ดูแบบคำตอบเดียว
  #31  
เก่า 12-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,106
Default


น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้! ภัยจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์




จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.จนถึง 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว พบว่าอุทกภัยระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ทำให้หลายพื้นที่ใน 10 จังหวัดได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร พังงา นราธิวาส สตูล สงขลา และ กระบี่ มีประชาชนเดือดร้อน 6 แสนกว่าครัวเรือน หรือ 2 ล้านกว่าคน เสียชีวิตประมาณ 60 ราย

สาเหตุของพายุฝน-อุทกภัยร้ายแรงในภาคใต้หนนี้ นักวิชาการชี้ว่า นอกจากปรากฏ การณ์ 'ลานิญ่า-โลกร้อน' จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว การกระทำของมนุษย์เองก็มีส่วนทำให้ภัยน้ำท่วม-น้ำป่า-ดินถล่มภาคใต้รุนแรงกว่าปกติด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าธรรมชาติ สร้างสิ่งกีด ขวางทางน้ำ ตัดถนน หรือใช้พื้นที่ผิด ประเภท!

นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนว่า สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ "เอลนิโญ่" เมื่อปลายปีพ.ศ.2552 ถึงต้นปีพ.ศ.2553 ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างหนักในขณะนั้น

ต่อมาเดือนก.ค.2553 ก็เริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์ "ลานิญ่า" ในระยะแรกยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก จนเมื่อเข้าสู่เดือนต.ค.เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมในภาคกลาง และภาคอีสาน

เมื่อเข้าสู่เดือนพ.ย.-ธ.ค.2553 ปรากฏการณ์ลานิญ่าทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคใต้ และส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ภาคกลางหนาวเย็น ซึ่งการคาดการณ์ด้วยโมเดลพยากรณ์อากาศก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์ลานิญ่า จะหมดลงในเดือนมี.ค.2554 แต่จากโมเดลล่าสุด ลานิญ่ามีผลต่อสภาพอากาศของประเทศไทยไปอีก 2 เดือน คือสิ้นสุดเดือนพ.ค.2554 หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลตามปกติ

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สภาพอากาศแปรปรวนเป็นผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นนั้น คิดว่าไม่เกี่ยวกัน เป็นเพียงการคาดการณ์ของแต่ละบุคคลมากกว่า



น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้! ภัยจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์



อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไปภัยพิบัติจะอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น การเตรียมการแจ้งข้อมูลข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ขอให้ประชาชนติดตามคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร กล่าวว่า

จากการติดตามข่าวพบว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุเป็น 2 กระแส

กระแสหนึ่งบอกว่าเกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนพัดเข้าสู่ประเทศไทย เหมือนมรสุมทั่วไป ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก

อีกกระแสบอกว่าเป็นผลกระทบจากสึนามิในญี่ปุ่น ทำให้กระแสน้ำอุ่นเปลี่ยนทิศ

แต่ถ้าดูข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาและคำบอกเล่าของคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่า อากาศไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ที่ผ่านมาในช่วงเม.ย.-พ.ค.จะพบเพียงพายุฤดูร้อนในแถบ จ.เชียงราย แต่ขณะนี้กลับมาเกิดที่ภาคใต้

ทั้งหมดนี้น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศของโลก (โลกร้อน) ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร

อย่างไรก็ตาม "สิ่งกีดขวางทางน้ำ" เช่น ถนน สะพาน ก็ทำให้สถานการณ์ในบางพื้นที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

บางแห่งเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ลงทุน "ยกถนน" ให้สูงขึ้น แต่ไม่สนใจขยายความกว้างของสะพาน เพราะต้องการประหยัดงบฯ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทั้งๆที่ถ้าคำนวณปริมาณน้ำในภาคใต้ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ น้ำน่าจะลดได้เองใน 1-2 วัน

แทนที่จะทุ่มงบฯ กับการยกระดับถนน น่าจะลงทุน "ขยายสะพาน" จะดีกว่า

ส่วนที่บางคนตกใจว่า ทำไมน้ำถึงท่วมสนามบิน ถ้าสังเกตจะเห็นว่า "สนามบินนครศรีธรรมราช" เป็น "หนองน้ำ" มาก่อน และบริเวณโดยรอบก็เป็นป่าเสม็ด รวมไปถึงบริเวณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็เป็นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสงวนไว้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร

ส่วนกรณีศึกษาเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทั้งน้ำท่วม น้ำป่า และดินถล่ม ในพื้นที่ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.จนถึงช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมานั้น พล.ต.ดร.นพรัตน์ เศรษฐกุล อาจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญปฐพีธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายเจาะลึกถึงสาเหตุว่า

พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเหมือนอยู่ในกระทะ โดยมีภูเขาล้อมรอบอยู่

ภูเขาเหล่านั้นเป็นหินแกรนิตและหินดินดานที่ผุแล้ว เนื่องจากพื้นที่ทางใต้จะมีฝนตกอยู่ตลอดเวลา และในบริเวณเทือกเขาหลวงมีความลาดชันสูง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดฝนตกติดต่อกันและค่อนข้างหนัก ทำให้หินที่ผุพังที่อยู่ตามยอดเขาไม่สามารถที่จะอุ้มน้ำไว้ได้

จากนั้นเมื่อมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก จึงค่อยๆกัดเซาะเศษหินที่ผุพังที่อยู่ข้างบนยอดเขาลงมาก่อน จนเกิดการรวมตัวของน้ำ เศษหิน เศษดิน และต้นไม้ต่างๆ จากยอดภูเขาที่ได้ล้อมรอบพื้นที่นั้นไหลรวมกัน จนทำให้กระแสน้ำไหลทะลักเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ ต.กรุงชิง อย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ปัจจัยอีกประการที่ทำให้น้ำท่วมหนักใน อ.นบพิตำ พล.ต.ดร. นพรัตน์ ชี้ว่า

ปัจจุบันต้นไม้ป่าธรรมชาติค่อนข้างจะเหลือน้อย เพราะส่วนใหญ่คนที่อยู่บริเวณนั้นจะโค่นป่าเพื่อเอาพื้นที่ไปใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพารา และยังมีการใช้พื้นที่ในลำน้ำ ถมทางน้ำบ้าง ด้านข้างก็มีถนนยกระดับสูงขึ้นมา

ตามปกติแทนที่น้ำจะไหลตามธรรมชาติของมัน แต่การที่มีคนเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวก็ทำให้การไหลของน้ำเผชิญกับอุปสรรคกีดขวาง เกิดดินถล่ม ส่งผลให้หลายหมู่บ้านในพื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติ ทำให้สะพานขาด ชาวบ้านถูกตัดขาดจากพื้นที่รอบนอก

สําหรับแนวทางแก้ปัญหา พล.ต.ดร.นพรัตน์ ระบุว่า ปัญหาจากภัยธรรมชาติ เราไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า

แม้ตอนนี้จะมีหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องนำ "กระบอกตวงน้ำฝน" มาวัดไว้ว่า ถ้าหากปริมาณน้ำฝนมีมากกว่า 100 มิลลิเมตรภายใน 3 วัน จะต้องรายงานให้ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติทราบ

แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ วิธีที่จะช่วยได้ดี คือ เราต้องชี้แนะให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านตามยอดเขา หรือหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณจุดเสี่ยง ให้ทราบว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น มีวิธีการป้องกันอย่างไร ด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพาชาวบ้านขึ้นไปสำรวจบนเขาว่า หินที่อยู่บนยอดเขาต่างๆ นั้นผุพังในระดับใดแล้ว เสี่ยงอันตรายหรือไม่

รวมทั้งให้ศึกษาถึงความลาดชันของภูเขา หรือการเก็บตัวอย่างของหินและดินด้วยการทดสอบว่าปริมาณน้ำเท่าใด ที่จะทำให้เกิดการไหลของดินและหินเหล่านั้น โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้เตือนตัวเองจะดีกว่าที่ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องคอยเป็นผู้เตือนภัยให้ชาวบ้านทราบ บางทีอาจจะสายเกินกว่าที่ชาวบ้านจะรับมือได้

"ทุกคนต้องตระหนักแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงผันผวนของภูมิอากาศโลกเป็นสัญญาณเตือนที่จะต้องปรับตัวพร้อมรับกับสถานการณ์ กรณีที่เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในขณะนี้ ได้เข้าไปหาชุมชนพบว่ายังไม่มีความรู้พื้นฐานลักษณะทางธรณีที่ชุมชนอาศัยอยู่เลย ยังยึดอยู่กับปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก เพียงแค่รู้ว่าเมื่อฝนตกมากต้องอพยพ ชุมชนควรรู้ในเรื่องธรณีวิทยาของพื้นที่ด้วย" พล.ต.ดร.นพรัตน์ กล่าว


"ลานิญ่า" เป็นคำดั้งเดิมจากภาษาสเปน มีความหมายว่า "เด็กผู้หญิง" จัดเป็นปรากฏการณ์ตรงกันข้ามกับ "เอลนิโญ่" เกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อเกิดลานิญ่า อุณหภูมิบนผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกจะต่ำลงอย่างผิดปกติราว 3-5 องศาเซลเซียส ทำให้ความดันฝั่งตะวันตกต่ำกว่าความดันฝั่งตะวันออก เกิดลมพายุพัดเสริมลมสินค้าทิศตะวันออกพัดพาน้ำและอากาศที่หนาวเย็นไปยังทิศตะวันตก

ด้วยระดับน้ำทะเลซีกตะวันตกที่เพิ่มสูงกว่าสภาวะปกติ ประกอบกับลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่หอบน้ำฝนพัดผ่านมา ทำให้ "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย ต้องเผชิญกับฝนตกหนัก น้ำท่วม และหน้าดินพังทลายอยู่บ่อยครั้ง

แต่ข้อดีของลานิญ่า คือ น้ำเย็นใต้มหาสมุทรจะยกตัวขึ้นแทนที่กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวน้ำ ทำให้เกิดธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ฝูงปลาชุกชุม




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 12 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม