ดูแบบคำตอบเดียว
  #19  
เก่า 13-06-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


สมาร์ทโปรเจ็กต์ ปะการังฟื้นชายฝั่ง





ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้งในทะเลอ่าวไทยและอันดามันลุกลามและขยายวงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศชายฝั่ง จึงมีความพยายามปรับปรุงฟื้นฟูแถบชายฝั่งที่ถูกคลื่นกัดเซาะให้กลับมาคงสภาพเดิม

กรมทรัพยากรธรณีและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี มอบทุนสนับสนุน ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ไปศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ "การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเชิงบูรณาการ" หรือโครงการ "สมาร์ทโปรเจ็กต์" เพื่อช่วยลดวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งให้กลับคืนสภาพสมบูรณ์

คณะวิจัยกว่า 20 คน จึงเริ่มโครงการสมาร์ทโปรเจ็กต์ เฟส 1 ผ่านการทำ "ปะการังเทียมกันคลื่น" พร้อมทั้งก่อสร้างแบบรางจำลอง คลื่นขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี เพื่อเป็นห้องวิจัยทางทะเล หลังจากนั้นได้สร้างแบบปะการังเทียมขึ้นมา พร้อมศึกษาทางกายภาพ รูปแบบ รูปทรง ขนาด ช่องเปิดรอบแท่งปะการัง แนวและตำแหน่งการจัดวางแท่งปะการังเทียม

กระทั่งพัฒนาแท่งปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่งได้สำเร็จ สามารถต้านแรงคลื่นได้ดี มีลักษณะเป็นรูปโดม มี 3 ขนาด ประกอบด้วย ขนาดเล็กมีฐานกว้าง 1.8 เมตร สูง 1.3 เมตร, ขนาดกลาง ฐานกว้าง 1.8 เมตร สูง 1.5 เมตร และขนาดใหญ่ ฐานกว้าง 1.8 เมตร สูง 1.6 เมตร



แต่ละขนาดจะมีช่องเปิดลักษณะเดียวกัน ประกอบไปด้วย ช่องเปิดด้านบน 1 ช่อง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ช่องเปิดด้านข้าง จำนวน 3 แถว แถวละ 6 ช่อง โดยแถวบนช่องเปิดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร แถวกลางมีช่องเปิดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร และแถวล่างมีช่องเปิดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร

โดยช่องเปิดดังกล่าวช่วยการชะลอความแรงคลื่น ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อฟื้นฟูหาดทราย ให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และเป็นแหล่งดำน้ำในอนาคต

จากนั้นทางคณะวิจัยเลือกพื้นที่ชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาเรื้อรังมายาวนานเป็นพื้นที่นำร่อง ผลการศึกษาวิจัยพบว่า แนวปะการังเทียมสามารถสลายพลังงานคลื่นได้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์

ต่อมาจึงขยายผลโครงการสมาร์ทโปรเจ็กต์ เฟส 2 ไปยังพื้นที่ จ.ระยอง และจ.จันทบุรี เนื่องจากมีหลายพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง หลังผ่านการทดลองพบว่าปะการังเทียมสามารถช่วยลดพลังงานคลื่นได้สูงสุดถึง 88 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุดคณะวิจัยเตรียมทดลองสมาร์ทโปรเจ็กต์ เฟส 3 กับสภาพการใช้งานปะการังเทียมในทะเลจริง ที่ชายฝั่งทะเล บริเวณอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร จ.เพชรบุรี ในช่วงเดือนก.ค. เพื่อประเมินผลด้านวิศวกรรม ด้านระบบนิเวศ และด้านสังคม ต่อเนื่อง 12 เดือน หากประสบผลสำเร็จก็จะปรับปรุงเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย



ผศ.พยอม เปิดเผยว่า ทีมวิจัยโครงการปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่งศึกษาค้นคว้าข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทะเลชายฝั่งมานานกว่า 10 ปี พบว่าประเทศไทยกำลังประสบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายหาดอย่างต่อเนื่อง และตามแนวชายฝั่งส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรชายฝั่งอีกด้วย

เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ จึงนำผลการสำรวจและข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่ของไทยมาศึกษาวิเคราะห์ จึงพบว่าชายฝั่งที่มีโขดหินหรือแนวปะการังอยู่ด้านนอก มักไม่มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทำให้หาดทรายมีเสถียรภาพค่อนข้างดี เนื่องจากแนวปะการังจะทำหน้าที่เป็นแนวสลายพลังงานคลื่น เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติที่แข็งแรงปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเกื้อกูลต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างดี

"แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมายังเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ยังขาดการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆในการแก้ปัญหา โดยส่วนใหญ่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาแก้ปัญหา ทำให้การแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลในบ้านเราไม่บรรลุผลเท่าที่ควร เนื่องจากประเทศไทยมีปัจจัยหลายประการที่แตกต่างกับต่างประเทศ เช่น สัณฐานชายฝั่ง สภาพคลื่นลม น้ำขึ้น น้ำลง กระแสน้ำ ตะกอน ระบบนิเวศทางทะเล รวมทั้งวิถีชีวิต ปัญหาจึงถูกแก้ไม่ถูกวิธี"

อาจารย์พยอมระบุว่า ในอนาคตการใช้แนวปะการังเทียมฟื้นฟูชายฝั่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการนำไปแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดในบางพื้นที่ของประเทศไทย โดยแนวปะการังเทียมเหล่านี้จะทำหน้าที่สลายและลดพลังงานคลื่น ปรับเปลี่ยนลักษณะของคลื่นที่เคลื่อนที่เข้าสู่ชายหาดให้เบาลง ในขณะเดียวกันที่การเคลื่อนย้ายเม็ดทรายขึ้นมาบนชายหาดจะมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับคลื่นลม

ดังนั้น เราศึกษาถึงรูปแบบ รูปร่าง รูปทรง และขนาดแท่งปะการังเทียม รวมถึงช่องเปิดโดยรอบแท่งปะการังเทียม เพื่อให้เป็นช่องทางเข้าออกของน้ำทะเลและสัตว์ทะเล เพื่อให้แนวปะการังเทียมสามารถเป็นที่ยึดเกาะ อยู่อาศัย หลบภัย และอนุบาลสัตว์ทะเลได้

หากการศึกษาวิจัยสัมฤทธิผลจะช่วยลดวิกฤตการกัดเซาะชายฝั่งได้ ในแง่ของการวิจัยอาจจะใช้เวลาหลายปี แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมหาศาล



จาก : ข่าวสด วันที่ 13 เมิถุนายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม