไม่สิ้นสุด

ที่มา www.bwn.psu.ac.th





จาก ....................... http://beachconservation.wordpress.com
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม