ชื่อกระทู้: แผ่นดินที่หายไป (3)
ดูแบบคำตอบเดียว
  #36  
เก่า 23-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,216
Default


คนเฝ้าแผ่นดินที่โคกขาม .... (ต่อ)


ไม้ไผ่ชะลอคลื่นของบ้านโคกขามเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550 และทำแนวขยายไปแล้ว กว่า 3 กิโลเมตร ทุกวันนี้ชุมชนมีกิจกรรมเพิ่มในเรื่องของการปลูกป่าชายเลน และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ตัวเลขที่วัดผลได้อาจจะไม่มาก แต่เป็นตัวเลขที่เป็นกำลังใจและ เป็นความหวังในอนาคตของคนท้องถิ่น ที่จะได้เห็นการสะสมของตะกอนดินหลังแนวไม้ไผ่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.50 เมตร ขณะเดียวกันก็ยังมีปลาโลมาอิรวดี แม้แต่ปลาวาฬบลูด้า แวะกลับมาเยี่ยมเยียนให้เห็นในช่วงฤดูหนาวหรือตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีอีกด้วย

พื้นที่คุ้มครอง 5 กิโลเมตรจากชายฝั่งบริเวณโคกขาม คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10.45 ตารางกิโลเมตร อาจจะยังตัดสินได้ไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับพื้นที่ได้ไหม แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่หมูมั่นใจคือ การเริ่มต้นแก้ปัญหาในพื้นที่ตรงนี้เป็นการสร้างจิตสำนึกในระยะยาวให้กับคนในชุมชนได้ เพียงแต่เริ่มต้น กลุ่มผู้ดำเนินงานต้องใช้ความอดทนสูงต่อเสียงที่ไม่เข้าใจของชาวบ้านบางกลุ่ม

“แรกๆชาวบ้านก็ด่า ทำไมเคยใช้อวนรุนได้แต่ห้ามเข้ามาลาก พวกเราก็ได้แต่บอกว่าไม่เป็นไรอดทนไว้ สักวันเขาจะเข้าใจ พอทรัพยากรเริ่มฟื้นฟู เขาก็ได้เห็นด้วยตัวเอง ลูกหอยแครงเกิดเต็มพื้นที่ เมื่อปี 2552 ชาวบ้านเก็บหอยได้ทั้งปี”

เทียบกับช่วงก่อนที่ทำโครงการแนวไม้ไผ่ ชาวบ้านหาหอยแครงขายได้ไม่เกินวันละ 200 บาท แต่ตอนนี้แค่ 2-3 ชั่วโมงก็ได้ถึง 700-800 บาท ช่วงที่หาดโคลนสมบูรณ์มากๆ บางครอบครัวสามารถทำรายได้จากการหาหอยแครงถึง 3,500-4,000 บาทเลยทีเดียว

แค่ 2 ปี ธรรมชาติก็ฟื้นตัวเองได้แล้ว ผู้ใหญ่หมูได้แต่หวังว่า บทเรียนนี้จะทำให้ชาวประมงเข้าใจกลไกที่ตัวเองกระทำกับธรรมชาติ เช่น รู้ว่าใบพัดที่ขับเคลื่อนเรือเมื่อไปปั่นหน้าเลนจะทำให้แก๊สกระจายไปทั่ว สัตว์น้ำก็อยู่ไม่ได้ และเครื่องมือประมงบางชนิดก็ทำลายสัตว์น้ำมากเกิน เมื่อทุกคนเข้าใจก็เริ่มรู้จักรักษาสิ่งที่ได้กลับมา อีกทั้งยังทำให้พวกเขาประกอบอาชีพได้มากกว่าเดิม เพราะเมื่อมีแนวกั้นคลื่นชายฝั่งมีดินเลนสะสม แผ่นดินที่ยังเหลือก็ไม่เสี่ยงต่อการสูญหาย ชาวบ้านก็เริ่มทำกระชังปูในลำคลอง เพื่อใช้กระชังเป็นที่พักปูไข่นอกกระดอง

“ปูไข่นอกกระดองมันวางใจอุ้มลูกมาฝากเลี้ยงไว้ตรงนี้ ถ้าคนไปจับ มันจะขยายพันธุ์อย่างไร ดังนั้นถ้าทุกคนเคารพกฎเกณฑ์ธรรมชาติก็จะดีและสัตว์น้ำก็จะมีมากขึ้น”

ตัวอย่างจากปูชายฝั่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อชาวบ้านเริ่มเข้าใจ ก็จะมีผลต่อธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพราะพวกเขาสามารถขยายขอบเขตความเข้าใจจากพื้นที่ชายฝั่งออกไปจากการตามติดชีวิตปูทะเลอีกด้วย เมื่อปูเดินทางออกทะเล จากเดิมพวกมันต้องฝ่าด่านโพงพางที่มีอยู่เต็มไปหมดในคลอง ถ้าโชคดีหลุดไปได้ก็ยังต้องเจอกับอวนลอย อวนรุน เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับความยากลำบากที่มนุษย์ต้องเจอ ซึ่งทำให้พวกเขาเริ่มเข้าใจวิถีชีวิตสัตว์น้ำชายฝั่งเหล่านี้มากขึ้น

ดังนั้น เมื่อมนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมองคิดได้ จึงควรจะเป็นผู้ “หยุด” เสียก่อน

“เราต้องหยุดก่อน แค่เราหยุดมาไม่กี่ปี ผลลัพธ์ที่โคกขามได้ทุกวันนี้ เรามีดินพอ ที่จะปลูกป่าชายเลนหลังจากมันเคยหายจากฝั่งไปเป็นกิโล เราลดแรงคลื่น ลดการกัดเซาะ เราจับได้ถึง 3 หอย หน้าแล้งเก็บหอยแครง หน้าหนาวเก็บหอยแมลงภู่ และเก็บหอยดินในหน้าฝน แค่นี้ชาวบ้านก็มีรายได้ ถือว่าคุ้ม แม้ว่าเขาจะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ถึง 3-4 ปี”

คนโคกขามดูเหมือนจะไม่หวงทรัพยากรที่พวกเขาทำให้กลับคืนมายังท้องถิ่นได้ เพราะหากคนถิ่นอื่นจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ก็ทำได้ เพียงแต่พวกเขาต้องเคารพกติกาเดียวกัน นั่นคือต้องจับด้วยมือ

หากจะย้อนไปก่อนหน้าที่บ้านโคกขามจะจัดการชายฝั่งและทรัพยากรได้เข้ารูปเข้ารอย ทั้งป่าชายเลนและแผ่นดินก็หายไปมากแล้ว พวกเขาไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้คืออะไร แต่เท่าที่เห็นด้วยตาในพื้นที่และคิดง่ายๆ ก็คือน้ำทะเลเซาะเอาแผ่นดินไป โดยที่ลืมคิดไปว่าแล้วตะกอนที่มาตกเป็นดินเลนสะสมนั้นเดิมมันมาจากไหน

“ช่วงแรกเขาบอกว่าตะกอนถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนต่างๆที่อยู่ตอนต้นน้ำ ทำให้ไม่มีตะกอนดินมาสะสมที่ชายฝั่งเหมือนในอดีต ชายฝั่งก็เลยไม่มีตะกอนมาเสริมเพิ่มเติม อันนี้เป็นข้อมูลของนักวิชาการซึ่งเราไม่รู้”

เรียกว่าคนในพื้นที่รับรู้สาเหตุที่เกิดปัญหาแต่เพียงด้านเดียว นั่นคือคลื่นลมกัดเซาะ ยิ่งพอช่วงที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำฮิต มีการทำประตูปิดกั้นน้ำที่บ่อกุ้ง การตัดไม้ป่าชายเลนเพื่อทำบ่อกุ้งก็ยิ่งถูกรุกหนัก มีการดึงน้ำทะเลเข้ามาในบ่อกุ้ง ช่วงเปิดน้ำเข้าก็เอาตะกอนจากชายฝั่งเข้ามาด้วย แต่พอบ่อกุ้ง ตื้นเขิน เจ้าของบ่อก็หาประโยชน์แม้แต่กับ ตะกอนก้นบ่อ โดยขุดดินขายเพื่อให้บ่อกุ้งลึกขึ้น จึงเหมือนกับขุดตะกอนจากชายฝั่งไปถมที่อื่น แถมทุกวันนี้ถนนแถวชายฝั่งทะเลก็ยังคงมีรถบรรทุกดินให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ตะกอนเก่าก็เดินผิดที่ผิดทางไปแล้ว แผ่นดินก็ร่นเข้ามา ตะกอนที่พอมีก็ยังถูกขน ออกไปนอกพื้นที่อีก ทั้งหมดล้วนเป็นการทำงานบนความโลภของมนุษย์ที่ไม่มีใครห้ามไหว เพราะที่ดินมีผู้ครอบครองเป็นผู้ครอบครองที่มีอำนาจจะจัดการอย่างไรกับพื้นที่ตัวเองก็ได้

“เราทำงานกับความโลภของมนุษย์ ขณะที่คนหากินชายฝั่งหรือชุมชนชายฝั่งรับฟังพวกเรา แต่กลุ่มคนทำอาชีพเพาะเลี้ยงชายฝั่งกลับแค่เข้ามาใช้ประโยชน์และ มักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยฟัง เพราะไม่เดือดร้อนจากฐานทรัพยากรที่เสียหาย เราก็ต้องอาศัยคนในพื้นที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปกป้อง”

วิธีง่ายๆ ถ้าผู้ใหญ่หมูและชุมชนจะทำให้คนนอกพื้นที่ชายฝั่งรู้สึกตระหนักกับปัญหาการเสียแผ่นดินก็ทำได้ เพียงแค่พวกเขาไม่เข้าไปป้องกันแล้วปล่อยให้วันหนึ่งการกัดเซาะลามจากชายฝั่งร่นเข้าไปถึงถนน เขาเชื่อว่าระยะแค่หนึ่งกิโลเมตรก็ใช้เวลาแค่แป๊บเดียว แต่พวกเขาก็เลือกที่จะปกป้องและเสริมสร้างพื้นดินเพื่อคนส่วนรวมและเพื่ออนาคตชุมชน แม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มเมินเฉยต่อปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ตาม

“ก่อนไม้ไผ่จะพังเราได้ดินตะกอนพอปลูกป่าได้ เมื่อไรได้ตะกอนเลนต้องรีบปลูกป่า มีเสียงสะท้อนว่าไม้ไผ่มันไม่ถาวร มันผุ ผมก็บอกว่าผมไม่ต้องการความถาวร ในป่า ไม่ต้องการอะไรที่ถาวร ผมต้องการให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่ผมต้องการมากๆ คือ เมื่อไรคนชายฝั่งจะมีจิตสำนึกในการรักษาป่า มันเป็นกุศโลบายว่าถ้าคุณไม่ทำ คุณไม่ต่อสู้ คุณก็อยู่กับไม้ไผ่ต่อไป”

กว่าชาวบ้านจะคิดได้ว่าจะจัดการกับธรรมชาติที่มาเอาแผ่นดินไปอย่างไร อุปสรรคที่พบอีกประการคือต้องทำให้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหายอมรับวิธีการนี้ด้วย เพราะถึงพวกเขาจะอยู่กับชายฝั่ง แต่ชายฝั่งก็เป็นสิทธิ์ของคนไทยทุกคนเช่นกัน

ช่วงก่อนที่โครงการแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นจะเริ่มขึ้น ผู้ใหญ่หมูต้องเดินสายเสวนากับนักวิชาการ เหตุการณ์หนึ่งในปี 2549 คือตัวอย่างที่ชาวบ้านอย่างเขาต้องเจออยู่เสมอ ครั้งนั้นเขาขอเวลาเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มนัก วิชาการ แต่เขาได้สิทธิ์แค่ 3 นาที และไม่มีใครยอมรับหรือตั้งคำถามกับเขา

“เขาถามแต่พวกอาจารย์” เหตุการณ์ที่ผู้ใหญ่หมูจำได้แม่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาท้อ แต่กลับมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำให้สิ่งที่ไม่มีทฤษฎีหรือตำราไหนเขียนระบุไว้ก่อนหน้านั้นว่า ลำไม้ไผ่สามารถทำให้พลังงานเปลี่ยนทางได้ มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้และเป็นที่ยอมรับ

ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ผู้ใหญ่หมูเก็บเทคนิคที่นักวิชาการใช้ในการนำเสนอผลงาน กลับมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของตัวเอง เขาเก็บข้อมูล ทำแผนผัง ทำเอกสาร นำเสนอ มีภาพเปรียบเทียบให้ดูก่อนและหลังปักไม้ไผ่ว่าผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชุมชนเริ่มปลูกป่าได้อย่างไร

ข้อมูลที่นำเสนอแบบนักวิชาการโดยฝีมือชาวบ้านธรรมดาสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงสนทนาทันที

“พวกเขาก็ถึงบางอ้อกัน เริ่มมีนักวิชาการเข้ามา ถึงผมจะทำเป็นเอกสารแต่ก็ขาด ข้อมูลด้านวิชาการ เลยขอให้กรมทรัพยากรฯ เชิญนักวิชาการจากจุฬาฯ มาเก็บข้อมูลหลังไม้ไผ่ ได้อาจารย์สมภพ รุ่งสุภา ซึ่งหลังจากเก็บข้อมูลท่านบอกว่าตะกอนสะสมเพิ่มขึ้นเร็วมาก พอเรารู้ก็คิดว่าจะทำอย่างไรต่อ”

แนวไม้ไผ่ถูกนำมาออกแบบใหม่ เพื่อให้ได้รูปแบบของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แล้วหลังจากนั้นทุกครั้งที่ผู้ใหญ่หมูนำเสนอผลงานเขาจะนำผลงานของนักวิชาการหรืออาจารย์สมภพร่วมนำเสนอด้วย

“เพื่อให้เห็นว่าเราก็มีวิชาการเหมือนกัน ที่เราทำงานไม่เก็บข้อมูลของเราก็เพราะเดี๋ยวมันจะเหมือนยอตัวเอง เลยต้องให้เป็นงานของคนกลางเข้ามาเก็บ ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นที่ยอมรับ”

แนวไม้ไผ่กันคลื่นกลายเป็นองค์ความรู้หนึ่งของบ้านโคกขามที่สร้างเป็นบทเรียนให้ กับเครือข่ายชุมชนอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก.ไก่ และหลายพื้นที่นำไปเป็นแบบอย่างปรับ ใช้ในพื้นที่ของตัวเองต่อๆไป มีทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ เพชรบุรี ฯลฯ ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่าย

เครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ราว 2-3 ปี พอๆ กับการเกิดขึ้นของการทำแนวไม้ไผ่ การเกิดเครือข่ายทำให้ทุกคนได้หันกลับไปถอดบทเรียนจากพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง การถอดบทเรียนทำให้ชุมชนเกิดคำถามและการค้นหาคำตอบว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร

“การค้นหาปัญหาและคำตอบทำให้ชุมชนรู้ลึกไปเรื่อยๆ ป่าหายไม่ใช่แค่คนตัดไม้ แต่ลึกกว่านั้นเขาต้องเข้าใจถึงทรัพยากรของเขาว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะฟื้นฟูอย่างไร”

สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องต่อจากโครงการแนวไม้ไผ่ที่ชุมชนต้องการ คือการสร้างแนว ป่าเพื่อป้องกันแผ่นดินเป็นแนวคิดของการย้อนสู่อดีต ที่คนในชุมชนเพิ่งเริ่มตระหนักได้ว่า สิ่งที่จะเป็นตัวดูดซับคลื่นได้ดีจริง คือแนวป่าชายเลนซึ่งเคยมีอยู่หนาทึบในพื้นที่ในอดีต

ดังนั้นเมื่อได้ดิน พวกเขาจึงรีบปลูกป่าซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเชื่อว่าป่าเท่านั้นที่จะรักษาพื้นดินได้ถาวรและยาวนานกว่าเสาไม้ไผ่หรือ เสาปูนซึ่งอยู่ได้เต็มที่ก็ไม่เกิน 5-20 ปี และมีเพียงเงื่อนไขเดียวที่จะให้มีป่าอยู่ได้ถาวรคือคน ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำป่ากลับมาและรักษาไว้

“ในระยะยาว เราคาดหวังว่าจะขยับพื้นที่ป่าออกไปเพื่อสร้างสมดุลในพื้นที่มาก ขึ้น แนวไม้ไผ่ที่เราทำกันน่าจะช่วยเพิ่มตะกอนขึ้นมาในระนาบของฝั่ง ไม่เกิน 10 องศาก็น่าจะป้องกันแผ่นดินได้แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าแผ่นดินที่ได้กลับมานี้ไม่ตายตัว เพราะชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามธรรมชาติด้วย ไม่ใช่เปลี่ยน เพราะฝีมือมนุษย์เพียงอย่างเดียว”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาทำอยู่ในพื้นที่ทุกวันนี้ เมื่อมองจากภาพใหญ่ระดับประเทศ ก็เป็นเพียงผลงานชิ้นจ้อย ที่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและยังไม่ใช่แนวทางแก้ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นผลงานที่ให้ผลหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาหวังว่า ดินตะกอนที่สะสมจะช่วยให้เขาสร้างผืนป่าชายเลนกลับมาอีกครั้งพร้อมๆกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล

แม้ทรัพยากรเหล่านี้จะไม่คงทนถาวรโดยธรรมชาติ แต่ถ้ามันจะเป็นสิ่งที่สร้างความถาวรด้านจิตสำนึกรักษาป่าและเข้าใจธรรมชาติ ผู้ใหญ่หมูก็จะถือว่าเป็นผลสำเร็จที่พวกเขาทำให้มนุษย์ได้กลับมาเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสันติกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้แล้ว



จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม